ชุมชนผาปังสร้างเศรษฐกิจพอเพียง
ยืนด้วยลำแข้งแม้ไม่มี อบต. ชาวบ้านร่วมสร้างวิสาหกิจชุมชนแล้ว 15
กลุ่ม เงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อเดือน เตรียมจดทะเบียนเพิ่มอีกหลายกลุ่ม
เครือข่ายประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนจังหวัดลำปาง
ร่วมศึกษาดูงาน ชุมชนพึ่งตนเอง ตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลผาปัง
เพื่อประชาสัมพันธ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตำบลผาปังแห่งนี้
ไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นของตนเอง ต้องไปแบ่งงบประมาณจากอีกตำบลหนึ่ง
จึงได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งมูลนิธิฯขึ้น
เพื่อให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการร่วมกันพัฒนาและสร้างความรักความสามัคคีในชุมชน
นายอธิชัย
ต้นกันยา รักษาการแทนประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง
จึงนำเครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน
และสื่อมวลชนจังหวัดลำปาง จำนวน 25 คน เดินทางเข้าศึกษาดูงาน
โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนพึ่งตนเองตำบลผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง
ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ประจำปี 2558 ที่กรมประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด
ทั่วประเทศนำสื่อมวลชนสัญจรศึกษาดูงานโครงการตามแนวพระราชดำริ
เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้อย่างกว้างขวาง
สนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นตามแนวพระราชดำริ
และนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในการขับเคลื่อน
ขยายผลพื้นที่โครงการปิดทองหลังพระ 265 หมู่บ้านใน 13
อำเภอ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ภายในปี 2558
นายวิรัตน์
สีคง ประธานวิสาหกิจชุมชนผาปัง กล่าวว่า ชุมชนตำบลผาปังเป็นตำบลเล็ก ๆ มี 5
หมู่บ้าน 427 ครัวเรือนประชากร 1,774
คน รวมตัวกันพัฒนาและพึ่งพาตนเอง เนื่องจาก เป็นตำบลที่ไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบล
ต้องไปอาศัย อบต.แม่พริกที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 24 กิโลเมตร
ในการของบประมาณการพัฒนาต่างๆมาสู่หมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ตามที่ต้องการเนื่องจาก
อบต.แม่พริกก็มีพื้นที่รับผิดชอบถึง 12 หมู่บ้าน
ดังนั้นกลุ่มชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรจะต้องคิดโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลแห่งหนี้อีกแรงหนึ่ง
และในปี 2550 ชาวตำบลผาปังกลุ่มหนึ่งได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนตำบลผาปังขึ้น เพื่อบริหารจัดการชุมชนแบบพึ่งตนเอง
จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน โดยมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง
ทำหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการชุมชน พัฒนาวิสาหกิจพลังงานทดแทน
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้ไผ่แบบครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ จัดตั้งโรงงานตะเกียบ
นำเยื่อไผ่ที่ขัดออกจากไม้ตะเกียบส่งขาย เพื่อนำไปผลิตภาชนะไบโอ(แก้ว ชาม ถาดรอง)
ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ นำขี้เลื่อยมาผลิตเป็นถ่ายอัดแท่ง
ลดการเผา ใช้เป็นพลังงานทดแทนในชุมชน และวิสาหกิจเวชสำอางสมุนไพรไผ่ชุมชน รวมทั้ง
ยังเกิดวิสาหกิจชุมชนต่อเนื่องขยายผล อาทิ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มมัคคุเทศก์
กลุ่มข้าวกล้อง กลุ่มถั่วลิสงอบแห้ง
กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษและหัตถกรรมพื้นบ้านชนเผ่า
นายวิรัตน์
กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมของ ต.ผาปัง มีหลายหลาย และทุกกิจกรรมจะมีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่พึ่งพากันและกันได้ ปัจจุบันนี้มีกลุ่มทั้งหมด 15
กลุ่ม และยังมีกลุ่มที่จะเกิดใหม่อีกหลายกลุ่ม
เช่น กลุ่มผลิตไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
อยู่ระหว่างการขอรับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนนี้จะเดินเครื่องได้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาด
70 กิโลวัตถ์ จากการทดลองแล้วพบว่าเครื่องทำงานได้ดีมาก
ใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงตะเกียบและข้อไผ่มาผลิตไฟฟ้า วันละไม่เกิน 3 ตันผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง และส่งขายให้กับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำหรับกิจกรรมของเราได้ร่วมกับบริษัทคู่ค้า
ซึ่งทุกกิจกรรมจะมีการหาตลาดก่อนจึงจะทำตามออเดอร์
จะไม่ทำแล้วมาหาตลาดภายหลังเพราะจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ การทำกิจกรรมของเรามีเงินหมุนเวียนเข้ามา 500,000 บาทต่อเดือน ช่วยให้พี่น้องในพื้นที่มีรายได้มีงานทำ แก้ปัญหาในการที่เราไม่มี
อบต.เป็นของเราเอง จึงได้เงินในส่วนนี้เข้ามาช่วยพัฒนากิจกรรมต่างๆของ ต.ผาปัง
ทั้งด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี
และการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวบ้าน
เป็นการทำงานไปและแก้ปัญหาไปควบคู่กัน
ทุกวันนี้ชาวผาปังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ชาวบ้านมีอาชีพเสริมในช่วงที่ว่างจากการทำไร่ทำนา
“ในอนาคตคิดว่า
ต.ผาปังจะเป็นแหล่งศึกษาดูงานของพี่น้องทั่วประเทศ จนถึงวันนี้มีคณะมาดูงานแล้วกว่า 10,000
คน หลังจากเราได้สร้างพระธาตุ 12 ราศี มีโฮมสเตย์
คนจะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ อาชีพรายได้ก็จะมั่นคงขึ้น
ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ดีขึ้น”
ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ
ยังกล่าวอีกว่า เราได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาใช้ในการดำรงชีวิต
โดยการค่อยๆทำค่อยๆสร้างไปทีละนิด ตามกำลังที่สามารถทำได้
โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ
ให้ทุกอย่างพึ่งพาเกื้อกูลกัน ที่สำคัญคือ ไม่ทำเกินตัว พอเพียง อยู่ได้อย่างยั่งยืน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1010 ประจำวันที่ 26 ธันวาคม - 8 ธันวาคม 2557)