วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คนข่าวบ้านนอก มาตรฐานระดับชาติ



หล่งความรู้วิชาการด้านสื่อที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ที่ดำเนินการมาหลายปี นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาที่สอนด้านสื่อสารมวลชน คือหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนที่มีทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และผู้อำนวยการหลักสูตร ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

แร็ค ลานนา บก.ลานนาโพสต์ ก็เป็นหนึ่งใน บสก.หรือผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.)รุ่นบุกเบิกรุ่นแรก หลังจากที่ได้ร่ำเรียนนิเทศศาสตร์นอกตำรา จากสุรศักดิ์ ภักดี ตำนานมีชีวิตแห่งลานนาโพสต์มาหลายสิบปี

การพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฎิรูปสื่อ ที่มิได้อยู่ภายใต้ สปช และสำหรับคนข่าวบ้านนอก ก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า ทันสมัย การสื่อสารให้แหล่งข่าวเรียนรู้และเข้าใจ วิธีการทำงานร่วมกัน โดยไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนักข่าวไร้สังกัด นักข่าวผีที่ตบทรัพย์หากินไปวันๆ ด้วยความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น หรือเกรงใจอย่างไร้เหตุผล มันผ่านพ้นไปนานแล้ว

ไม่ว่าบางกอก หรือบ้านนอก หน้าที่คือทำงานที่ซื่อสัตย์ตามวิชาชีพ มีความทระนงในเกียรติและศักดิ์ศรีของสื่อมวลชน ไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรมี ควรได้ เท่านี้ก็เพียงพอ ภารกิจอื่นนอกจากนี้ไม่มี

มีการพูดกันว่า สื่อมวลชนจะต้องมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดการเมื่อมีการละเมิดจริยธรรม แทนการใช้กฎเหล็ก ให้มีใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน การฝึกอบรม ให้การเรียนรู้สื่อมวลชน ทั้งในแง่ของวิชาการร่วมสมัย รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ น่าจะเป็นการกำกับ ดูแลสื่อที่มีความยั่งยืนกว่า

แน่นอนว่า การขีดเส้นให้สื่ออยู่ภายใต้กรอบ กติกาที่เคร่งครัดนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนที่อยู่ในอาชีพอื่นๆ หมอ ทนายความ วิศวกร ที่มีผ่าเหล่าผ่ากอ เพียงแต่ความคาดหวังจากสังคมที่มีต่อสื่อมวลชนสูงกว่าอาชีพอื่น เพราะพวกเขาทำงานอยู่บนพื้นที่สาธารณะ

อีกด้านหนึ่งของหลักสูตรนี้ คือการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนในภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมกับสื่อมวลชน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนต่างสาขาอาชีพ นอกจากเครือข่ายที่จะเกื้อหนุนกันในทางสร้างสรรค์แล้ว คนเหล่านั้นก็จะมีโอกาสทำความเข้าใจการทำงานของสื่อมวลชนในมิติต่างๆ ผ่านเอกสารส่วนบุคคลด้วย

น่ายินดีที่ผมได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาผู้เข้ารับการอบรม จากเอ็นจีโอ คุณหมอ ตำรวจหญิงและทนายความ ในหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 5 และพบว่าท่านเหล่านี้ล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างงานวิชาการ โดยเฉพาะการบูรณาการอาชีพของตัวเองเข้ากับงานของสื่อมวลชน

หลักของเรา คือไม่ว่า ผู้ทำเอกสารส่วนบุคคล จะคิดอ่านหัวข้ออย่างไร ก็ต้องพยายามโยงเข้าหาเรื่องของสื่อมวลชนให้ได้ เพราะอย่างน้อยจะได้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาวิชาชีพสื่อมวลชน เช่น หลายเรื่อง ที่ขออนุญาตอ้างอิงจากทั้ง 4 ท่าน ดังต่อไปนี้

คุณเนาวรัตน์  เสือสะอาด จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทำเรื่อง “การนำเสนอข่าวอาชญากรรมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน” เป็นเรื่องบทบาทของสื่อมวลชนสายอาชญากรรม ที่มักละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ เช่น การนำตัวผู้ต้องหาคดีอาญาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีการจัดแถลงข่าว นำผู้ต้องหาไปปรากฏตัวต่อสาธารณชน บางครั้งที่เป็นคดีสำคัญ เป็นที่สนใจของประชาชน ก็จะมีคนจำนวนมากไปดู หลายครั้งมีการรุมประชาทัณฑ์ หรือสาปแช่งผู้ต้องหา ทั้งที่ในทางคดีความยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของศาลอีกหลายขั้นตอน

นี่ก็เป็นมุมมองของเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ที่สื่อมวลชนเห็นเป็นเรื่องปกติ           

คุณหมอบุญส่ง  พัจนสุนทร จากแพทยสภา  เสนอเรื่องสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนกับสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิผู้ป่วย กรณีศึกษาการนำเสนอข่าวสารสุขภาพต่อสาธารณะ  ผมขออนุญาต ปรับหัวข้อให้กระชับขึ้น และตอบโจทก์ที่สังคมกำลังตั้งคำถามอยู่ขณะนี้ เป็น “เสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน กับสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิผู้ป่วย”  นอกจากสิทธิผู้ป่วยที่พวกเราเห็นติดอยู่ตามโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจอ่านอยู่แล้ว  ยังมีกรณีการละเมิดสิทธิผู้ป่วยจำนวนมากโดยสื่อมวลชน ที่ถูกมองข้ามไป เช่น การถ่ายภาพดารา นักแสดง บุคคลสำคัญบนเตียงคนไข้

หรือย้อนหลังไปเมื่อ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สมเกียรติ อ่อนวิมล บรรณาธิการข่าวช่อง 7 ก็บุกไปถึงโรงพยาบาล พยายามเข้าไปสัมภาษณ์ ตรวจดูอาหารที่นำเข้าไปให้คนป่วย ว่าทานอาหารประเภทใด ทานมากทานน้อย ทำให้คึกฤทธิ์ โกรธมาก  ในที่สุดสมเกียรติ อ่อนวิมล ต้องไปขอโทษ และลาออกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 นี่เป็นกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้ป่วยของสื่อมวลชนในอดีต

อีกสองท่านเป็นตำรวจหญิง และทนายความที่ทำเรื่องการปฎิรูปตำรวจ และการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา กับบทบาทการชี้นำของสื่อมวลชน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับตำรวจทั้งสองเรื่อง

เรื่องตำรวจกับนักข่าว จากประสบการณ์ในการทำงานสื่อมา 35 ปี เราอาจจะค้นพบด้วยกันว่า ภายใต้โครงสร้างตำรวจ ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับตำรวจนั้น คือหายนะแห่งชาติทีเดียว แล้วมีโอกาสจะเล่าสู่กันฟัง

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์