วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ยอมจ่าย25ล้าน กฟผ.ขอจบ ชดเชยชาวบ้านรวมรายหมดอายุ



ศาลปกครองสูงสุด สั่งให้ กฟผ.จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านจำนวน 131 ราย ภายใน 60 วัน และแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยในส่วนของชาวบ้านบางราย ที่ยื่นฟ้องหลังจากครบกำหนดเวลาการฟ้องคดีด้วย  ด้าน กฟผ. พร้อมดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. น้อมรับคำตัดสินในคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และจะดำเนินการจ่ายเงินโดยเร็วที่สุด ตามคำพิพากษาของศาล ถือเป็นการยุติปัญหาในอดีต และจะร่วมกับชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 25 ก.พ.58 ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีระหว่างนายคำ อินคำปา กับพวกรวม 131 คน ผู้ฟ้องคดี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้อง กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยทางผู้ฟ้อง 131 คน ได้ยื่นฟ้องว่าทาง กฟผ.ละเลยไม่ควบคุมบำบัดฝุ่นหิน ฝุ่นละออง และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน  โรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ กฟผ.ชดใช้ค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้อง ภายใน 60 วัน  ซึ่งผู้ฟ้องรายใดจะได้รับค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายจากการเสื่อมสมรรถภาพ สุขภาพ และอนามัย และความสูญเสียทางด้านจิตใจเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้ฟ้องรายนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.แม่เมาะจริงเป็นสำคัญ โดยผู้ฟ้องที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาช่วงเดือน พ.ย.2535 ถึง เดือน ส.ค.2541  ให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ฟ้องรายอื่นให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้ตามระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่จริง แต่ต้องไม่เกินคำขอของผู้ฟ้องคดีแต่ละราย  

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็น ให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องบางรายที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามจำนวนที่ตนมีสิทธิได้รับ

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่าพอใจคำตัดสินของศาล แม้บางคนจะได้ค่าเยียวยาน้อยก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายชดเชยค่าเสียหายที่ กฟผ.ต้องชดใช้รวมจำนวน 25 ล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ชาวบ้านจะได้เงินต่ำสุด รายละ 20,000 บาท และสูงสุด 240,000 บาท  เราต่อสู้มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ให้สาธารณชนได้รู้ว่า พวกเราได้รับผลกระทบจริง จะทำให้เป็นต้นแบบชุมชนอื่นที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องตนเอง กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างให้ กฟผ.ตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินแห่งอื่น ต้องระมัดระวังและเลือกสถานที่ที่เหมาะสม คือต้องห่างไกลชาวบ้านและชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแบบเดียวกับชาวบ้านแม่เมาะ

ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยภายหลังทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีโรงไฟฟ้า แม่เมาะ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.58 ว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาโดยสรุปให้ กฟผ. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีตามที่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษา รวมทั้งบางรายที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่ายื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดี ก็ให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนด้วย รวมทั้งสิ้น 123 ราย ซึ่ง กฟผ. จะขอให้สำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่คำนวณค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายตามคำพิพากษาเพื่อความถูกต้อง จากนั้น กฟผ. จะเร่งดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2558

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อว่า จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แม้จะส่งผลให้ กฟผ. ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ราษฎรก็ตาม แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความพยายามและสิ่งที่ กฟผ. ดำเนินการมาตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้น เช่น   การติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมลภาวะอื่นๆ รวมทั้งระบบตรวจวัดต่างๆ มาแก้ไขปัญหา ทำให้ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จึงไม่เกิดปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานอีก เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นละอองที่อยู่ในการฟ้องร้องด้วยนั้น ศาลฯ มีความเห็นว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย จึงอยากให้ราษฎรแม่เมาะและประชาชนมั่นใจว่า ปัญหาในอดีตที่ผ่านมานั้น กฟผ. ได้แก้ไขแล้วเสร็จมากว่า 15 ปีแล้ว ปัจจุบัน โรงไฟฟ้า และเหมือง แม่เมาะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ กฟผ. จะร่วมกับชุมชนพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งประชาชน สามารถติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะแบบตามเวลาจริง (Real-time) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 11 สถานี โดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทีhttp://maemoh.egat.com/so2online/index.php รวมถึงสามารถพิสูจน์ได้จากประสบการณ์ตรงที่นักท่องเที่ยวทั่วประเทศได้มาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ในเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ซึ่งได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวประจำปีของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ กฟผ. แม่เมาะ พร้อมจะเปิดบ้านต้อนรับประชาชนให้มาเยี่ยมชมเป็นประจำทุกวัน จึงมั่นใจได้ว่า กฟผ. ทำงานอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีเหมืองแม่เมาะ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ กฟผ. ได้ประสานงานไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แล้ว เพื่อให้การดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจะให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตามคำสั่งของศาลฯ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1018 ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2558)
 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์