วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กสทช. เครียร์ เอ็มโอยูช้า รอทหารตรวจสอบ



กสทช.รับผิดเหตุขั้นตอนการทำบันทึกการตกลงลงล่าช้า เผยนโยบายแต่ละพื้นที่ต่างกัน ผบ.มทบ.ต้องการพบผู้ประกอบการทุกคนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกอากาศ ขณะเดียวกันเป็นเรื่องดีที่ทหารเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาบุคลากรไม่เพียงพอในการลงพื้นที่ ระบุเมื่อจัดระเบียบแล้วสามารถตรวจสอบสถานีได้ครอบคลุมมากขึ้น ยังหวั่นคลื่นเถื่อนโผล่อีกหากหมดอำนาจ คสช.

หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.ค.57 ที่ผ่านมา คสช.ได้มีประกาศ ฉบับที่79/2557เรื่องเงื่อนไขในการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้ รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการตามที่ได้มีประกาศ คสช. ฉบับที่66 /2557เรื่องการออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบ กิจการลงวันที่14มิ.ย.57 กำหนดให้สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการออกอากาศต่อ ไปได้ตามปกติเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามประกาศฉบับดังกล่าวเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติและ เพื่อให้การเผยแพร่ ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนหรือก่อให้ความแตกแยกอันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบ เรียบร้อย  

ทางสำนักงาน กสทช.เขต 3 ดูแล 6 จังหวัด ประกอบด้วย  ลำปาง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เชียงราย และแพร่ ได้เริ่มดำเนินการจัดทำ MOU สำหรับผู้ประกอบการที่มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการจาก 6 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบมาลงนามทั้งหมด 47 สถานี  และครั้งที่ 2 วันที่ 31 ก.ค.57 มีผู้มาลงนาม 60 สถานี รวมเป็น 107 สถานี จากทั้งหมด 330 สถานี   ซึ่งในส่วนของ จ.ลำปาง มีผู้ยื่นลงนามทั้งหมด 15 สถานี  และได้ออกอากาศแล้ว 11 สถานี แต่ยังมีผู้ประกอบการท้วงติงว่า การประกาศรายชื่อและการทำงานต่างๆของ กสทช.เขต 3 มีความล่าช้ามาก ไม่เหมือนกับเขตอื่นๆ ที่สามารถยื่นลงนามได้ทันที และเมื่อลงนามแล้วเพียง 1-2 วันก็สามารถออกอากาศได้ แต่ กสทช.เขต 3 นั้นต้องรอนานเกือบ 1 สัปดาห์จึงจะประกาศรายชื่อ  

ในเรื่องนี้ นายธีรัช เพ็ชรหิน ผอ.กสทช.เขต 3  เปิดเผยว่า เป็นนโยบายของ ผบ.มทบ.32 ที่ต้องการพบปะผู้ประกอบการทุกคน เพื่อให้ถือปฏิบัติตามแนวทางของ คสช. จึงนัดพบเป็นครั้งไป ซึ่งได้มีการนัดพบแล้ว 2 ครั้ง แต่หลังจากนี้จะไม่มีการนัดเป็นกลุ่มแล้ว ถ้ามีผู้ประกอบการมายื่นความประสงค์ตั้งแต่ 3-5 รายขึ้นไปก็จะนัดทำ MOU ได้เลย ซึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดความล่าช้าคือ เราจะต้องแจ้งขอนัดทางฝ่ายทหาร เพื่อจะไปร่วมลงนาม ทราบว่าผู้ประกอบการหลายคนเดือดร้อนบางคนต้องเดินทางมาสองครั้ง ซึ่งเห็นใจคนที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นและอยู่ต่างอำเภอไกลๆ ตอนนี้กำลังหาแนวทางแก้ไขเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากที่สุด 

สำหรับกรณีที่มีการการประกาศรายชื่อล่าช้านั้น ในครั้งแรกเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการสแกนข้อมูลส่งไปทางส่วนกลาง จึงต้องนำกลับมาทำใหม่ทั้งหมด โดยที่ทั้ง 14 เขตทั่วประเทศส่งไปรวมอยู่ที่เดียวกันหมดทำให้เกิดความล่าช้า ในส่วนของ จ.ลำปางที่ไม่ได้ประกาศรายชื่อในรอบแรก 3 สถานี เนื่องจากผู้ประกอบการบันทึกที่ตั้งผิด ไปเขียนที่อยู่สถานีเป็นที่อยู่ที่จดทะเบียน จึงต้องนำกลับมาแก้ไข  ส่วนครั้งที่สองได้มีการตรวจเข้มขึ้น แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาของ จ.ลำปาง 4 สถานี และเชียงราย 2 สถานี ซึ่งรอทางส่วนกลางส่งกลับมาว่าผิดพลาดตรงไหน 

