ผอ.สพป.เขต
1 ชี้ผู้บริหารลำปางมีความสามารถ แต่บางคนยังขาดความเข้าใจในการสร้างทีมงาน
และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งใช้ความเป็นผู้นำมากเกินไปเกิดการไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงาน
แนะหากจะเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ต้องพิจารณาร่วมกัน
เผยกรณีการขับไล่ ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตอารีย์
เป็นบทเรียนสำคัญของผู้บริหาร
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่มีการชุมนุมประท้วงของนักเรียนได้ออกมาขับไล่ผู้บริหารโรงเรียนใน
จ.ลำปางแล้วถึง 2 ครั้ง จึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารทางด้านการศึกษาของ
จ.ลำปาง ว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ผู้สื่อข่าวลานนาโพสต์จึงได้สอบถามความเห็นดังกล่าวไปยัง
นายสมบัติ สุทธิพรมณีวัฒน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1 ในฐานะที่เป็นนักการศึกษา
เกี่ยวกับคุณภาพด้านการศึกษาและการบริหารการศึกษาโดยภาพรวมของ จ.ลำปาง
นายสมบัติ
กล่าวว่า ถ้ากล่าวถึงภาพรวมการศึกษาของ
จ.ลำปาง ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าภาคภูมิใจ เรามีการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ประถมวัย
ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาตามอัธยาศัย
ในส่วนของอุดมศึกษาก็มีหลายแห่ง สำหรับระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา
มีกระจายอยู่ทั้ง 13 อำเภอ แบ่งเป็น 3 เขตพื้นที่ นอกจากนั้นก็ยังมีโรงเรียนเอกชนกระจายอยู่ทุกอำเภอ
แต่ที่อำเภอเมืองจะมีมากที่สุด และยังมีระดับอาชีวศึกษาอีกหลายแห่ง อีกทั้งยังมีโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนการกุศล
เช่น โรงเรียนวัด โดยแต่ละแห่งมีจุดเด่นและมีคุณภาพแตกต่างกันไป
หากพูดถึงคุณภาพการศึกษาของลำปางโดยส่วนใหญ่ถือว่าดี
ในระดับมัธยมศึกษามีหลายโรงเรียนที่อยู่อันดับต้นๆของประเทศ เช่น
โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยอยู่อันดับที่ 6
จากการประเมินคุณภาพทั่วประเทศ คุณภาพสูงกว่าหลายโรงเรียนในกรุงเทพฯ
และยังมีโรงเรียนอื่นๆที่มีคุณภาพชัดเจน เช่น โรงเรียนลำปางกัลยาณี
โรงเรียนอัสสัมชัญ ในระดับอำเภอก็เช่นกัน
เช่น โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม ส่วนโรงเรียนเอกชนก็เช่น
โรงเรียนไตรภพวิทยา โรงเรียนพินิจวิทยา ซึ่งในเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ในการสอบวัดผลการสอบ O-NET ครั้งที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของคะแนนเกือบทุกวิชาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
แสดงถึงคุณภาพทางการศึกษาของลำปางที่ดี ระดับประถมโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ สมศ.
