ชาวบ้านป่าเหียงรวมกลุ่มออกต้านโรงไฟฟ้าขยะ
หวั่นมลพิษเกิดในพื้นที่ แจกใบปลิวว่อนต่อว่าผู้นำเห็นผลประโยชน์มากกว่าชุมชน
ไม่ใส่ใจสุขภาพของชาวบ้าน
ด้านบริษัทเตรียมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 22
มี.ค.นี้ ยืนยันจะเริ่มดำเนินการหลังจากชุมชนเจ้าของพื้นที่ได้รับความเห็นชอบเท่านั้น
จากกรณีที่มีบริษัท
วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 1077/48 ถ.พหลโยธิน
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ได้มีโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้
ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ โดยกำหนดใช้พื้นที่ บ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นสถานที่ก่อสร้างโครงการฯ
โดยได้มีการแจกจ่ายเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการแจ้งถึงรายละเอียดต่างๆระบุในเอกสารว่า
โครงการเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากของเหลือใช้
เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีประสิทธิภาพและสามารถจัดการมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้
ซึ่งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำจากของเหลือใช้
จะใช้เชื้อเพลิงเป็นมูลฝอยและเศษใบไม้เหลือใช้
มีกำลังการผลิต 6.5 เมกะวัตต์
หากเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ เช่นโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ จะได้เห็นได้ว่าโครงการมีขนาดเล็กมาก
จึงสามารถป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ซึ่งทางบริษัทจะได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
(EIA)ด้วย
โดยได้กำหนดจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่บ้านป่าเหียง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง
ซึ่งห่างจากชุมชน และโครงการนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development
Mechanism) สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน
ซึ่งกลไกการพัฒนาที่สะอาดนี้เป็นกระบวนการที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรอง
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล
ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมการอุตสาหกรรม และอบต.ท้องที่ เป็นต้น
ในเอกสารยังได้ระบุถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ด้วยว่า
จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ
เกิดระบบเศรษฐกิจรอบแหล่งผลิตมีเงินหมุนเวียนในชุมชน และยังช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอย เศษวัสดุ
ที่ไม่ใช้แล้วในท้องถิ่น ชุมชนก็มีรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่
รวมทั้งเป็นทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ลดก๊าซเรือนกระจก ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำสิ่งของเสียที่ไม่ใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อชุมชนและสังคม
และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
เนื่องจากสามารถขายเศษที่เหลือจากการเกษตรอีกด้วย
บริษัทได้ยืนยันด้วยว่า
จะเริ่มดำเนินการภายหลังจากได้ทำความเข้าใจกับชุมชนเข้าของพื้นที่
และได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการเท่านั้น
แต่หลังจากที่มีข่าวการเข้ามาของบริษัทดังกล่าว
เพื่อที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านป่าเหียง
ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า รักษ์ป่าเหียง
เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหามลพิษขึ้นในพื้นที่ โดยชาวบ้านได้มีการนำป้าย
มีข้อความแตกต่างกัน มาติดตามจุดต่างๆในหมู่บ้าน มากกว่า 10
แห่ง มีข้อความว่า “เอาโรงไฟฟ้าขยะกลับไป เอาความสามัคคีกลับมา” และ
“ไม่ได้เกิดป่าเหียง แต่รักบ้านป่าเหียง ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” เป็นต้น นอกจากนั้น ยังพบว่าได้มีการแจกจ่ายใบปลิวไปทั่วหมู่บ้าน
โดยข้อความในใบปลิว ได้กล่าวอ้างถึงผู้นำ หมู่ 1
ว่าไม่ห่วงใยสุขภาพของชาวบ้าน
เห็นแต่ผลประโยชน์ นำความหายนะเข้ามาในหมู่บ้าน สร้างความแตกแยกให้ชุมชน
จะขายอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่รักลูกหลานในหมู่บ้านของตัวเอง
จากการสอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง
กล่าวว่า ทาง
อบต.บ่อแฮ้วได้มีการเกณฑ์คนไปดูงานที่ จ.ภูเก็ตมาแล้ว
มีชาวบ้านป่าเหียงได้ร่วมเดินทางไปด้วยประมาณ 40 คนเท่านั้น
จากชาวบ้านที่มีหลายร้อยคน
ตอนนี้ชาวบ้านบางคนก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่า
โรงไฟฟ้าที่จะมาก่อสร้างนั้นจะมีวิธีการอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่
แต่เมื่อได้ยินชื่อว่าโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะ
ทุกคนก็มองเห็นไปถึงเรื่องมลพิษที่จะตามมา
ในวันข้างหน้าอาจจะมีการนำขยะเข้ามากองไว้รวมกันในพื้นที่เพื่อทำการผลิตไฟฟ้า
ปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ ก็จะตามมา สร้างผลกระทบให้กับประชาชนอย่างมาก
ไหนจะเรื่องน้ำกินน้ำใช้ในชุมชน หากมีโรงไฟฟ้าก็จะต้องใช้น้ำหมุนเวียนในการผลิต
ซึ่งจะต้องแบ่งน้ำจากชุมชนไปอีก ชาวบ้านก็อาจจะขาดแคลนน้ำได้
ด้านนายสถาพร
วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว เปิดเผยว่า ขั้นตอนในตอนนี้ได้มีการนำตัวแทนชาวบ้านไปดูงานโรงงานผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ที่
จ.ภูเก็ต มาแล้ว ซึ่งเป็นโรงงานระบบปิดทั้งหมด ได้ต้นแบบจากประเทศสิงคโปร์
โรงไฟฟ้าที่จะมาก่อสร้างที่ จ.ลำปาง รูปแบบการก่อสร้างก็จะคล้ายกัน ส่วนเหตุผลที่เลือกพื้นที่ ต.บ่อแฮ้ว
ทราบว่าเนื่องจากยังมีไฟฟ้าไม่พอใช้ ต้องเชื่อมสายมาจาก อ.ห้างฉัตรอยู่ เบื้องต้นโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้าง มีขนาด 6.5 เมกะวัตต์ โดยจะใช้ขยะวันละประมาณ 300 ตัน จาก อ.เมือง อ.เกาะคา อ.ห้างฉัตร ซึ่งจะมีการคัดแยกขยะมาก่อนและมาอัดเป็นก่อนเพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าใช้ในการผลิต
กรณีที่มีชาวบ้านออกมาต่อต้านอาจจะมีหลายปัจจัย
บางส่วนก็อาจจะยังไม่เข้าใจในรูปแบบของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทจะได้เข้ามาร่วมประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้านป่าเหียง
ในวันที่ 22 มี.ค.58
จากนั้นก็จะมีการทำประชาคมในวันที่ 29 มี.ค.58
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง นายก อบต.บ่อแฮ้ว กล่าว