วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการออม จุดเริ่มต้นของคำว่า พอเพียงที่บ้านสันป่าจี้


ใบบ่าขูด  หัวกระชาย บ้านเฮากะมีเป่อเลอะถ้าเฮายะอย่างเปิ้นเฮากะมีตังค์อย่างเปิ้นนั่นเป็นคำพูดบอกเล่าที่หมายถึงว่า ใบมะกรูด หัวกระชายที่เคยนำไปขายส่งที่ตลาด ตอนนี้มีลูกค้าจากจังหวัดลำพูนเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้านแล้วเพื่อนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพร โดยรับซื้อไม่จำกัดด้วย    ซึ่งข้อมูลที่ได้รับฟังเป็นการตอกย้ำถึงวิถีทาง   ที่คนในบ้านสันป่าจี้ได้เดินมาถูกต้องแล้วเกี่ยวกับการปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวของชุมชนที่จากเดิมมีการปลูกตามแนวคิด ปลูกเพื่อเก็บไว้กิน เหลือกินเก็บขายสร้างรายได้ชุมชนซึ่งหากได้มีการเพิ่มผลผลิตที่ไม่ล้นตลาด  เป็นการปลูกหมุนเวียนให้มีผลิตผลได้ทั้งปี จะเป็นการเพิ่มรายได้ทั้งปีเช่นกัน และจะทำให้คนในชุมชนได้ประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพที่ได้มีการบริโภคผักที่ปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน และยังก่อให้เกิดรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งด้วย

บ้านสันป่าจี้ ตำบลนาโป่ง อำเภอเถิน  จังหวัดลำปาง  เป็นหมู่บ้านที่มีทุนเดิมจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม หรือสำนัก 6 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.สำนัก6) โครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่”

ซึ่งกิจกรรมที่ได้ดำเนินงานตามโครงการในปีที่ 2 จะเป็นการขยายผลจากการส่งเสริมให้ครัวเรือนปลูกผักสวนครัว ไว้บริโภคในครัวเรือนมาสู่การเพาะปลูกและดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง อันประกอบด้วย การร่วมกันทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษผัก ผลไม้เก็บใส่ถังไว้หมุนเวียนใช้ในชุมชน  การร่วมกันสร้างศาลาเพื่อให้เป็นสถานที่จำหน่ายผักปลอดสารพิษ รวมถึงการหาวิธีการและช่องทางอื่นๆ เพื่อนำผลิตผลที่เหลือจากการใช้ไปจำหน่ายภายนอกชุมชน และในขณะเดียวกันกลุ่มแม่บ้านเองก็ได้รับการพัฒนาทักษะในด้านการแปรรูปผล ผลิตจากพืชผักและผลไม้ที่ปลูกในชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ  โดยพืชผักผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกในชุมชนและเหลือจากการบริโภค จะถูกนำมาแปรรูปและประยุกต์เป็นสินค้าส่งขาย เช่น กล้วยบาร์บิคิว ผักกาดดองเค็ม มะขามแก้ว ถั่วกรอบแก้ว น้ำพริกลาบ ซึ่งเป็นการขยายช่องทางที่เหลือจากการบริโภค นำมาสู่รายได้เสริมให้แก่ครอบครัวของตนเองและเศรษฐกิจชุมชนและหากมีการจัดทำอย่างเป็นระบบแล้ว จะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี รายได้จากการจำหน่ายเมื่อนำมาทำเป็นบัญชีครัวเรือนและเพิ่มการออมแล้ว ก็จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตที่มีภูมิคุ้มกันตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

นอกจากนี้บ้านสันป่าจี้ ยังได้มีการวางแผนที่จะขยายผลช่องทางเพิ่มรายได้อื่นๆ เพื่อต่อยอดทุนทางสังคมที่มีการดำเนินการ  อยู่เดิม ได้แก่ การปลูกข้ามหอมมะลินิล ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาสูง เสริมจากการปลูกข้าวพันธุ์เดิม โดยได้ประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานและจัดหาช่องทางจัดจำหน่าย ตลอดถึงจะมีการรับซื้อผลิตผลทั้งหมดตามคุณภาพ  ชุมชนจะเริ่มต้นจากกลุ่มคนประมาณ 10-30 คน ในช่วงระยะเริ่มต้น เมื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีค่อยมีการขยายผลต่อไป โดยหวังผลในการพัฒนาเพื่อเป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงในโอกาสข้างหน้า ซึ่งได้รับความสนใจและการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้เกิดมโนภาพของการเกิดชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงในวันข้างหน้า  ประชาชนจะมีการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนความพอดีและพอเพียง 

นางอินทิรา ปิมวงศ์  ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า  การ ลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการออมได้ทำให้สภาพการดำรงชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องจากการให้ความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตจากต้นทุนของ วัตถุดิบที่มีอยู่มากมายในชุมชนจากการใช้แนวคิด ปลูกไว้กินเหลือกินเก็บขาย สร้างรายได้ชุมชน” นำไปสู่การแปลงเป็นรายได้ครัวเรือน และที่สำคัญได้เกิดการออมขึ้นในครัวเรือน     ขอขอบคุณ สสส. ที่ช่วยให้ชุมชนบ้านสันป่าจี้ ได้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น   ดังนั้น ข้อสรุปของคำถามก็คือรายได้การออม = รายจ่ายน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของคำว่าพอเพียงและเพียงพอของคนในชุมชนบ้านสันป่าจี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นชุมชนที่น่าอยู่ต่อไป







Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์