จ.ลำปาง
ดึง GISTDA
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
เข้าร่วมตรวจสอบการเกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ลำปาง ขณะที่ป่าไม้ลำปางใช้อาสาพารามอเตอร์ช่วยบินสำรวจพื้นที่ที่เกิดไฟป่าเพื่อความรวดเร็วในการแจ้งเจ้าหน้าที่ในการเข้าดับไฟก่อนลุกลาม ด้านกองบัญชาการเฉพาะกิจควบคุมไฟป่า
กองทัพภาคที่ 3 ติดตามงานควบคุมไฟป่าและหมอกควันจังหวัดลำปาง พบสัปดาห์ที่ผ่านมามีค่า PM10 เกินมาตรฐาน 2 วัน ตรวจพบจุดความร้อน 20 จุด ซึ่งไฟป่ายังไหม้ลุกลามแนวสันดอยพระบาทอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน
6 วัน
เมื่อวันที่
16 ก.พ. 58 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง
พ.อ. วีระพงษ์ พันธจักร เสนาธิการ กองบัญชาการเฉพาะกิจควบคุมไฟป่า กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจติดตามงานควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2558 ของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในพื้นที่สำคัญ เช่น พื้นที่โครงการพระราชดำริฯ
เพื่อ ติดตาม เตรียมการป้องกันและดับไฟป่า
ในพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดเหตุไฟไหม้ป่าเป็นประจำ ตรวจความพร้อมของกำลังพล, เครื่องมือ, การสื่อสาร
รวมทั้งรับทราบปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน โดยมีนายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
พร้อมด้วยส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานผลการดำเนินงาน
ควบคุมป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดลำปาง
นายมงคล
สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า
สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดลำปางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9-15 ก.พ.58 ในด้านข้อมูลคุณภาพอากาศ
ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ PM10 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน 120
ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร โดยมีวันที่คุณภาพอากาศ ค่า PM10 เกินมาตรฐาน 2 วัน คือวันที่ 12 และ 13 ก.พ.58 ค่าPM10 เท่ากับ 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนข้อมูลจุดความร้อน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ได้เข้าร่วมตรวจสอบสามารถวัดได้
จำนวน 20 จุด โดยวันที่ 15 ก.พ. เกิดจุดความร้อนมากที่สุดจำนวน 15 จุด
สำหรับผลการรับแจ้งเหตุไฟไหม้ป่า รับแจ้งเหตุจำนวน 29 ครั้ง แยกเป็นรับแจ้งทางโทรศัพท์ 21 ครั้ง
และรับแจ้งทางแอปพลิเคชันไลน์ 8 ครั้ง ซึ่งศูนย์รับแจ้งเหตุฯ
ได้ตรวจสอบข้อมูลและสั่งการหน่วยปฏิบัติในพื้นที่รับผิดชอบ
เข้าระงับดับไฟทันทีเพื่อมิให้ไฟลุกลามขยายวงกว้าง
ทั้งนี้
จังหวัดลำปางยืนยันจะดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างดีที่สุด
โดยเน้นมาตรการให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน
ให้ตระหนักถึงปัญหาและให้ความร่วมมือกับทางราชการในการป้องกันแก้ไขปัญหา
ส่วนมาตรการทางกฎหมายนั้น จะนำมาใช้กับประชาชนที่ลักลอบเผาป่าให้น้อยที่สุด
นอกจากนั้นในส่วนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดลำปาง ร่วมกับศูนย์ไฟป่าม่อนพระยาแช่
ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง นำอาสาสมัครพารามอเตอร์ขึ้นบินสำรวจพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
การเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นแต่ละครั้งจะลุกลามเป็นพื้นที่กว้างเนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนภูเขาและป่าลึก
กว่าที่จะมองเห็นและระดมกำลังเดินเท้าขึ้นไปดับไฟต้องใช้เวลานานทำให้ไฟไหม้ลุกลามเป็นวงกว้าง
ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และศูนย์ดับไฟป่าม่อนพระยาแช่จังหวัดลำปางจึงได้ประสานงานขอความร่วมมือจากอาสาพารามอเตอร์
จำนวนสองนายในการระบุพิกัดบนแผนที่เพื่อช่วยบินสำรวจบนอากาศในพื้นที่บนดอยพระบาท
