วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

เอเลียนบุก

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ดูคลิปที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวหล่มภูเขียว อำเภองาว ถ่ายไว้ แน่นอนว่าน้ำสีเขียวมรกตท่ามกลางป่าดิบเขานั้นดูสวยงามลึกลับดี แต่ภาพปลาที่ว่ายวนเวียนอยู่ในนั้น ไม่ควรคิดว่ามันคือส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในหล่มภูเขียว เพราะนั่นมันปลา เอเลียน ชัด ๆ ทั้งเปคูและบิ๊กอุย ซึ่งอันที่จริง มันคือตัวทำลายระบบนิเวศในท้องถิ่นแบบเงียบ ๆ และแสนจะเลือดเย็น

เปคู (Pacu) เป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาเป็นปลาเศรษฐกิจอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความนิยม บางส่วนจึงถูกนำไปทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ และกลายมาเป็นปลาเกมสำหรับนักตกปลา ปกติเปคูไม่ใช่ปลาดุร้าย แม้ว่ามันจะมีรูปร่างคล้ายปลาปิรันยาก็เถอะ อาหารหลักของมันคือพืช แต่บางทีอาจเป็นปลาขนาดเล็กด้วยก็ได้

ส่วนบิ๊กอุย คือ ลูกผสมที่เกิดจากการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ปลาดุกยักษ์กับแม่พันธุ์ปลาดุกอุย มันเป็นปลาที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ควรเลี้ยงไว้ในฟาร์มมากกว่าจะปล่อยลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะนิสัยกินไม่ได้เลือกของมันเป็นภัยต่อปลาพื้นเมืองตามแหล่งน้ำธรรมชาติยิ่งนัก

คำว่า เอเลียน ในที่นี้หมายถึง เอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) หรือที่เรียกว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่สามารถตั้งถิ่นฐานและยึดครองจนเป็นชนิดพันธุ์เด่นในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นเดิมจนอาจสูญพันธุ์ไป ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชาชนด้วยหากไม่มีการควบคุมและจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ นักวิชาการกล่าวว่า เอเลียนสปีชีส์แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยจาก 3 ทาง ได้แก่ มาด้วยความสามารถของชนิดพันธุ์เองเมื่อมีโอกาส การชักนำเข้ามาโดยบังเอิญจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ และการนำพาโดยผู้คนทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม เอเลียนสปีชีส์ถือเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หากไม่นับการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติโดยมนุษย์

ปัจจุบันเอเลียนสปีชีส์ในประเทศไทยมีมากมายเกือบร้อยชนิด แต่ที่เข้าข่ายสร้างปัญหาอย่างหนักก็เช่น หอยเชอร์รี หอยทากยักษ์แอฟริกา หอยกะพงเทศ เต่าแก้มแดง ตะพาบไต้หวัน ปลากดหลวง ต้นสาบหมา ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ นากหญ้า หอยข้าวสาร และปลาซัคเกอร์

ในจำนวนนี้ ดูเหมือนจังหวัดลำปางเราก็โดนคุกคามแล้วหลายชนิด            

หอยเชอร์รี สัตว์ประจำถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อกำจัดตะไคร่น้ำในตู้ปลา ทั้งยังมีการเลี้ยงเพื่อส่งออก แต่ไม่เป็นที่นิยม จึงถูกปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ สร้างความเสียหายต่อข้าว และทำให้หอยพื้นเมืองลดลง

หอยทากยักษ์แอฟริกา สัตว์ประจำถิ่นแอฟริกาตะวันออก ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยโดยทหารญี่ปุ่นเพื่อเป็นอาหาร บ้างก็ว่าถูกนำเข้ามาเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม แต่เมื่อหลุดออกสู่ธรรมชาติ พวกมันก็แพร่พันธุ์จนไม่สามารถควบคุมได้ สร้างปัญหาการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เรื่อยมา

