วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เริ่มปีใหม่ ชวนไหว้สาพระธาตุปีเกิด






อย่างที่รู้กันว่า เทศกาลปีใหม่คนไทยส่วนใหญ่นิยมที่จะไปไหว้พระตามปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเริ่มต้นปีด้วยความสิริมคล สำหรับชาวล้านนา พวกเขามีคตินิยมพิเศษเกี่ยวกับการไหว้พระธาตุที่น่าสนใจ เพราะชาวล้านนาเชื่อว่า ก่อนที่คนเราจะไปเกิดตามปีต่าง ๆ ของตนนั้น ดวงวิญญาณจะต้องอาศัยสัตว์ประจำปีเกิดมาพาไป จะไปเองไม่ได้ (คงเพราะเพิ่งมาใหม่ ยังไม่ประสีประสา) ด้วยความที่ดวงวิญญาณของคนต้อง พึ่ง (ภาษาล้านนาออกเสียงว่า เพิ่ง) สัตว์ให้นำไปเกิดนี่เอง ตัวที่นำดวงวิญญาณไปนี้ จึงเรียกว่า ตัวพึ่ง หรือออกเสียงแบบล้านนาว่า ตั๋วเปิ้ง

ตั๋วเปิ้งนี้ ก็คือสัญลักษณ์ประจำปีนักษัตรของล้านนานั่นเอง และบางทีก็เรียกปีนักษัตรว่า ปี๋เปิ้ง ด้วยเหมือนกัน สำหรับตั๋วเปิ้งประจำนักษัตรปีเกิดของแต่ละคนมีดังนี้

ปีใจ้ (ชวด) ตั๋วเปิ้ง คือ หนู ปีเป้า (ฉลู) ตั๋วเปิ้ง คือ วัว ปียี (ขาล) ตั๋วเปิ้ง คือ เสือ ปีเหม้า (เถาะ) ตั๋วเปิ้ง คือ กระต่าย ปีสี (มะโรง) ตั๋วเปิ้ง คือ พญานาค ปีใส้ (มะเส็ง) ตั๋วเปิ้ง คือ งูเล็ก ปีสะง้า (มะเมีย) ตั๋วเปิ้ง คือ ม้า ปีเม็ด (มะแม) ตั๋วเปิ้ง คือ แพะ ปีสัน (วอก) ตั๋วเปิ้ง คือ ลิง ปีเร้า (ระกา) ตั๋วเปิ้ง คือ ไก่ ปีเส็ด (จอ) ตั๋วเปิ้ง คือ หมา ปีใค้ (กุน) ตั๋วเปิ้ง คือ ช้าง จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ตั๋วเปิ้งก็จะเหมือนกับสัญลักษณ์ตัวนักษัตรของไทยภาคกลาง ยกเว้นปีใค้ หรือปีกุน ซึ่งล้านนาใช้ช้าง ไม่ใช่หมู

คนล้านนาเชื่อกันว่า ก่อนที่คนแต่ละคนจะปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น ดวงวิญญาณจะต้องมา ชุ (หรือจุ๊ หมายความว่า พักอยู่ หรือบรรจุ) อยู่ที่พระธาตุเจดีย์ประจำตัวก่อน โดยมีตั๋วเปิ้งนำมา เมื่อได้เวลา วิญญาณก็จะไปสถิตอยู่ที่กระหม่อมของบิดาเป็นเวลา 7 วัน แล้วจึงเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดาโดยสังวาสวิสัย เกิดการปฏิสนธิเป็นทารก และเมื่อสิ้นสุดอายุขัยแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปชุอยู่ที่พระธาตุประจำตัวของตนตามเดิม

คนเกิด ปีใจ้ (ชวด) หนูจะนำวิญญาณมาชุไว้ที่พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระบรมธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่เป็นพระทักขิณโมฬีธาตุ คือ กระดูกกระหม่อมด้านขวาของพระพุทธเจ้า

คนเกิด ปีเป้า (ฉลู) วัวจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเกศธาตุ พระธาตุส่วนพระนลาฏ และพระศอ นั่นก็คือ เส้นผม กระดูกหน้าผาก และกระดูกลำคอ

คนเกิด ปียี (ขาล) เสือจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ซึ่งประดิษฐานพระเกศธาตุและพระธาตุข้อศอกด้านซ้าย

คนเกิด ปีเหม้า (เถาะ) กระต่ายจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ที่ประดิษฐานพระเกศธาตุและพระธาตุข้อพระหัตถ์ด้านซ้าย และยังเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ที่พญาการเมือง กษัตริย์เมืองน่านสมัยนั้น ได้รับมาจากพญาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย

คนเกิด ปีสี (มะโรง) พญานาคจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุวัดพระสิงห์ หรือองค์พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

คนเกิด ปีใส้ (มะเส็ง) งูเล็กจะนำวิญญาณมาชุที่โพธิบัลลังก์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย แต่ก็สามารถไหว้พระเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ แทนได้ โดยการถวายไม้ก๊ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ หากลำบากจริง ๆ ให้ไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์วัดไหนก็ได้

คนเกิด ปีสะง้า (มะเมีย) ม้าจะนำวิญญาณมาชุที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมาร์ ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวกันว่า ประดิษฐานพระธาตุและบริขารของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวม 5 พระองค์ แต่ถ้าไม่สะดวกที่จะไป เขาว่าให้ไหว้พระบรมธาตุที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก แทนได้

คนเกิด ปีเม็ด (มะแม) แพะจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
คนเกิด ปีสัน (วอก) ลิงจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ คือ กระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า อีกทั้งอุรังคนิทานยังกล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุพระอดีตพระพุทธเจ้าอีก 3 องค์ด้วย

คนเกิด ปีเร้า (ระกา) ไก่จะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ซึ่งประดิษฐานพระเกศธาตุ พระโมฬีธาตุ (กระดูกกระหม่อม) พระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) พระธาตุนิ้วพระหัตถ์ และพระธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง

คนเกิด ปีเส็ด (จอ) หมาจะนำวิญญาณมาชุที่พระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประดิษฐานพระจุฬาโมลี หรือมวยผมเมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงบรรพชา และเมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว พระอินทร์ยังทรงนำพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวามาบรรจุไว้อีก บ้างก็ว่าประดิษฐานพระรากขวัญ หรือกระดูกไหปลาร้าเบื้องบนด้วย แต่แน่นอน เขามีพระธาตุให้ไหว้แทนได้ คือ พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศเมียนมาร์ บางท่านว่าให้ไหว้พระธาตุวัดเกตการาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ แทน

คนเกิด ปีใค้ (กุน) ช้างจะนำวิญญาณมาชุที่พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย พระธาตุเจดีย์แฝด 2 องค์ องค์หนึ่งประดิษฐานพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) และพระธาตุส่วนพระศอ ส่วนอีกองค์หนึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 150 องค์

ความเลื่อมใสในพระธาตุของคนล้านนาสะท้อนให้เห็นจากความเชื่อที่ว่า ในชั่วชีวิตของตนควรจะได้ไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดให้ได้อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล ถือว่าจะได้อานิสงส์สูงและมีอายุยืนนาน ทั้งยังมั่นใจได้ว่า เมื่อตายไปแล้ว ดวงวิญญาณก็จะได้ไปไหว้พระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อน แต่จะไปไหนต่อนั้น คงสุดแท้แต่บุญกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ 

 กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์