กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
นอกจากจะเป็นแหล่งกินอันลือชื่อแล้ว
ย่านสถานีรถไฟดูเหมือนเป็นห้องรับแขกของเมืองที่สร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย
เกือบ 100 ปีที่สถานีรถไฟนครลำปางตั้งอยู่ตรงนี้
โดยถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2458 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 นับเป็นสถานีรถไฟรุ่นแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในประเทศไทย
และยังหลงเหลืออยู่ภายหลังสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ออกแบบโดยวิศวกรชาวเยอรมัน
ซึ่งได้รับมอบหมายให้สร้างทางรถไฟสายเหนือ นับว่าการสร้างสถานีรถไฟแห่งนี้
ได้นำความก้าวหน้ามาสู่เมืองลำปางก่อนเชียงใหม่หลายปี
เนื่องจากการเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานยังไม่แล้วเสร็จ (การขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานผ่านภูเขาไปถึงเมืองเชียงใหม่สำเร็จในปี
พ.ศ. 2464)
สถานีรถไฟนครลำปางเปิดใช้งานวันที่ 1 เมษายน
พ.ศ. 2459 ตรงกับวันปีใหม่ไทยในยุคนั้น รองรับขบวนรถรวมพิษณุโลก-ลำปางและอุตรดิตถ์-ลำปาง
ก่อนจะมีรถด่วนสายเหนือวิ่งตรงจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาทำขบวนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465
เมื่อแรกเริ่มมีรถไฟสายเหนือ
สถานีรถไฟนครลำปางคือจุดสิ้นสุดของเส้นทาง เมืองลำปางในยุคนั้นจึงเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าจากกรุงเทพฯ
ไปยังภาคเหนือ และลำเลียงสินค้าที่จำเป็นจากภาคเหนือมายังกรุงเทพฯ ทำให้สบตุ๋ยกลายเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก
ร่องรอยความเจริญเหล่านั้นยังคงหลงเหลือให้เห็นจากอาคารบ้านเรือนที่ใหญ่โตโอ่อ่า นอกจากนี้
รถไฟยังบรรทุกรถม้าจากกรุงเทพฯ มาถึงเมืองลำปาง ซึ่งในช่วงเวลานั้น กรุงเทพฯ กำลังระบายรถม้าสู่หัวเมืองต่าง
ๆ อีกทั้งการมาถึงของรถไฟยังส่งผลให้เกิดการสร้างถนนพหลโยธินไปเมืองพะเยาและเชียงราย
ถือเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของเมืองทางเหนือด้วย
ความน่าสนใจของสถานีรถไฟนครลำปางอยู่ที่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีก 2 ข้างเชื่อมกับโถงกลาง
รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล มีการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุและปูนปั้น โดยชั้นบนเป็นที่ทำการสารวัตรเดินรถลำปาง
ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการของสถานี รั้วระเบียงอาคารชั้นบนและเหนือวงกบประตูและหน้าต่างเป็นไม้ฉลุสวยงาม
ส่วนทางเข้าห้องโถงชั้นล่าง ซึ่งเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว และทางขึ้นชั้นบน เป็นทางเข้าแบบโค้ง
Arch ขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม อาคารสถานีได้ผ่านการต่อเติมมาบ้างบางส่วน
โดยเฉพาะช่วงก่อนปี พ.ศ. 2520
มีการต่อเติมส่วนควบคุมบริเวณปีกทางทิศใต้
ส่วนพักคอยด้านที่ติดกับรางรถไฟ และซุ้มด้านหน้าที่จอดรถ จากนั้นมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา
กระเบื้องพื้น และปรับปรุงพื้นชั้นล่างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2538
พื้นที่ทั้งหมด 161 ไร่
นอกจากจะแบ่งเป็นที่ตั้งของอาคารสถานีแล้ว
ยังมีอาคารโรงรถจักรที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน
จึงได้รับอิทธิพลแนวคิดสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่จากทางตะวันตก
ผังอาคารหลักเป็นรูปพัด
ซึ่งเกิดจากการใช้งานโดยมีแป้นหมุนไฮโดรลิกเป็นตัวจ่ายหัวรถจักรให้เข้าซอง
ชานชาลาด้านใน
เชื่อมต่อกับอาคารสำนักงานด้านหลังที่มีรูปแบบเดียวกัน ข้าง ๆ
กันมีถังสูงเก็บน้ำสีดำเป็นแลนด์มาร์ก โครงสร้างเป็นโครงแข็ง
มีสัดส่วนที่เป็นไปตามกฎการรับแรงของโครงสร้างอย่างแนวคิดสมัยใหม่อีกอัน
หนึ่ง
ด้านกลุ่มอาคารพักอาศัย ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยวหลายชนิด
แต่อยู่ในรูปแบบที่สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นสีของอาคาร วัสดุที่ใช้
และสัดส่วนของอาคาร ก็เป็นในทิศทางเดียวกัน รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
ผสมผสานกับแนวคิดแบบสมัยใหม่คล้ายกันทุกหลัง จะต่างกันที่ขนาดการใช้งานภายในและการปรับโฉมให้หรูหราสมฐานะของเจ้าหน้าที่รถไฟ
ซึ่งมีทั้งที่ใช้เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานต่าง ๆ ของสถานี
กลุ่มอาคารสโมสรรถไฟ อาคารชั้นเดียวเรียบง่าย
วางตัวขนานไปกับทางรถไฟ ประกอบด้วยคอร์ตเทนนิสและโรงบิลเลียด
สุดท้าย กลุ่มอาคารที่หายไปแล้ว นั่นคือ
โรงแรมรถไฟ ที่เคยสร้างไว้รองรับผู้โดยสารที่ต้องการค้างคืน
ในยุคที่สบตุ๋ยเคยเจริญก้าวหน้าในฐานะย่านการค้าสำคัญ และเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางไปยังที่อื่น
ๆ
สถานีรถไฟนครลำปางได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536
หากนับจากปี พ.ศ. 2458 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสร้าง
ปี พ.ศ. 2558 หรือปีหน้านี้ สถานีรถไฟนครลำปางก็จะยืนหยัดมาครบ
1 ศตวรรษ นับจากขบวนแรก รถไฟได้บรรทุกความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่เมืองของเรา
และมันยังส่งแรงกระเพื่อมจนถึงทุกวันนี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1002 ประจำวันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2557)