เมื่อสอบถามว่าเหตุใดที่ผ่านมา กสทช.เขต ไม่เข้าไปดำเนินการกับสถานีวิทยุเถื่อน  นายธีรัช กล่าวว่า ยอมรับว่าในส่วนของเขตไม่ทราบฐานข้อมูลเลยว่าสถานีวิทยุได้รับอนุญาตในขั้นตอนไหน ทาง กสทช.จะส่งฐานข้อมูลเฉพาะสถานีที่ได้รับอนุญาตแล้วมาให้ แต่สถานีที่นอกเหนือจากข้อมูลก็ต้องมาทำการตรวจสอบเอง ซึ่งที่ จ.ลำปางพบอยู่ 46 สถานี  ต้องใช้เวลานานเกือบปีจึงจะตรวจสอบได้ทั้งหมด เพราะก่อนหน้าที่ยังไม่มีการจัดระเบียบมีสถานีที่ไม่ได้รับอนุญาตออกอากาศจำนวนมาก  ซึ่งทางเขตไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปจับกุมนอกจากทำการตรวจสอบ และส่งเรื่องให้ทางส่วนกลางพิจารณา และขออำนวจมาจึงจะดำเนินการได้ 

“ภารกิจ การกระจายเสียงถูกโจมตีค่อนข้างมาก ทำงานลำบาก เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าสถานีนี้ได้รับอนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจึงจะขออำนาจจากเลขาสำนักงาน กสทช.เข้าทำการจับกุม แต่ถ้าเป็นสถานีที่ได้รับอนุญาตแล้วก็ทำได้เพียงตักเตือนให้แก้ไข เนื่องจากเราไม่มีอำนาจหรือกฎหมายที่จะมารองรับในการจับกุมดำเนินคดีในส่วน นี้   ยิ่งถ้ามีสถานีมากก็ยิ่งควบคุมยาก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จ.ลำปางได้ถูกร้องเรียนจากวิทยุการบินถึง 12 ครั้งภายในหนึ่งเดือน  ทำให้มองว่า กสทช.เขตทำงานไม่ดี แต่ความจริงได้มีการแจ้งให้สถานีทราบแล้ว ซึ่งก็ยังมีหลายแห่งที่ไม่ให้ความร่วมมือ ตนเองก็ยังหวั่นอยู่ว่า หากผ่านพ้นการดูแลควบคุมของ คสช.ไปแล้ว คลื่นวิทยุเถื่อนจะกลับเข้ามาอีก” ผอ.กสทช.เขต 3 กล่าว  
ในส่วนของเรื่องการตรวจสอบสถานีวิทยุที่ออกอากาศนั้น ผอ.กสทช.เขต 3 กล่าวว่า ต้องสรุปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาและทหารทุกวัน ที่สำนักงานเขตจะสามารถตรวจสอบได้ ณ ที่ตั้ง 3 จังหวัดคือ ลำปาง พะเยา เชียงราย  หลังจะระเบียบแล้วทำให้การตรวจสอบง่ายขึ้น เนื่องจากมีสถานีระงับการออกอากาศไปจำนวนมาก จึงทำให้รับคลื่นความถี่ได้ไกลขึ้น  นอกจากนั้นจะมีการออกตรวจสอบประจำเดือนหลังการออกอากาศ ซึ่งต้องไปลงพื้นที่จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เพื่อสุ่มตรวจการออกอากาศ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่พบว่ามีสถานีที่ไม่ได้รับอนุญาตลักลอบออกอากาศแต่อย่างใด  ในเรื่องการเฝ้าระวังนี้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาตก็จะต้องปกป้องตัวเองด้วย หากพบว่ามีการลักลอบก็ให้แจ้งมาที่ กสทช.เขต จะได้แจ้งต่อให้ทหารในพื้นที่เข้าไปดำเนินการ  ตอนนี้อยากให้มีการกำหนดระยะเวลาการทำ MOU ที่แน่นอน เพราะหากมีภารกิจอื่นๆซ้อนเข้ามาเจ้าหน้าที่จะไม่เพียงพอในการทำงาน 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการตรวจสอบการโฆษณาเกี่ยวกับอาหารและยาผ่านทางสถานีวิทยุว่าจะมีการตรวจสอบอย่างไร  นายธีรัช กล่าวว่า ได้มีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมานานแล้วตั้งแต่ปี 2555   ในส่วนของสำนักงานเขตจะร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและภาคประชาชน ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยถึงแนวทางการปฏิบัติเมื่อปลายเดือนกรกฎาที่ผ่านมา ซึ่งที่ จ.ลำปางจะมีภาคประชาชนเฝ้าฟัง เก็บข้อมูล และรายงานไปที่ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ตีความ หากพบว่าผิดก็จะสอบถามมายัง กสทช.เขตว่าสถานีนี้ได้รับอนุญาตหรือไม่  กสทช.จะดูแลเรื่องการใช้ความถี่ การดูแลเครื่อง การตั้งสถานี  ส่วนเนื้อหาต่างๆ ทางเขตไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะฟันธงว่าผิดหรือถูก จึงได้ดำเนินการร่วมกัน

