วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

สับสนดินไหวเถิน สะพานถนนพัง



แผ่นดินไหวเถิน 3 วันติดต่อกัน ข่าวสับสนสะพานข้ามคลองชลประทานในอำเภอเมืองพัง  ผอ.โครงการส่งน้ำแม่วังฯโต้วุ่นยันไม่เกี่ยว แต่เป็นเหตุจากรถบรรทุกหนักขับผ่านประกอบกับสะพานสร้างมานาน 15 ปี  ขณะที่ทรัพยากรธรณีวิทยาระบุ แผ่นดินไหวไม่เกิน 3 ริกเตอร์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย เพียงรับรู้ถึงแรงสั่งสะเทือนเท่านั้น  เป็นเรื่องดีที่รอยเลื่อนได้มีการปล่อยพลัง

จากกรณีที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างคึกคักผ่านทางโซเชียลมีเดียร์ เกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นเหตุให้สะพานขนาดกว้าง 6 เมตรยาว 11 เมตร ข้ามคลองชลประทาน ทางไปวัดม่อนพระยาแช่ บ้านพิชัย หมู่ 1 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง พังทลายลงทั้งแถบ ทำให้รถไม่สามารถวิ่งได้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตินิยมวิทยา ได้รายงานการเกิดแผ่นไหวในพื้นที่ จ.ลำปาง พบว่าแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นติดต่อกันแล้ว 3 วัน ที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.58 เวลา 01.08 น. ขนาด 2.9 ริกเตอร์ และวันเดียวกันเวลา 21.04 น. ขนาด 2.8 ริกเตอร์   และวันที่ 21 ม.ค.58 เวลา 13.57 น. ขนาด 2.3 ริกเตอร์   

ซึ่งหลังจากมีกระแสข่าวการพังทลายของสะพานโดยมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายสมบูรณ์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมธรณีพิบัติภัยกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า การเกิดแผนดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือหลายวันที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รอยเลื่อนต่างๆได้มีการปลดปล่อยพลังงานออกมา ซึ่งประชาชนสามารถรับรู้ได้เพียงเบาบางเท่านั้น เพราะการสั่นสะเทือนไม่เกิน 3 ริกเตอร์ ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้  ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เถิน ซึ่งไหวติดต่อกันสองวัน ทางเจ้าหน้าที่ สำนักทรัพยกรธรณี เขต 1 ลำปาง ได้ลงพื้นที่สำรวจแล้ว ไม่น่าจะสร้างความเสียหายแก่โครงสร้างอาคารต่างๆได้ แต่ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจ ก็จะได้เร่งสำรวจชั้นดินในพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว เพื่อหามาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติต่อไป

ด้านนางสาวนลินี ธะนันต์ นักธรณีวิทยา สำนักทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน ซึ่งไม่พบว่ามีความเสียหายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด เพียงแต่รับรู้และความรู้สึกได้เท่านั้น และรัศมีรับรู้ได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตร  กรณีที่จะทำให้สิ่งปลูกสร้างในเขต อ.เมืองพังไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ จ.สุโขทัยที่อยู่เขตติดต่อกับเถินใกล้เคียงกว่าก็ยังไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน

ขณะเดียวกันนายบัญชา  แสนศักดิ์  ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง ออกมาระบุย้ำถึงสาเหตุของการที่สะพานคอนกรีต ข้ามคลองชลประทานไปยังวัดม่อนพระยาแช่เกิดทรุดตัวลงจนไม่สามารถใช้งานได้ และทางโครงการฯต้องนำป้ายอันตรายห้ามใช้สะพานชั่วคราว และห้ามรถบรรทุกผ่าน มาปักไว้ว่าเกิดจากแผ่นดินไหวนั้น ตนเองยืนยันว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวแต่อย่างใด แต่สาเหตุหลักคือการที่มีรถบรรทุกดินวิ่งผ่านเข้าออกสะพานดังกล่าวจำนวนมาก และสะพานได้ก่อสร้างมานานเป็นสะพานแบบเก่าที่ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับน้ำหนักของรถบรรทุกขนาดใหญ่ และดินใต้สะพานก็ทรุดตัวด้วยจนทำให้สะพานทรุดตัวตาม

เบื้อง ต้นในขณะนี้ตนเองได้ทำหนังสือไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต10ลำปาง เพื่อขอสนับสนุนสะพานแบริ่งมาใช้เป็นการชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อให้ใช้สัญจรผ่านไปมาก่อน ซึ่งตนเองได้เสนอรายงานถึง ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่2ลำปางแล้ว เพื่อขออนุมัติงบประมาณเร่งด่วนในการรื้อถอนและก่อสร้างสะพานดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไร  หากได้รับการอนุมัติก็จะเร่งดำเนินการทันที โดยสะพานที่จะสร้างขึ้นมาใหม่จะต้องปรับแบบให้ได้มาตรฐานคือความกว้าง 8-10 เมตร ยาว 15 เมตร และต้องดูสภาพพื้นที่ประกอบด้วยว่าจะต้องมีปรับเรื่องใดเพิ่มเติมเพื่อไม้ให้เกิดปัญหาขึ้นในระยะยาวต่อไป

ด้านนายธงชัย กิจจะคณารักษ์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 2 แม่วัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สะพานคอนกรีตดังกล่าวสร้างมานานกว่า 15 ปี ซึ่งวิศวกรในสมัยก่อนได้สร้างเป็นแบบเก่า เนื่องจากยังไม่มีการใช้งานหรือรถวิ่งผ่านมากนัก จึงก่อสร้างแบบไม่ตอกเสาเข็ม และใช้แบบฐานแผ่ ขนาดสะพานกว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมาบริเวณฝั่งตรงข้ามมีการเปิดบ่อดิน จึงทำให้มีรถบรรทุกดิน ซึ่งมีน้ำหนักมากวิ่งเข้าออกสะพานดังกล่าวจำนวนมาก จึงทำให้สะพานซึ่งไม่ได้ออกแบบให้มารับน้ำหนักจำนวนมาก ประกอบกับดินบริเวณใต้สะพานร่วนเนื่องจากอยู่ติดกับคลองส่งน้ำจึงทำให้เกิดทรุดตัวลง ทั้งสองข้าง พร้อมยืนยันว่าการที่สะพานหักไม่ได้เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวแต่อย่างใด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1013 ประจำวันที่ 23 - 29 มกราคม 2558)   



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์