กว่า 90 เปอร์เซ็นต์
มีหลายโรงเรียนที่ได้รับรางวัลระดับภาค
เช่น โรงเรียนอนุบาลลำปางฯ ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับประถมศึกษา
และทราบว่าปีนี้ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศโรงเรียนพระราชทานระดับปฐมวัย
และยังมีโรงเรียนขนาดเล็กได้รับรางวัลพระราชทานระดับประเทศคือ
โรงเรียนบ้านเหล่า อ.ห้างฉัตร
ซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจของเขตพื้นที่การศึกษาและจังหวัดลำปาง ผอ.สพป.เขต 1 กล่าว
เมื่อสอบถามถึงคุณภาพด้านบุคลากร
ผอ.สพป.เขต 1
กล่าวว่า ถ้าวัดด้านการศึกษาบุคลากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จบระดับปริญญาตรี แต่บางโรงเรียนมีครูไม่เพียงพอ
ขาดครูที่จบในระดับปริญญาตรีในสาขาที่สำคัญ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์
และภาษาอังกฤษ ทุกเขตพื้นที่ในจังหวัดได้แก้ไขโดยการพัฒนาครูในหลายรูปแบบ
ทั้งการศึกษาทางอินเตอร์เน็ต การประชุมอบรม
ส่งเสริมให้ครูได้ทำนวัตกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการทำวิจัย บางโรงเรียนได้จัดหาทุนสำหรับจ้างบุคลากรมาจากที่อื่นมาช่วยสอน
รัฐบาลก็ได้แก้ปัญหาในระดับหนึ่งโดยการจัดให้มีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนยังได้รับความร่วมมือจาก
ม.ราชภัฎลำปาง ทำโครงการพัฒนาการเรียนการสอนและสื่อนวัตกรรมอีกหลายโครงการ
ถือว่าลำปางโชคดี
หากมองถึงการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน
คุณภาพของผู้บริหารโรงเรียน
ถ้ามองโดยส่วนใหญ่อยู่ในคุณภาพที่ดี ซึ่งลำปางผ่านการประเมินในเรื่องของความสามารถด้านการบริหารจัดการมากกว่า
90 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน แต่อาจจะมีบ้างบางส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่ สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน 2 แห่งที่เกิดการประท้วงขับไล่ผู้บริหารขึ้น
ซึ่งผู้บริหารของทั้งสองโรงเรียนเป็นคนมีความสามารถ มีคุณภาพ แต่ต้องศึกษาให้ลึกว่าเหตุเกิดเพราะอะไร อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมายาวนาน
นายสมบัติ
กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนผดุงวิทย์
เป็นกรณีของหลวงพ่อเจ้าอาวาสผู้ได้รับใบอนุญาต
ซึ่งท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงได้ให้คนที่ไว้วางใจเข้ามาช่วยงาน
เมื่อคนนอกเข้ามาทำงานในองค์กร โดยไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆในนั้น
เป็นธรรมชาติที่คนในองค์กรจะไม่พึงพอใจ เมื่อครูเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับสวัสดิการที่ดี จึงเกิดการเรียกร้องให้คนไม่เกี่ยวข้องถอยออกไป ทุกวันนี้คิดว่าได้แก้ไขปัญหากันเรียบร้อยแล้ว โดยการประสานงานของหลายฝ่ายทั้ง
สพป.ลำปางเขต 1 ศูนย์ดำรงธรรม มทบ.32 สนง.พระพุทธศาสนาลำปาง
ด้านโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี ผู้บริหารหญิงของโรงเรียนเป็นคนเก่ง
มีความสามารถทางด้านวิชาการสูง
มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งการบริหารการศึกษามีหลายตัวแปรที่จะทำให้เดินหน้าไปได้
บุคลากรก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ ซึ่ง
ผอ.ยังไม่สามารถประสานความสัมพันธ์ของบุคลากรในโรงเรียนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ กิจกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงเชื่อว่า
ผอ.มีเหตุผล แต่ทำให้ทางบุคลากรและนักเรียนมีความรู้สึกว่าแย่ลง โดยทางเด็กนักเรียนไม่ได้กล่าวหาว่า ผอ.ทุจริต
เพียงแต่เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และ
ผอ.ก็ไม่ได้มีการชี้แจงให้เด็กเข้าใจ จึงเกิดความไม่พอใจกันขึ้นจนถึงการประท้วง ทาง
สพป.เขต 1 ก็ได้ไปร่วมรับทราบปัญหา ช่วยดูแล และเก็บข้อมูลรายงานให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
(สพฐ.)ทราบ
ในที่สุดก็แก้ปัญหากันได้โดยทาง สพฐ.ได้ส่ง
