ลำปางไนท์บาซาร์ทุ่มงบฯติดตั้งไฟฟ้าระบบเคเบิ้ลใต้ดินแรงสูงเป็นแห่งแรกของลำปาง
ผู้บริหารย้ำวางโครงสร้างรอบโครงการทุกส่วนให้มีระเบียบสวยงาม
ด้านแผนกบริการลูกค้า กฟภ.ระบุการติดตั้งใช้เทคโนโลยีก่อสร้างทันสมัยปลอดภัยสูง
นายดเนตร สุคนธานิตย์
ผู้บริหารโครงการลำปางไนท์บาซาร์ โดยบริษัท แทนคุณลำปาง จำกัด เปิดเผยว่า
หลังจากเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างลำปางไนท์บาซาร์ พื้นที่ทั้งหมด 11 ไร่
สี่แยกถนนถนนท่าคราวน้อยใกล้กับวิทยาลัยเทคนิคลำปาง มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556
ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ การก่อสร้างอาคารพาณิชย์รอบโครงการลำปางไนท์บาซร์ จำนวน 79 คูหา ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 80% และได้ดำเนินการวางโครงสร้างไฟฟ้าระบบเคเบิ้ลใต้ดินแรงสูง
เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2557
ที่ผ่านมา การไฟฟ้าจากส่วนกลางและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดลำปางได้นำเครื่องจักรและเจ้าที่ที่ลงพื้นที่ติดตั้งระบบดังกล่าว โดยเริ่มต้นที่บริเวณหน้าอาคารพาณิชย์
ฝั่งถนนท่าคราวน้อยเป็นจุดแรก
และต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นทั้งโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"เราให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของโครงการในภาพรวมทั้งหมด
โดยเฉพาะอาคารและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเราปลูกสร้างตามแบบที่ผ่านการขออนุญาตตาม
ระเบียบกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการออกแบบอาคารจะโชว์ลวดลายด้านหน้าอาคารให้ดูสวยงามแบบย้อนยุค
ดังนั้นจึงใช้งบประมาณในการลงทุนค่อนข้างสูงเพื่อติดตั้งระบบสายไฟฟ้าลงใต้
ดินเพื่อรักษาทัศนียภาพของตัวอาคารรอบโครงการให้เป็นระเบียบสวยงาม และต้องขอขอบคุณทาง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ดูแลการติดตั้งด้วยเทคโนโลยีและความปลอดภัย
ลำปางไนท์บาซาร์จะเป็นแห่งแรกของลำปางที่ติดตั้งระบบเคเบิลไฟฟ้าใต้ดิน " ผู้บริหารโครงการลำปางไนท์บาซาร์กล่าว
นายบุญยัง สังบัวแก้ว หัวหน้าแผนกบริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดลำปาง
เปิดเผยว่า การก่อสร้างระบบไฟฟ้าใต้ดินของโครงการลำปางไนท์บาซาร์
เป็นโครงการแรกของจังหวัดลำปางที่บริเวณหน้าโครงการจะไม่มีเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า
และสายสัญญาณโทรคมนาคมทุกชนิดพาดผ่าน
ทำให้เกิดความเป็นระเบียบ สวยงาม อีกทั้งยังมีความปลอดภัยในการใช้งาน
สำหรับการดำเนินงานติดตั้งระบบไฟฟ้าใต้ดินดังกล่าวเป็นการนำระบบไฟฟ้าแรงสูง
22,000 โวลท์ ที่ติดตั้งโดยการปักเสาพาดสายบนผิวดิน
ที่มีอยู่เดิมลงไปไว้ใต้ดินที่ระดับความลึก 3 เมตร
ระยะทางประมาณ 200 เมตร โดยใช้สายไฟฟ้าชนิด XLPE ที่มีฉนวนป้องกันหลายชั้นสำหรับติดตั้งใต้ดินโดยเฉพาะ
และร้อยท่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง
ซึ่งระบบสายไฟฟ้าใต้ดินนี้ออกแบบให้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้ จึงหมดความกังวลเรื่องความปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม
ในการดำเนินการก่อสร้างจะไม่มีการเปิดผิวดินทั้งหมดเพื่อวางท่อ
แต่จะใช้วิธีการขุดเจาะท่อในแนวราบ (Horizontal Directional Drilling :
HDD) ใช้พื้นที่เพียงสองจุด
คือจุดขึ้นและจุดลงโดยในแต่ละจุดจะใช้พื้นที่โดยประมาณ 5-20
เมตร ในการวางเครื่องจักร
ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้คืนสู่สภาพเดิม
แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากเครื่องจักรมีราคาแพง และต้องใช้ทีมควบคุมที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ
หากหน่วยงานรัฐหรือเอกเชน
สนใจอยากวางโครงสร้างระบบไฟฟ้าใต้ดิน
สามารถติดต่อที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทุกแห่ง
เนื่องจากปัจจุบันตามเมืองใหญ่ๆ ก็เริ่มหันมาก่อสร้างระบบไฟฟ้าแบบนี้
ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าระบบไฟฟ้าแบบเหนือดินก็ตาม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 989 ประจำวันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2557)