เต่าแก้มแดง หรือเต่าญี่ปุ่น สัตว์ประจำถิ่นอเมริกาใต้ที่นำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายเป็นสัตว์สวยงาม จากทีแรกที่เป็นลูกเต่าตัวเล็ก ๆ วัยเด็ก พอโตขึ้นตัวชักจะเริ่มใหญ่ จึงมีการนำมันไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เจ้าเต่าแก้มแดงก็ยังอึด เพราะสามารถกินทุกอย่างที่ขวางหน้าได้ แล้วยังขยายพันธุ์ได้เร็วและมาก จึงมีส่วนทำให้เต่าไทยอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

ปลาซัคเกอร์ หรือปลาเทศบาล หรือปลากดเกราะ ไม่ว่าจะเรียกชื่อมันอย่างไร นี่คือฝันร้ายของแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างแท้จริง มันถูกนำเข้ามาจากทวีปอเมริกาใต้เมื่อปี พ.ศ. 2500 เพื่อใช้กำจัดสาหร่ายและของเสียที่ตกค้างในตู้ปลา แต่เมื่อมันเริ่มตัวใหญ่เกินไป และบางทีก็ไล่ดูดเมือกของปลาอื่นจนตาย คนเลี้ยงจึงนำไปปล่อยทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ ผลก็คือ มันแย่งอาหารและที่อยู่อาศัยของปลาชนิดอื่นจนลดจำนวนลงและสูญหายไปมากมาย นอกจากนี้ ยังทนต่อน้ำเน่าเสียได้อีกต่างหาก สร้างปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพจนน่าปวดหัว

จอกหูหนูยักษ์ ความร้ายกาจขนาดผักตบชวายังชิดซ้าย มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ แต่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยหลายปีแล้ว เฟิร์นลอยน้ำชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะปกคลุมผิวน้ำอย่างหนาแน่นและซ้อนทับกันเป็นชั้นหนา แย่งพื้นที่พืชน้ำอื่น ๆ ในท้องถิ่น ทั้งยังบดบังไม่ให้แสงแดดและออกซิเจนผ่านลงไปใต้น้ำได้ พืชใต้น้ำจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้และตายลง พลอยส่งผลต่อสัตว์น้ำด้วย จอกหูหนูยักษ์ยังกำจัดยากกว่าผักตบชวา เพราะเวลามันหักก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้จากตาตรงซอกใบ มิหนำซ้ำเมื่อมันตายลงก็จะทับถมลงแหล่งน้ำ ทำให้เกิดการตื้นเขินได้อีก
ปลานิล ปลาน้ำจืดในตระกูลปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเกษตร และด้วยความที่มันปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ๆ จึงทำให้มันขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
ดอกบัวตอง มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลาง ถูกนำเข้ามาปลูกโดยมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ เป็นเหตุให้พืชชนิดนี้บานสะพรั่งไปทั่วแดนดอย พลอยเบียดเบียนพืชดั้งเดิมชนิดอื่นจนขึ้นไม่ได้เลยทีเดียว
ต้นสาบหมา พืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก แพร่พันธุ์โดยอาศัยลมพัดดอกไปที่อื่น มันจะแทรกตัวปกคลุมพื้นที่ทำให้พืชชนิดอื่นขึ้นได้ยาก ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ลำต้นและใบของมันยังมีสารยับยั้งการงอกและชะลอการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิดอีกด้วย
ไมยราบยักษ์ พืชประจำถิ่นของอเมริกากลางและทางตอนเหนือของโคลัมเบียและเวเนซุเอลา มีการนำเมล็ดจากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกเป็นพืชคลุมดินในไร่ยาสูบจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2490 ความที่ปรับตัวได้ดีและขยายพันธุ์เร็ว จึงแพร่ระบาดไปทั่ว อีกทั้งยังอึดและทนจนสร้างปัญหาในการทำลายให้ยากเย็นขึ้นอีก
เอเลียนอยู่ใกล้เรามากกว่าที่คิด ลองหันไปสำรวจรอบตัวดูสักนิด อ้อ...แมลงสาบ ดอกผกากรอง หรือแม้แต่ปลาทองในตู้ นั่นก็เอเลียนสปีชีส์นะจ๊ะ

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์