วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดับไฟบ่อขยะ ไหม้ติดต่อ2ปี


 

ศูนย์ประสานงานและบริหารจัดการขยะ อ.เกาะคา เตรียมผุดโครงการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะร่วมกับ ม.มหิดล เบื้องต้นใช้งบประมาณกว่า 9 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาขยะที่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี  หลังพบว่าเกิดไฟลุกไหม้บ่อฝังกลบขยะในพื้นที่ 2 ปีติดต่อกัน   

หลังจากเกิดปัญหาไฟไหม้ศูนย์ประสานงานและการบริหารจัดการขยะ บ้านเหล่าแม่ปูน หมู่ 7 ต.ศาลา อ.เกาะคา ซึ่งเป็นบ่อฝังกลบขยะที่ใช้ร่วมกันของเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเกาะคา เทศบาลตำบลท่าผา เทศบาลตำบลสบยาว เทศบาลตำบลท่าผา เทศบาลตำบลวังพร้าว และเทศบาลตำบลน้ำโจ้ อ.แม่ทะ  ทางศูนย์ประสานงานฯได้เร่งหาวิธีแก้ปัญหา โดยการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะ เพื่อตั้งเป้าลดปริมาณขยะลง 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมด

น.ส.เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา  เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปัญหาการเกิดไฟไหม้ศูนย์ประสานงานและการบริหารจัดการขยะ  เมื่อวันที่ 1 ก.พ.58 ที่ผ่านมา สาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานได้ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ อาจจะเกิดจากแก๊สใต้ดินที่สะสมอยู่เป็นเวลานาน เมื่อเกิดความร้อนทำให้มีประกายไฟปะทุขึ้นจึงเกิดการลุกไหม้ ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นขยะแห้ง เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการติดไฟ จึงลุกลามออกไปบริเวณกว้างกินพื้นที่ประมาณ 14 ไร่จากพื้นทีทั้งหมด 28 ไร่  ส่วนอีกประเด็นหนึ่งอาจจะมีคนลักลอบเข้ามาเผา ซึ่งทางศูนย์ฯจะต้องมีการประชุมสรุปหาสาเหตุกันอีกครั้ง  จากปัญหาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบกับชาวบ้านในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องควันจากการเกิดไฟไหม้ แต่หากเป็นช่วงปกติแล้ว ปัญหาจะน้อยมาก ทั้งเรื่องกลิ่นและเรื่องแมลงวันจะไม่ค่อยมี เพราะส่วนใหญ่จะเป็นขยะแห้งที่นำมาทิ้งในพื้นที่

สำหรับการนำขยะเข้ามาทิ้งในพื้นที่แห่งนี้ ทางเทศบาลทั้ง 6 แห่ง ประชุมตกลงกันแล้วว่า ก่อนที่จะนำขยะมาทิ้ง ได้มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านแยกขยะที่ต้นทางก่อน  จะเห็นได้ว่าขยะส่วนใหญ่เป็นขยะแห้ง ไม่มีแมลงวัน และกลิ่นไม่ได้แรงมากนัก ส่วนขยะเปียกประเภทเศษอาหารจะสอนวิธีให้ชาวบ้านนำไปทำปุ๋ยในวงซีเมนต์ และบางส่วนนำไปเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งผลจากการคัดแยกขยะในครัวเรือนทำให้ขยะที่มีมากถึง 38ตันต่อวัน ลดลงเหลือ 21 ตันต่อวัน  ส่วนในเขตเทศบาลตำบลเกาะคา จากขยะ 10 ตันต่อวันลดลงเหลือเพียง 2.8 ตันต่อวันเท่านั้น  น.ส.เพ็ญภัค กล่าว

เมื่อสอบถามถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว  นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา กล่าวว่า  ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการคัดแยกขยะปลายทาง โดยขยะแห้งประเภทพลาสติก โฟม ที่เรียกว่าขยะ RDF (Refusem Derived Fuel)จะส่งขายให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยลำปาง จำกัด ในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง ส่วนขยะที่ยังเหลืออยู่ก็จะทำการฝังกลบ ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้ให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลออกแบบโรงคัดแยกขยะแล้ว ซึ่งจะทำการก่อสร้างภายในศูนย์ฯแห่งนี้ ใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ งบประมาณในการก่อสร้างเฉพาะตัวโรงคัดแยกอยู่ที่ 5 ล้านบาท แต่หากรวบระบบสายพานต่างๆแล้วคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท  โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเริ่มดำเนินการให้ได้ในปี 2558 นี้

“สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ จะต้องจัดการขยะเก่าที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยคัดแยกชิ้นที่เป็นขยะ RDF สามารถขายให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ได้  ส่วนขยะใหม่จะรณรงค์และส่งเสริมให้มีการคัดแยกที่ต้นทาง ก่อนจะเข้าสู่โรงงานคัดแยกขยะอีกครั้ง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะทำควบคู่กันไป เชื่อว่าขยะจะลดลงอีก 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมด” นายกเทศมนตรี ต.เกาะคา กล่าว

สำหรับเหตุการณ์เกิดไฟไหม้บ่อฝังกลบขยะในพื้นที่ อ.เกาะคา เขตบ้าน เหล่าแม่ปูน หมู่ 7 ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.58  โดยทางเทศบาลได้ระดมรถดับเพลิงจาก เทศบาลตำบลเกาะคา เทศบาลตำบลท่าผา เทศบาลตำบลสบยาว เทศบาลตำบลท่าผา และเทศบาลตำบลวังพร้าว  ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยเขต 10 ลำปาง ทยอยสับเปลี่ยนกันไปดับเพลิงที่ลุกไหม้กองขยะ ในพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ จากทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 28 ไร่  โดยไฟได้ลุกลามไปบริเวณกว้างส่งผลทำให้มีกลุ่มควันโพยพุ่งไปทั่ว  โดยมีนางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา และนายวุฒิกร พิจอมบุตร ปลัดเทศบาลตำบลเกาะคา เข้ามาอำนวยการดับไฟไหม้บ่อขยะครั้งนี้  พบว่ากองขยะที่ลุกไหม้เหล่านั้นยังคงคุกรุ่นไปด้วยกลุ่มควันและยังมีไฟไหม้บางจุดที่อยู่ลึกใต้ลงไปในกองขยะ เจ้าหน้าที่ต้องฉีดน้ำเลี้ยงอัดลงไปเพื่อให้ไฟดับ พร้อมกันนี้ยังได้นำรถแบ็คโฮ จำนวนสองคันมา เปิดเส้นทางเข้าไปยังจุดที่ไฟไหม้ที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน เพื่อให้รถดับเพลิงเข้าไปฉีดน้ำด้านในได้  แต่ถือว่าโชคยังดีที่กลุ่มควันไฟจากการเผาไหม้ขยะในครั้งนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงกับชาวบ้าน เนื่องจากบ่อขยะอยู่ห่างจากชุมชน

 นายวุฒิกร พิจอมบุตร ปลัดเทศบาลตำบลเกาะคา กล่าวว่า บ่อขยะแห่งนี้เป็นบ่อทิ้งขยะเก่า ทำมาแล้วกว่า 30 ปี และมีหลายหน่วยงานมาทิ้งทั้งหมด 6 แห่ง ท้องถิ่นในเขตพื้นที่ อ.เกาะคา 5 แห่งและ ท้องถิ่นในพื้นที่ อ.แม่ทะ  1 แห่ง โดยจะใช้ระบบฝังกลบ แต่ที่ผ่านมาปริมาณขยะที่มาก อีกทั้งส่วนใหญ่จะเป็นถุงพลาสติกและขวดน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงติดไฟง่าย เมื่อเกิดประกายไฟจึงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ทางเทศบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบน้อยที่สุด  กระทั่งสามารถดับไฟและควันทั้งหมดได้วันที่ 3 ก.พ.58

สำหรับ บ่อฝังกลบขยะแห่งนี้เคยถูกไฟไหม้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 เม.ย.57 โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการลับลอบเข้ามาเผาขยะในพื้นที่ เนื่องจากคนงานที่เฝ้าดูแลบ่อขยะพบว่าลุกกุญแจที่ล็อกประตูด้านหน้าผิดปกติ โดยการนำกระดาษมาอุดกุญแจไว้ และเมื่อเปิดประตุพบว่าไฟได้ลุกไหม้กองขยะไปแล้วจำนวนมากและกำลังจะลุกลาม จึงรีบแจ้งขอความช่วยเหลือ ทางเทศบาลจึงได้ประสานขอรถดับเพลิงจากเครือข่ายทั้ง 6 แห่งเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1015 ประจำวันที่ 6 - 12  กุมภาพันธ์ 2558)   
 



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์