ผอ.สำนักการศึกษาพิเศษมาแก้ปัญหาร่วมกัน
เนื่องจากไม่มีหน่วยงานที่สูงกว่าในระดับจังหวัด และได้รับปากว่าจะย้าย
ผอ.ท่านนี้ออกไปเรื่องจึงยุติได้
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายสมบัติ แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ
การสร้างทีมงาน ผู้บริหารบางท่านอาจจะเก่งในด้านในด้านหนึ่ง
แต่ถ้าบริหารจัดการคนไม่เก่งก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องขึ้นก็คือเรื่องของความรู้สึก
ตามจริงแล้ว ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีก็ไม่ได้มีความผิดในเชิงระเบียบกฎเกณฑ์
ความซื่อสัตย์ก็น่าเชื่อถือได้ ด้านศีลธรรมจริยธรรมก็ไม่มีปัญหาด้านนี้ แต่การที่ไม่พูดคุยกับบุคลากรและนักเรียน
หรือการใช้คำพูดไม่เหมาะสมขัดกับความรู้สึกของครูและนักเรียน จึงทำให้เกิดปัญหา
เมื่อสะสมมากขึ้นก็ทำให้ภายในองค์กรเกิดการแตกหักขึ้นได้
เนื่องมาจากความไม่เข้าใจกัน เรื่องบุคลากรก็มีส่วนในการเกิดปัญหา ซึ่งเมื่อ
ผอ.เข้ามาบริหารงานก็อาจจะมีบุคลากรบางคนได้รับผลกระทบทางด้านผลประโยชน์ เช่น
เรื่องการทำงานเมื่อก่อนอยู่สบายเกินไป แต่พอ
ผอ.เข้ามาเร่งรัดเรื่องคุณภาพการสอนก็ต้องรีบเร่งทำงานมากขึ้น
อาจจะเป็นเรื่องจริง
ลำพังครูก็คงไม่ทำให้เด็กลุกฮือขึ้นมาถึงขนาดนี้ได้
จะต้องมีเหตุที่กระทบไปถึงในส่วนของนักเรียนด้วย ผอ.สพป.เขต 1 กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าคิดว่าการกระทำของเด็กเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบหรือไม่ ผอ.สพป.เขต 1 กล่าวว่า ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ
เด็กทั้งสองโรงเรียนไม่มีการเชื่อมโยงกัน
หากมองไปที่โรงเรียนผดุงวิทย์การเริ่มต้นจะเกิดจากผู้ใหญ่ ซึ่งมีครูร่วมเป็นผู้นำ
ส่วนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตอารีย์ เป็นการเริ่มต้นของกลุ่มนักเรียน
แต่ครูจะเข้ามาสนับสนุนภายหลัง
แต่เด็กก็สามารถเรียนรู้ในเรื่องราวลักษณะเช่นนี้ได้หลายช่องทาง
ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ การติดตามข่าวสารต่างๆ
มองในแง่ดีก็เป็นการแสดงออกในการเรียกร้องสิทธิที่ถูกที่ควรหากไม่ได้สร้างความรุนแรง
หากเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรม
ซึ่งมีวิธีทำได้หลายทาง เช่น แจ้งให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าไปแก้ปัญหา เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขก็มีการรวมกลุ่มกัน
แต่ไม่แสดงความก้าวร้าว
เด็กโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีโดยรวมแล้วก็ไม่ได้ก้าวร้าว ดูแล้วเป็นการแก้ปัญหาพัฒนาการของสังคม
หากไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นเด็กก็อาจจะสะสมความไม่เข้าใจ ความรู้สึกกดดัน
ที่แสดงออกแบบนี้ ดีกว่าไปแสดงออกในด้านอื่นที่เป็นด้านลบมากกว่า
ผู้นำนักเรียนถือว่าเป็นเด็กที่มีความรู้ความสามารถ การพูดจาแสดงความสมเหตุสมผลได้ดีมาก
นายสมบัติ
ยังได้กล่าวแสดงข้อแนะนำไปยังผู้บริหารด้วยว่า
ในส่วนของ ผอ.โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีเป็นคนดีและมีความตั้งใจสูงในการพัฒนาโรงเรียน
แต่ก็มีข้อไม่สมบูรณ์ในเรื่อง การชี้แจงทำความเข้าใจ การไม่พัฒนาทีมงาน เรื่องความขัดแย้งของบุคลากรในองค์กรนั้น
เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกแห่ง หากมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นในโรงเรียนก็มักจะมีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับ
แต่ถ้ามีการชี้แจง ให้ความเป็นธรรม และให้เหตุผลว่าทำไปเพราะสาเหตุใด
คนที่ไม่ยอมรับก็คงไม่มีพลังพอที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านได้ จะไปโทษว่าบุคลากรไม่ดีก็ถือว่าไม่ถูกต้อง
เพราะทางผู้บริหารเองที่ต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรในองค์กรของตัวเองให้ได้ หากพบว่าสิ่งใดไม่ดีก็ต้องมีการแก้ไข
