วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แม่เมาะ สงครามยังไม่สิ้น !




คำ  พิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเยียวยาแก้ไข ในคดีที่นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม  318 คน ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 ราย

ด้านหนึ่งนี่ก็เป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากร และการรุกรานจากคนต่างถิ่น ในนามของการพัฒนา ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ด้านหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ร่วม ระหว่างหน่วยงานรัฐที่มักมีความคิด และทัศนคติว่าชาวบ้านเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่พวกเขาจะทำสิ่งใดก็ได้

แน่นอนว่า โครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานที่นับวันจะสูญหายไปจากโลก

ไม่มีข้อสงสัยว่า กฟผ.ทำโครงการนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง แต่ความใส่ใจต่อชีวิต สุขภาพอนามัยของชาวบ้านที่น้อยเกินไป และความไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องล้มตายลงไปราวใบไม้ร่วง อย่างน้อย 32 คน จากการรับสารพิษในโครงการเหมืองลิกไนต์ การให้ค่าของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกัน ทำให้จนถึงวันนี้ กฟผ.ต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำ แม้การปฎิบัติตามคำสั่งทั้ง 4 ข้อ ของศาลจะมิอาจเรียกชีวิตที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ก็ตาม
ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง

ประการหนึ่ง ให้ติดตั้งม่านน้ำ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ เพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ

สองให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่นำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยให้อพยพออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 

สาม ให้ฟื้นฟูขุมเหมือง ให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
สี่ ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัด และปลูกเสริมทุก 18 เดือน ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ

และห้า ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน และให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่กันชน ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ โดยให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ ขณะที่การปล่อยดินจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่ต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

น่าสนใจท่าทีของนายประภาส วิชากูล รองผู้ว่าฯกฟผ. ที่ยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่ขอให้ฝ่ายกฎหมายได้ตีความคำพิพากษาก่อนว่า จะปฎิบัติอย่างไร ซึ่งว่ากันตามตัวอักษร คำสั่งศาลค่อนข้างชัดเจนในทุกข้อว่าให้ปฎิบัติอย่างไร  ยกเว้นบางถ้อยคำ เช่น  คำว่า “ควรจัดทำเป็นบังเกอร์” เพื่อไม่ให้ดินพัดผ่านไปยังชุมชน อาจตีความได้ว่า เป็นเพียงข้อแนะนำของศาล เช่น คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงวิกฤติการเมือง ที่มีคนตีความว่า เป็นเพียงข้อแนะนำไม่ใช่คำสั่ง ซึ่งว่าโดยหลักการ เมื่อศาลวินิจฉัยสำนวนแล้ว จะต้องมีคำสั่งชัดเจนว่าให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไร

ประเด็นเรื่องการตีความ ที่อาจแปรเจตนาได้ว่า ต้องการถ่วงเวลา และไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลให้ครบถ้วน ยังอาจโยงไปถึงคำสั่งข้อ 3 คล้ายกับว่า กฟผ.จะไม่ยอมสูญเสียสนามกอล์ฟ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์และการใช้กีฬาของคนชั้นสูงมาย้ำความแตกต่างในฐานะทางสังคมของคนทำงานแม่เมาะ กับชาวบ้าน

กระแสความเคลื่อนไหวของแคดดี้ราว 200 คน ที่จะคัดค้านดูเหมือนเป็นการรักษาอาชีพของคนในท้องถิ่น เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดว่า การใช้เงื่อนไขม็อบแคดดี้ไปคัดง้างกับคำพิพากษาในนามของสถาบันสูงสุด เป็นเรื่องที่ถูกต้อง สมควรหรือไม่

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ถือว่าถึงที่สุดแล้ว แต่ดูเหมือนสงครามระหว่างชาวบ้าน กับ กฟผ.ยังไม่สิ้นสุด
   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1016 ประจำวันที่ 13 - 19  กุมภาพันธ์ 2558)   



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์