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ให้ข้อมูลว่า ทางสาธารณสุขได้มีการเฝ้าระวังการโฆษณาทางวิทยุอยู่ตลอด โดยจะให้สาธารณสุขแต่ละอำเภอคอยฟังการโฆษณาทางสถานีวิทยุแต่ละคลื่นสลับกันไป หากพบที่เข้าข่ายการกระทำผิดก็จะแจ้งไปยัง กสทช.เพื่อให้ดำเนินการร่วมกันในการตรวจสอบ ซึ่งในกรณีที่มีผู้กระทำผิดชัดเจน เช่น มีผู้จ้าง มีนายสถานี ก็สามารถดำเนินคดีได้ ในส่วนที่ผู้กระทำผิดไม่ชัดเจนคือ มีการเช่าบ้านไว้ตั้งสถานีและถ่ายทอดออกอากาศจากทางอินเตอร์เน็ตหรือยิงสัญญาณดาวเทียมมา ก็ไม่สามารถจับกุมได้ แต่ล่าสุดในการประชุมร่วมกับ กสทช. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้สรุปว่าจะให้เครือข่ายภาคประชาชน และทางกลุ่มเอ็นจีโอช่วยเฝ้าระวัง และแจ้งข้อมูลเข้ามา ทางสาธารณสุขก็จะแจ้งประสานไปยัง กสทช.เพื่ออัดเสียง และถอดเทปมาพิจารณาตีความว่าเป็นโฆษณาที่ถูกหรือผิด แต่ทั้งนี้ โทษของ พ.ร.บ.อาหารและยาไม่หนัก มีค่าปรับไม่เกิน 5,000 บาทเท่านั้น 

ด้านนายเรืองยุทธ นิตยานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปาง เปิดเผยว่าขณะนี้ มีผู้ประกอบการวิทยุชุมชนบางส่วนเริ่มทยอยยื่นเอกสารเพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือปลูกต้นไม้ยืนต้นภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศบริเวณใกล้เคียงสนามบิน จากกรมการบินพลเรือน ซึ่งต้องตรวจสอบการติดตั้งเสาส่งสัญญาณของสถานีวิทยุว่าอยู่ในตำแหน่ง หรือจุดที่ตั้งพิกัดภูมิศาสตร์รบกวนคลื่นวิทยุการบินหรือไม่ โดยระเบียบ กสทช. กำหนดให้ทุกสถานีต้องใบขออนุญาตก่อสร้างเสาอากาศกรณีที่อยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ท่าอากาศยานลำปางมีกำหนดโซนพื้นที่ ที่อยู่ในเขตต้องห้าม และมีระเบียบที่เกี่ยวข้องโดย เสาส่งสัญญาณวิทยุ จะต้องไม่เกิน 30 เมตร สถานีวิทยุชุมชนที่ยื่นเอกสารเข้ามาพบว่าสถานีใดที่อยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจพิกัดและเอกสารให้กรมการบินพลเรือน อนุมัติใช้เวลาประมาณ 30 วัน ส่วน สถานีที่อยู่นอกเขตฯ ก็จะได้รับหนังสือรับรองว่าสถานีนั้นอยู่ในเขตที่ไม่มีต่อการรบกวนการเดินอากาศ ซึ่งใช้เป็นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม กับ กสทช.ได้ ทันที "ขณะนี้ยังมีสถานีวิทยุท้องถิ่นเพียงไม่กี่แห่งยื่นเอกสารเข้ามา ดังนั้นจึงอยากประชาสัมพันธ์ ให้ ทุกสถานีเร่งส่งเอกสารเข้ามา เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ" ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปางกล่าว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 990 ประจำวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2557)
 

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์