มีเทคนิควิธีการในการบริหาร มีการเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
อาจจะในรูปแบบของการประชุมสัมมนา
เรื่องราวต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สั่งการเพียงอย่างเดียว
แต่จะต้องทำความเข้าใจและให้บุคลากรช่วยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนา
ทำการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งขององค์กรร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย
และให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาและบุคลากรให้ทันตามโลกในยุคปัจจุบัน
เรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆแล้ว
ผอ.ต้องไปชี้แจงกับเด็กด้วยตนเอง ไม่ควรหนีปัญหา
ควรรับฟังความคิดเห็นของเด็กด้วย
สิ่งที่สำคัญในการจะอยู่ร่วมกันได้ง่ายๆ 3 ข้อ ประกอบด้วย เข้าใจ คือ ต้องศึกษาวิเคราะห์ เข้าถึง คือ ให้ทุกคนรับทราบถึงปัญหา พัฒนา คือ ทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้
สำหรับเหตุการณ์นักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตอารีย์
ออกมาขับไล่นางสุรางค์ วิสุทธิสระ ผอ.โรงเรียน ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.58
ที่ผ่านมา โดยทางนักเรียนได้ร่างหนังสือถึงความไม่พอใจในการกระทำของ ผอ.โรงเรียน
มากถึง 24
ข้อ เช่น ไม่มีงบประมาณด้านการเรียนการสอน ไม่สนใจนักเรียน สร้างแต่อาคาร ห้องน้ำไม่เพียงพอ ของใช้ในเรือนนอนเสียเก็บเงินนักเรียนซ่อม นักเรียนไม่สบายไม่ยอมให้ไปโรงพยาบาล ลดปริมาณของใช้ประจำเดือน ไม่รับฟังความคิดเห็นนักเรียน ไม่ประหยัดไฟทั้งที่บอกให้นักเรียนประหยัด
ไม่รับนักศึกษาฝึกสอน
ส่งเสริมให้เรียนวิชาพฤกษศาสตร์แต่ตัดต้นไม้ในโรงเรียนทิ้ง
ถมสระทำลายระบบน้ำเสีย เป็นต้น ทางด้านนายประภาส
อึ้งตระกูล ป้องกันจังหวัดลำปาง ได้เดินทางมาเจรจากับเด็กนักเรียนเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าวไปในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งทางกลุ่มนักเรียนยินยอมสลายตัวกลับไปเรียนตามปกติ แต่ทางกลุ่มนักเรียนก็ได้ออกมารวมตัวกันอีกครั้งในวันที่
27 ม.ค.58 เพื่อขับไล่ผอ.โรงเรียน ให้ได้ หลังจากช่วงเย็นวันที่ 26 ม.ค. นางสุรางค์ วิสุทธิสระ ผอ.โรงเรียนได้ไปรับตัวผู้ปกครองของแกนนำนักเรียนมาที่โรงเรียน
และให้นำตัวเด็กนักเรียนชั้น ม.6 ที่เป็นแกนนำกลับบ้านไปก่อน
จึงทำให้เด็กเกิดเสียความรู้สึกที่ทางผู้บริหารโรงเรียนรับปากว่าจะไม่ลงโทษใดๆ
แต่กลับแจ้งเรื่องให้ผู้ปกครองทราบ จึงยืนยันจะให้
ผอ.ย้ายออกจากโรงเรียนโดยเร็วที่สุด
กระทั่งเวลา
17.30 น.วันที่ 27 ม.ค.58 นายพะโยม ชิณวงศ์ ผอ.สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ
เดินทางมาที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตอารีย์ฯ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง
เพื่อรับฟังปัญหาของนักเรียน
โดยได้ร่วมประชุมกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ป้องกันจังหวัด
ผอ.สำนักพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 1
รอง ผบ.มทบ.32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี
เจ้าหน้าที่ตำรวจ และรอง ผอ.โรงเรียน เพื่อร่วมกันหาทางออก และได้รับฟังปัญหาจากตัวแทนนักเรียน
จากนั้นนายพะโยมได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาตามที่นักเรียนร้องขอ คือย้าย ผอ.โรงเรียน
ภายในวันที่ 28 ม.ค.58
ซึ่งกลุ่มนักเรียนต่างดีใจพากันปรบมือ และพร้อมใจกันกล่าวขอบคุณ
นายพะโยม
ชิณวงศ์ กล่าวว่า หากไม่มีการย้าย
ผอ.ออกไป ผอ.ก็อยู่ที่นี่ลำบาก เพราะเด็กเกิดความไม่ศรัทธาไปแล้ว
ซึ่งต้องดูแลให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการทำผิดร้ายแรง
แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า ในส่วนที่รับกันไม่ได้แล้วก็ต้องแก้ปัญหา
โดยการเปลี่ยนผู้บริหาร
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1014 ประจำวันที่ 30
มกราคม - 5
กุมภาพันธ์ 2558)