กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
ลัมภะกัปปะนคร กุกกุฏนคร ลำป้าง เมืองลำพาง
อาลัมพางนคร เขลางค์นคร เมืองนคร เวียงลคอร เวียงละกอน ศรีนครไชย นครลำปาง ฯลฯ
จังหวัดลำปางดูเหมือนจะมีภูมิหลังของชื่อมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละตำนาน
ชนิดจำกันไม่หวาดไม่ไหว
ชื่อ “ลัมภะกัปปะนคร” นั้น ปรากฏอยู่ในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระเถระทั้งสาม ได้เสด็จไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ
จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) ขณะที่พระพุทธองค์ประทับเหนือดอยม่อนน้อย ลัวะอ้ายกอนผู้เลื่อมใสในพระพุทธองค์
ได้นำน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างและมะตูมมาถวาย หลังจากฉันน้ำผึ้งแล้ว พระพุทธองค์ทรงวางกระบอกไม้ป้างหันไปทางทิศเหนือพร้อมพยากรณ์ว่า
สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า “ลัมภะกัปปะนคร” หลังจากนั้นทรงมอบพระเกศา 1 เส้นแก่ลัวะอ้ายกอน ซึ่งลัวะอ้ายกอนก็ได้ไปบรรจุในผอบทองคำ
ใส่ลงในอุโมงค์ จากนั้นก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกเหนืออุโมงค์นั้น
ซึ่งต่อมาเจ้าผู้ครองนครลำปางก็ได้บูรณะกระทั่งเป็นวัดพระธาตุลำปางหลวงทุกวันนี้
“กุกกุฏนคร” เป็นอีกชื่อหนึ่งของเมืองลำปาง แปลว่า เมืองไก่ขัน และยังเป็นที่มาของรูปไก่ขาว
ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองมานานกว่าร้อยปี ชื่อนี้มีตำนานเล่าว่า
ช่วงที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองแห่งนี้
พระอินทร์ได้เนรมิตไก่ขาวให้ขันเพื่อแจ้งให้ฤาษีทราบว่า พระพุทธองค์ได้เสวยภัตตาหารที่ถวายแล้ว
ทั้งนี้ บางตำนานกล่าวว่า พระอินทร์นั่นเองที่แปลงเป็นไก่ขาว คอยขันปลุกชาวบ้านให้ตื่นมาใส่บาตรพระพุทธองค์
ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมืองลำปางก็คือบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง
ชื่อของพระธาตุลำปางหลวงปรากฏในตำนานเรียกว่า พระมหาธาตุเจ้าลำปาง หรือพระธาตุหลวงลำปาง
เมืองลำปางจึงน่าจะเป็น “เมืองลำพาง” หรือ “อาลัมพางนคร” ที่พระเจ้าอนันตยศโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระนางจามเทวี
พระราชมารดา
ตามลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
เมืองลำปางถูกสร้างขึ้นทางด้านเหนือของแม่น้ำวัง ซึ่งก็คือบริเวณวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ต่อมามีการขยายเมืองออกไปบริเวณวัดปงสนุก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อาลัมพางนคร” ซึ่งพระนางจามเทวีทรงมอบให้พระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรส ปกครองต่อไป
ส่วนชื่อ “เขลางค์” ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีและสันสกฤตของกรมศิลปากร
เห็นว่า อาจมาจากคำว่า “ฮฺลาง” หรือ “ขฺลาง” ในภาษามอญ ซึ่งแปลว่า ขัน (ภาชนะใส่ของ) หรือโอ
พร้อมกับตีความว่า พรานเขลางค์ ก็คือพรานที่อาศัยอยู่ที่ดอยเขลางค์ หรือดอยโอคว่ำนั่นเอง
ทั้งนี้ ในทางประวัติศาสตร์ เมืองเขลางค์ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองมอญเช่นกัน
ทว่าชื่อเขลางค์นครเริ่มถูกตัดให้สั้นลงเหลือเพียง
“เมืองนคร” ในปี พ.ศ. 2019 จากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่
65 แสดงให้เห็นว่า ใช้เมืองนครตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช
และคำว่า “นคร” ได้เขียนกลายเป็น “ลคอร” ขณะที่ชาวพื้นถิ่นออกเสียงเป็น “ละกอน”
ครั้นต่อมา มีการกล่าวถึงชื่อ “นครลำปาง” ในหลายแห่ง ได้แก่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ซึ่งกล่าวถึงพระยาละครลำปางในปี
พ.ศ. 2332 และยังมีพงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง
เมืองลำพูนไชย ที่กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2357 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2
ได้มีการยกเมืองนครเชียงใหม่ “เมืองนครลำปาง” เมืองลำพูนไชย เป็นเมืองประเทศราช นอกจากนี้ ยังปรากฏชื่อ “ศรีนครไชย” จากตำนานที่เขียนขึ้นในยุคนี้ เพื่อเป็นการถวายเกียรติสดุดีแด่สกุลเจ้าเจ็ดตนอีกด้วย
เมืองนครลำปางคือชื่อที่แพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็น “จังหวัดลำปาง” ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยจากสยาม
เมื่อปี พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างไรก็ตาม
ใช่ว่าชื่อบ้านนามเมืองดั้งเดิมจะถูกลบหายไปจากความทรงจำเสียทีเดียว
เรายังเห็นชื่อเพราะ ๆ เหล่านี้ถูกนำไปเป็นชื่อที่พัก ร้านอาหาร ของที่ระลึก
ไม่นับรวมสัญลักษณ์อย่างไก่ขาว ที่ดูจะคลาสสิกเหนือกาลเวลาจริง ๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 3 - 9 ตุลาคม 2557)