เขตเชื่อมต่อใน ต.พระบาท ต.พิชัย ต.แม่เมาะ ซึ่งมักจะเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง โดยระหว่างขึ้นบิน
เมื่อนักบินเห็นว่าจุดไหนที่เกิดควันไฟหรือไฟป่าขึ้นก็จะใช้วิทยุแจ้งลงมายังศูนย์ดับไฟป่า
เพื่อให้ประสานกับชุดเสือไฟที่ประจำอยู่ตามฐานต่างๆรวม 10 ฐาน เข้าดับไฟได้ทันที ทำให้รวดเร็วในการเข้าถึงที่เกิดไฟป่าและทำการดับได้ทันท่วงทีก่อนที่ไฟป่าจะลุกลาม
โดยพบว่าได้เกิดไฟป่าประทุบริเวณแนวสันเขาดอยพระบาท ส่วนป่ารุกขชาติ
และวนอุทยานแห่งชาติม่อนพระยาแช่ จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการดับไฟ
โดยเมื่อวันที่
17 ก.พ.58 นายสุเทพ พุทชา ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่า
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ได้ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่
ผสมระหว่างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าดอยพระบาท
ม่อนพระยาแช่ ดับไฟป่าแม่เมาะ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทหารจากมณฑลทหารบกที่
32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบด้วย ชาวบ้านอิ่วเมี่ยน
บ้านผาลาด บ้านบุญเกิด บ้านโทกหัวช้าง บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง และชาวบ้านบ้านผาด
บ้านแม่ทะ ต.แม่ทะ อ.แม่มะ จ.ลำปาง กว่า 100 คน ได้กระจายกำลังออกไปดับไฟป่าที่ลุกไหม้
บริเวณดอยพระบาททั้งสองฝากฝั่งของดอยพระบาท ที่ลุกลามไหม้อย่างรวดเร็ว โดยมีการแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 3 ชุด กระจายไปดับไฟป่าที่ลุกไหม้ในแต่ละจุด
ซึ่งการทำงานค่อนข้างจะลำบากเนื่องจากการเข้าไปถึงจุดที่เกิดไฟไหม้นั้น
มีหุบเขาและสูงชัน จึงเป็นอุกสรรค์ในการทำงานครั้งนี้
ด้านนายจิระ นุชนิยม
หัวหน้าหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าลำปาง กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ไฟป่าได้ประทุตั้งแต่วันที่
13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้ลุกไหม้ทางฝั่งทิศตะวันออกของดอยพระบาท คือฝั่ง
อ.แม่ทะ หลังเกิดเหตุก็ได้ระดมกำลังเข้าไปดับ แต่การทำงานเข้าไปถึงยากทำให้ไฟลุกลามอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งสภาพอากาศที่กลางวันร้อนจัด ทำให้สภาพร่างกายเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต่างเหนื่อยล้า
โดยแต่ละวันจะให้ปฏิบัติงานจนถึง 3 ทุ่ม จากนั้นก็ถอนกำลัง และช่วงเช้าก็จะเข้าไปดับใหม่
และจากการทำงานพบว่ามีชาวบ้าน โทกหัวช้าง
ที่เป็นอาสาสมัครเข้าไปดับไฟป่า เกิดพลัดหลงกับทีม และหาทางออกไม่เจอเนื่องจากมืดและเป็นหุบเขา
แต่โชคยังดีที่สัญญาณโทรศัพท์ และวิทยุสื่อสารติดต่อกันได้ตลอด จึงให้ผู้ที่พลัดหลังเดินเท้า
ขึ้นเข้าไปยังจุดที่มีเสาสัญญาณโทรทัศน์ ตั้งอยู่บนยอดเขา
จากนั้นก็พากันเดินทางไปรับออกมาได้อย่างปลอดภัย
ถือว่าโชคยังดีในการทำงานครั้งนี้ไม่มีใครได้รับอันตราย
ทั้งนี้
การดับไฟป่าที่เกิดขึ้นตามแนวสันดอยพระบาท ต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 1
สัปดาห์ เนื่องจากต้องใช้การเดินเท้าเข้าไปในป่าลึก
และบางจุดที่ดับแล้วก็เกิดความร้อนและประทุขึ้นมาอีก ทำให้ไฟไหม้ลามอย่างต่อเนื่อง
แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ลดละความพยายาม ได้ดำเนินการกันจนเสร็จในวันที่ 19 ก.พ.58
รวมเวลา 7 วัน
ขณะที่
นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ได้สั่งการให้ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอทุกอำเภอ
และศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
มีความพร้อมในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ
รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่า
การเผาป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษหนักทั้งจำคุกและปรับ
สำหรับประชาชนที่พบเห็นไฟไหม้ป่า หรือการเผาในพื้นที่โล่ง
สามารถแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0 5423 0549 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน