บ างคราวที่มีโอกาสไปให้ข้อมูลกับคณะทำงานปฏิรูปสื่อ
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.).ทำให้เข้าใจได้ว่า การผลักดันเรื่องการปฏิรูปสื่อที่ดูคล้ายแม่น้ำแยกสาย
ไผ่แยกกอนั้น มาจากฐานคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
สื่อบ้านนอก
อาจจะยังไม่ร้อนหนาวกับเรื่องนี้มากนัก
เพราะอิทธิพลของทหารในท้องถิ่นซึ่งไม่แน่ใจนักว่าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่กำกับ
ดูแลสื่อในระดับใด
หรือสำคัญผิดว่าจะต้องบังคับให้สื่อโดยเฉพาะสื่อวิทยุกระจายเสียงต้องออกอากาศรีรันเดินหน้าประเทศไทย
หรือรายการที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏตัวในสื่อ แต่หากพิจารณาภาพใหญ่ของสื่อไม่ว่าอยู่ในภูมิภาคไหน
มรดกเผด็จการที่ คสช.ทิ้งไว้ ในรูปประกาศ คสช.บางฉบับ
จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของสื่อซึ่งก็หมายถึงเสรีภาพของประชาชนในระยะยาวอย่างแน่นอน
เมื่อ
สปช.ฝ่ายหนึ่งเข้าใจเพียงการปกป้องและรักษาฐานที่มั่นของสื่อภาครัฐ
หรือการรักษาไว้ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์เดิม ขณะที่อีกฝ่ายมองไปถึงการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง
ด้วยความเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนไป และเห็นว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพ
เป็นสาระสำคัญที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา ความสับสนวุ่นวายก็เกิดขึ้น
สุดท้ายปลายทางบทสรุปของการปฏิรูปสื่อ
อาจยังต้องลากกฎหมายเผด็จการที่ออกในนาม คสช.บางฉบับไปด้วย
และกว่าจะยกเลิกได้ต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี เช่นเดียวกับ
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42
ผมได้เห็นความพยายามของตัวแทนสื่อใน
สปช.เช่น คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยกเลิก ประกาศ
คสช.ฉบับที่ 97
และ 103 ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่เป็นทางการไปจากองค์กรสื่อ
แต่จนถึงขณะนี้ ประกาศทั้งสองฉบับก็ยังคงอยู่
และหายไปพร้อมๆกับประเด็นการปฏิรูปสื่อที่หลากหลายมากขึ้น
มีการโต้แย้งกันมากขึ้น
ความคิดที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าธงคือการปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยผ่านบทบาทสื่อ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือประโยชน์สาธารณะ
ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวและการรักษาอำนาจ การมีอยู่ของประกาศฉบับที่ 97 และ
103 คือการรักษาอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.ซึ่งผิดกาลเทศะ
เมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ความที่กำหนดในประกาศฉบับที่
97 ห้ามไม่ให้บุคคล รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน
และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการโทรทัศน์และรายการวิทยุ
เชิญคนหรือกลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการ หรือคนที่เคยเป็นข้าราชการ
รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ
มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิด หรือขยายความขัดแย้ง
บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม นำไปสู่การใช้ความรุนแรง
ในขณะเดียวกัน
ในประกาศฉบับที่ 103
พูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช.โดยมีเจตนาไม่สุจริต
เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
เรื่องหลังนี้
คสช.ได้มีหนังสือให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์
เสนอบทความที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของ คสช.แล้ว ผลการสอบสวนไม่พบความผิด
ส่วนเรื่องข้อห้ามในประกาศฉบับที่
97
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทุกสื่อยังคงฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้
แต่การนำบุคคลต้องห้ามมาให้ความคิดเห็น
อีกทั้งปัญหาการตีความเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่บิดเบือน สร้างความสับสน
จนนำไปสู่ความรุนแรงนั้น ก็ยังคงเป็นปัญหาในอนาคต เพราะการตีความที่ต่างกัน นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
สามารถสั่งห้ามหรือระงับการเชิญบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อ คสช.ได้
เป็นปัญหาการคุกคามและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน
ข้อห้ามในประกาศทั้งสองฉบับ
ถูกกำหนดขึ้นในช่วงสถานการณ์ล่อแหลม หลังยึดอำนาจใหม่ๆ
การกุมสภาพข้อมูลข่าวสารอย่างเบ็ดเสร็จจึงเป็นความจำเป็น ซึ่งในแง่อำนาจรัฐ
คสช.ก็ยังยึดครองพื้นที่สาธารณะในลักษณะผูกขาดสื่อต่อเนื่องมาจนวันนี้
ในรูปของทีวี คสช. แต่เมื่อการรับรู้ความมีอยู่ของ คสช.เป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว
ความจำเป็นที่จะต้องตอกย้ำอำนาจในการกำกับ ควบคุมสื่อ โดยผ่านประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ
103 จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องพิจารณาอีก
อย่าให้
ประกาศทั้งสองฉบับ กลายเป็นก้อนกรวดในรองเท้า ที่สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ สร้างความพะรุงพะรังให้กับการปฏิรูปสื่อโดยไม่จำเป็นเลย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1014 ประจำวันที่ 30
มกราคม - 5
กุมภาพันธ์ 2558)