วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ล้านนา สไนเปอร์


 
 
กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ขณะที่คอหนังฝรั่งกำลังปลื้มปริ่มกับ American Sniper สไนเปอร์มือพระกาฬในประวัติศาสตร์อเมริกาของผู้กำกับสุดเจ๋ง-คลินต์ อีสต์วูด และบ้านเราก็เพิ่งผ่านพ้นงาน สืบสานตำนานพ่อเจ้าทิพย์ช้าง วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร ในโอกาสที่จังหวัดลำปางครบรอบ 1,335 ปี ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่หนานทิพย์ช้างเข้าไปลอบยิงท้าวมหายศถึงในวัดพระธาตุลำปางหลวง ว่าอันที่จริงวีรบุรุษเมืองลำปางเราก็ต้องมีฝีมือระดับพระกาฬเช่นกันจึงจะปลิดชีวิตคนระดับแม่ทัพได้

หนาน ทิพย์ช้างเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2217 มีพื้นเพเดิมอยู่ที่บ้านปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นพรานป่าที่เฉลียวฉลาด เก่งกาจ กล้าหาญ และเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ จึงได้รับการร้องขอจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นให้ช่วยกอบกู้อิสรภาพเมือง ลำปางจากการปกครองของพม่า โดยหากทำสำเร็จจะสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางต่อไป

ปี พ.ศ. 2275 นายพรานหนุ่มใหญ่วัย 58 ปี พร้อมไพร่พล 300 นาย จึงออกเดินทางไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งขณะนั้นเป็นสถานที่ตั้งของทัพลำพูนที่สวามิภักดิ์กับพม่า โดยหนานทิพย์ช้างใช้วิธีลักลอบเข้าไปตามท่อระบายน้ำ และถามทหารพม่าว่าแม่ทัพอยู่ที่ไหน ตนมาจากเมืองลำพูนเพื่อส่งข่าว

ขณะนั้นท้าวมหายศ ซึ่งเป็นแม่ทัพ กำลังเล่นหมากรุกอยู่ ทันทีที่รู้ว่าแม่ทัพคือคนไหน หนานทิพย์ช้างก็ใช้ปืนที่พกมายิงท้าวมหายศจนเสียชีวิต สอดคล้องกับที่มาของรูตรงเสารั้วขององค์พระธาตุ ที่เล่ากันว่าเป็นร่องรอยอันเกิดจากกระสุนปืนของหนานทิพย์ช้างนั่นเอง ส่วนรูท่อระบายน้ำที่หนานทิพย์ช้างมุดเข้ามานั้น ปัจจุบันถูกโบกปูนทับจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว

น่าสนใจว่าปืนที่หนานทิพย์ช้างใช้ยิงท้าวมหายศนั้น คือปืนชนิดไหน ในยุคนั้น (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย) จะเป็นปืนคาบชุด ปืนนกสับที่ทันสมัยและยิงได้ง่าย ปืนคาบศิลาที่ยิงได้เร็วและแรงกว่า หรือปืนแก๊ปที่พัฒนามาจากปืนคาบศิลา แต่ก็คงไม่ใช่ปืนลูกโม่ เพราะปืนชนิดนี้เปิดตัวครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2379

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหนานทิพย์ช้างก็สามารถกอบกู้เมืองลำปางคืนมาจากพม่าได้ ต่อมาจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางนามว่า เจ้าทิพย์จักรหลวง หรือพระเจ้าสุละวะฤาไชยสงคราม สมรสกับแม่เจ้าพิมพา หรือแม่เจ้าปิมปามหาเทวี จากบ้านป่าหนาดคำ ตำบลบ้านเอื้อม มีบุตรธิดารวม 6 คน

พระเจ้าสุละวะฤาไชยสงครามทรงครองนครลำปางนาน 27 ปี ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2302 รวมอายุ 85 ปี ท่านเป็นต้นราชวงศ์ทิพจักราธิวงศ์ ต้นสกุลวงศ์ของเจ้าเจ็ดตน

ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปางนับจากพระเจ้าสุละวะฤาไชยสงครามมาจนถึงเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ ล้วนแต่เป็นทายาทสืบราชสกุลจากทิพจักราธิวงศ์และเจ้าเจ็ดตนทั้งสิ้น ราชสกุลเจ้าเจ็ดตนประกอบด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือในสายสกุล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดตน

เจ้าเจ็ดตน หรือเจ้าเจ็ดองค์ที่กล่าวถึงนี้ คือ 1. พระเจ้าบรมราชาธิบดี กาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ 1 ต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ 2. พระเจ้านครลำปางคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปางที่ 1 3. พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก น้อยธรรมลังกา 4. พระเจ้านครลำปาง ดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางที่ 2 5. เจ้าอุปราชหมูหล้า อุปราชเมืองลำปาง 6. พระเจ้าสุภัทธราเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ 3 และ 7. พระเจ้าศรีบุญมา พระเจ้านครลำพูนไชย เจ้าผู้ครองนครลำพูนที่ 2 ต้นตระกูล ณ ลำพูน       

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์