วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

อภิสิทธิ์ชน คนสื่อบ้านนอก

     

ร้อมๆกับข่าวที่น่ายินดีของ  “ลานนาโพสต์” ก็ยังมีข่าวที่ท้าทาย และถามถึงความกล้าหาญในทางจริยธรรมของหนังสือพิมพ์บางฉบับ
           
โดยเฉพาะสื่อบ้านนอกที่สำคัญผิดในบทบาทหน้าที่ ขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ความเข้าใจผิดนี้เอง ที่กลายมาเป็นการเรียกร้องอภิสิทธิ์ที่ไม่ควรมีควรได้ และทำให้คนในสังคมบางส่วนเข้าใจผิดในบทบาทหน้าที่ของอาชีพสื่อมวลชนไปด้วย
           
นี่เป็นปรากฎการณ์ร่วมไม่เฉพาะสื่อบ้านนอกเท่านั้น
           
ท่ามกลางความหดหู่ และเศร้าใจในสภาลูก เมีย ที่สะท้อนถึงสังคมอุปถัมภ์ที่น่าชิงชังอย่างยิ่ง  ยังมีเรื่องที่น่ายินดี ในบทบาทหน้าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คุณมานิจ สุขสมจิตร  ที่เสนอให้ตัดวิชาชีพสื่อมวลชนออกจาก ระบบการสรรหาเพื่อเป็นวุฒิสมาชิก
           
นัยหนึ่งคือการยืนยันความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ที่ต้องปลอดจากการเมือง สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีอำนาจได้อย่างตรงไปตรงมา
           
การที่สื่อบางคน บางกลุ่ม ยังสำคัญตัวผิดว่าเป็น ฐานันดร 4” เรียกรับผลประโยชน์จากผู้มีอำนาจ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งโดยตรงและตามน้ำ หรือสำคัญว่าอาชีพนักข่าวจะได้อภิสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ มากกว่าประชาชนโดยทั่วไป นับเป็นความเลวร้ายชนิดหนึ่งในสังคมไทย
           
ในขณะเดียวกันมายาคติเรื่องชนชั้นสื่อมวลชนนั้น ก็ทำให้คนบางประเภทยอมค้อมหัวให้ สื่อที่มีทั้งสื่อที่ทำข่าวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ กับสื่อรุ่นใหญ่ที่เรียกกันว่า มีบารมี ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องไปปรากฏตัวในงานวันเกิด หรือจ่ายเงินกันเป็นรายเดือน เช่นกรณี ซีพีเอฟ 
           
เรื่องซีพีเอฟ ทำให้ผมได้เข้าใจเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันต่อมาหลายเรื่อง
           
หนึ่งคือการที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์บางบริษัท จะมีการจัดทำเอกสารภายใน บันทึกรายละเอียด ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์กับนักข่าว รวมทั้งการจ่ายเงินที่ไม่มีมูลค่าตอบแทน นอกจากสัญญาใจว่า จะช่วยดูแลไม่ให้มีข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของบริษัทเหล่านั้น สองคือความไม่รับผิดชอบของ TCIJ ที่ตีหัวเพื่อน แล้ววิ่งหนีเข้าบ้าน ไม่ยอมให้ข้อมูล เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง
           
คณะกรรมการอิสระ ซึ่งมีคุณสัก กอแสงเรือง เป็นประธาน ยังคงทำหน้าที่ต่อเนื่องอย่างเป็นอิสระ จากคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถึงแม้ว่ายังสรุปผลการสอบสวนไม่ทัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าคณะกรรมการชุดใหม่หรือเก่ายืนยันไม่เปลี่ยนแปลง คือจะมีการเปิดเผยรายชื่อ และพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาทุกราย โดยไม่มีข้อยกเว้นว่า เป็นเพื่อน เป็นเจ้านาย หรือมีความสนิทสนมกันเพียงใด ทั้งนี้การพิจารณาจะต้องทำให้รอบคอบ รัดกุมที่สุดเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
           
กรณีซีพีเอฟ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า กลไกการตรวจสอบกันเองขององค์กรวิชาชีพ ยังคงเป็นหลักที่ใช้การได้ เพราะเมื่อปรากฏกรณีที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อมวลชนทั้งระบบครั้งนี้ คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ก็ได้มีฉันทานุมัติในทันที ให้มีการตั้งกรรมการสอบสวน โดยที่ไม่ต้องมีใครร้องขอ หลายกรณีก็กระทำเช่นนี้
           
ดังนั้น อุปาทานที่ว่า การควบคุมกันเองล้มเหลวนั้น คงจำเป็นต้องอธิบายใหม่ว่า เป็นเพียงการไปไม่ถึงจุดที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาขององค์กร ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยทั่วไป และเป็นหลักที่เราตั้งใจมาแต่แรกก่อตั้งสภา นสพ.ในการปฏิเสธอำนาจในลักษณะควบคุม บังคับ
           
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกลไกกฎหมายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำกับ ดูแลกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยต้องไม่มีอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้อำนาจกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินไป รวมทั้งการออกแบบให้มีกลไกถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจ สำคัญที่สุดคือการยืนยันความเป็นอิสระขององค์กรกำกับ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้
           
คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพ 4 องค์กรหลัก ได้จัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.และกลไกการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เสร็จเรียบร้อยแล้ว
           
เป็นข้อเสนอที่อธิบายถึงที่มา หลักการ และวิธีปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดในกระบวนการปฏิรูปสื่อ เพราะหลายคนมุ่งไปที่การเสนอแนวคิดเพื่อตอบรับกระแสสังคม ที่วูบวาบตามสถานการณ์  เช่น การที่เหมารวมสื่อทั้งหลาย ทั้งสื่ออาชีพ สื่อการเมือง สื่อสังคมออนไลน์ เป็นสื่อทั้งหมด และรวบรัดว่าสื่อเหล่านี้ไม่มีความรับผิดชอบ จะต้องบังคับให้มีการจดทะเบียนและเพิกถอนทะเบียน เช่นเดียวกับหมอ ทนายความ วิศวกร
           
ในระหว่างที่ข้อเสนอยังต้องถกแถลงกันใน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ที่ถูกสื่อละเมิด โดยเฉพาะสื่อที่เป็นองค์กรสมาชิก สภา นสพ.ทั่วประเทศ ยังสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 538/1 ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ10300 ในกรณีที่เป็นเรื่องจริยธรรม แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทราบว่ากรรมการสภา นสพ.กำลังเจรจาให้ฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในทุกจังหวัด ดำเนินการทางคดีให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
           
การที่ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร ใช้สิทธิปกป้องตัวเองไม่ว่าในแง่จริยธรรมและกฎหมาย  คือพลังสำคัญที่จะคัดแยก คนข่าวขยะ ออกจากวงการสื่อมวลชน
  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1019 ประจำวันที่ 6 - 12 มีนาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์