วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

เวทีไฟฟ้าขยะล่ม ชาวบ้านวอล์คเอาท์ ผู้บริหารวีพีเอ็นฯ สงบสยบเคลื่อนไหว



เวทีชี้แจงโรงไฟฟ้าขยะล่ม ชาวบ้านป่าเหียงนับพันเดินออกที่ประชุมไม่รอฟังคำตอบจากบริษัท หลังจากแกนนำตั้งคำถามหลายข้อ แสดงจุดยืน ยังไงก็ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งในพื้นที่ 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลา 18.00 น.หน่วยงานภาครัฐของ จ.ลำปาง ร่วมกับบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด  ได้จัดการประชุมชี้แจงข้อมูล การก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้ ที่โรงเรียนบ้านป่าเพียง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมี พ.อ.ชัยณรงค์ แก้วกล้า รอง ผบ.มทบ.32 เป็นประธานและผู้ดำเนินรายการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล ประกอบด้วย พลังงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ซึ่งมีนางวรรณี ลิทองกุล เจ้าของบริษัทเดินทางมาร่วมประชุมด้วย นอกจากนั้นยังมี สุวิทย์  เล็กกำแหง นายอำเภอเมืองลำปาง  นายสมพร วะเท  นายกเทศมนตรี ต.บ่อแฮ้ว   นายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว   พ.ต.อ.นิคม เครือนพรัตน์  ผกก.สภ.เมืองลำปาง ร่วมสังเกตการณ์

โดยชาวบ้านป่าเหียงได้ร่วมกันใส่เสื้อสีดำ สกรีนตัวหนังสือด้านหลังว่า “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” ทยอยเดินทางเข้ามาในที่ประชุมพร้อมกับเสียงโห่ร้องและปรบมือเป็นระยะ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสนใจเข้ามาร่วมกับฟังในครั้งนี้จำนวนมาก รวมชาวบ้านกว่า 3,000 คน  โดยมีกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ คอยอำนวยความปลอดภัยประมาณ 100 นาย

 

ช่วงเริ่มประชุม พ.อ.ชัยณรงค์ ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเบื้องต้น พร้อมกับขอความร่วมมือให้รับฟังข้อมูลก่อนและขอให้ให้เกียรติผู้ที่กำลังพูดและตั้งใจฟัง เพื่อที่ว่า หากไม่เข้าใจในข้อใดจะได้สอบถามได้ จากนั้นได้ให้ น.ส.สายธาร ประสงค์ความดี พลังงานจังหวัดให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า  ซึ่งในขั้นแรกจะต้องมีการเช็คสายส่งไฟฟ้าก่อนว่ามีพื้นที่หรือไม่ จากนั้นจะต้องทำสัญญากับ กฟภ.เกี่ยวกับการส่งขายพลังงาน  ต่อด้วยขั้นตอนการทำประชาคมชาวบ้าน  จึงจะนำไปสู่การตรวจสอบพื้นที่การก่อสร้างว่าสามารถใช้พื้นที่บริเวณนั้นได้หรือไม่ เมื่อเรียบร้อยร้อยต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมดยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงงานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด โดยอุตสาหกรรมจังหวัดต้องส่งเรื่องไปยังสำนักกำกับกิจการพลังงาน เพื่อขออนุญาตในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า  ซึ่งระหว่างที่พลังงานจังหวัดให้ข้อมูล กลุ่มชาวบ้านได้ส่งเสียงโห่กันเป็นระยะ ทำให้รอง ผบ.มทบ.ต้องขั้นรายการและขอความร่วมมือให้รับฟังและงดใช้เสียง  ชาวบ้านได้หยุดไปพักหนึ่ง แต่ก็ได้มีการส่งเสียงโห่กันเป็นระยะ

ด้านตัวแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด กล่าวว่า การจะก่อสร้างโรงงานต่างๆต้องได้รับการอนุญาตจากโยธาธิการและผังเมืองก่อน โดยจะทำการตรวจสอบว่าพื้นที่จะใช้ก่อสร้างนั้นสามารถสร้างได้หรือไม่

รอง ผบ.มทบ.32 กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะตั้งได้หรือไม่ได้มีส่วนประกอบมากมาย มีกฎหมายควบคุมอยู่ หากตรวจสอบแล้วตั้งได้ตามกฎหมายของโยธาธิการ ก็ไม่สามารถห้ามได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล  ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 1 กล่าวว่า เรามีหน้าที่ออกใบอนุญาตเกี่ยวกับกิจการผลิตไฟฟ้าไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จ.ลำปางมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายแห่ง เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ต.บ้านเอื้อม และโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.เถิน    ส่วนโรงไฟฟ้าขยะเป็นโรงไฟฟ้าที่จะต้องถูกควบคุมโดยสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ตั้งแต่เริ่มผลิตไปจนถึงส่งขาย  โดยมีขั้นตอนการอนุญาต ต้องได้รับใบอนุญาต 3 ใบ ใบแรกเรียกว่าใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร มีความเห็นจาก อปท. คือ อบต. หรือเทศบาล ว่าถูกต้องตามกฎหมายก่อสร้างอาคารหรือไม่ ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบของการออกใบอนุญาต  ส่วนใบที่สอง คือใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จะมีกฎหมายควบคุมอยู่ มีขั้นตอนที่สำคัญคือ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นำมาประกอบการอนุญาต  และใบที่สาม คือใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ก่อนที่โรงไฟฟ้าจะผลิตไฟขายได้ต้องมีใบอนุญาต 3 ใบ    

ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง หมู่ 1 ขึ้นมาพูดชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่มีการให้ข้อมูลกับชาวบ้านเลย หลังจากไปดูงานที่ จ.ภูเก็ต   ผู้ใหญ่บ้านจึงขึ้นมาพูดโดยได้มีเสียงโห่ร้องจากชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา นายวาด เรือนคำปา ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง หมู่ 1  กล่าวว่า การไปดูงานเพียงต้องการรับฟัง และนำมาแจ้งให้ชาวบ้านทราบ ถ้าเห็นดีด้วยก็เอา ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เอาเท่านั้นเอง  แต่ชาวบ้านไปคิดเอาเอง และใส่ไฟตนเอง ว่าไปรับเงินมาเป็นล้าน เหตุที่ไมได้ชี้แจงเพราะไม่มีเวลาเลย กลับมาจากดูงานก็มีงานศพ งานแต่งตลอด ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสร้างเรื่องขึ้นมา มีป้ายขึ้นมาติดในหมู่บ้านเต็มไปหมดแต่ก็ไม่ห้ามเพราะเป็นสิทธิของชาวบ้าน  ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง ถ้าชาวบ้านไม่เอาก็คือไม่เอา  การจัดให้ลงมติ ตนเองไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามได้ เพราะเป็นขั้นตอนการดำเนินงานตามกฎหมาย   ทั้งนี้ ระหว่างที่ผู้ใหญ่บ้านชี้แจง ชาวบ้านได้ส่งเสียงโห่ร้องอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ และจะไม่ไปลงประชามติ

จากนั้นที่ประชุมได้ให้ทางบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค ได้ชี้แจงข้อมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบที่จะใช้ในการเผาขยะ และได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ซักถาม โดยมีนายสวาท เปี้ยปลูก เป็นตัวแทนชาวบ้านขึ้นพูดในที่ประชุม โดยชาวบ้านได้ปรบมือสนับสนุนกันอย่างคึกคัก

นายสวาท กล่าวว่า ลำปางไม่ได้มีปัญหาขยะล้นเมือง ตามข้อมูลที่รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ขยะลำปางมีไม่ถึง 800 ตัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาด 6.5 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ขยะถึง 1,950 ตัน ซึ่งถือว่า จ.ลำปางขาดแคลนขยะตั้ง 1,000 ตัน แล้วจะเอาขยะมาจากไหน หนีไม่พ้นมาจาก จ.ลำพูน  เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง  คนลำปางจะภูมิใจไหมที่ จ.ลำปางจะเป็นที่ทิ้งขยะของภาคเหนือ  นอกจากนั้น จ.ลำปาง  มี กฟผ.แม่เมาะที่ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหลือเฟือ ส่งขายไปทั่วประเทศ แต่โรงไฟฟ้าของท่านมีแค่ 6.5 เมกกะวัตต์จะมาแก้ไขปัญหาพลังงานอะไรได้

โรงงานไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะมาตั้งอยู่กลางทุ่งนาบ้านป่าเหียง มีประชากรเกี่ยวข้อง 5 ตำบล กว่า 30,000 คน อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์  เดิมตรงจุดนี้เป็นที่นาที่อุดมสมบูรณ์ แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เกิดความแห้งแล้ง จึงปล่อยที่นาให้รกร้างเป็นช่องทางให้นักลงทุนกว้านซื้อที่ดินไปขายเก็งกำไร   และในปีหน้าทางกรมชลประทานจะก่อสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมา เข้ามาในพื้นที่ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  แล้วอยู่ๆโรงไฟฟ้าขยะจะมาตั้งตรงนั้น ควันดำจากปล่องไฟ กินเหม็นจากขยะ สุขภาพกายสุขภาพจิตของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร น้ำเน่าไหลลงหนองคลองบึง ไหลลงที่นา ซึมลงใต้ดิน แล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไร  ระบบนิเวศน์ ระบบสิ่งแวดล้อมเสียหายหมด  พวกเราอยู่ดีๆอย่างมีความสุข สมัครสมานสามัคคี แล้วจะเอาโรงงานมาทำร้ายพวกเราทำไม

ลำปางไม่มีปัญหาขยะ ป่าเหียงไม่มีปัญหาขยะ มาสร้างที่ลำปางทำไม ขยะมีที่ไหนก็ไปสร้างตรงนั้นจะเสียค่าขนส่งอีกทำไม  พวกเราไม่คัดค้านโรงงานเผาขยะ ยินดีสนับสนุนเพราะเป็นนโยบายรัฐบาล เป็นวาระแห่งชาติ แต่เราคัดค้านตรงที่ทำไมต้องมาตั้งตรงนี้

นายสวาทยังได้ยกมือไหว้ ขอดลจิตดลใจให้ผู้มีอำนาจในอนุมัติ กรุณายับยั้งอย่าอนุมัติให้โรงงานตั้งที่บ้านป่าเหียงแห่งนี้เลย ถ้าไปตั้งที่อื่นชาวบ้านจะไม่คัดค้านแม้แต่น้อย ขอให้เห็นแก่ชาวบ้านโปรดย้ายไปตั้งที่อื่นด้วย

จากนั้นนายสวาท ได้เดินออกจากห้องประชุม ชาวบ้านจึงได้ทยอยกันลุกเดินตามออกไป โดยทาง รอง ผบ.มทบ. ได้ขอให้ชาวบ้านได้นั่งลงก่อนเพราะทางบริษัทยังไม่ได้มีการตอบคำถามและชี้แจงใดๆ ขอให้กลับมาฟังก่อน แต่ชาวบ้านก็ไม่ฟังได้ทยอยกันเดินออกจากพื้นที่จนหมด ขณะที่ รอง ผบ.มทบ. ยังคงพูดปิดการประชุมต่อไปอีกกว่า 5 นาที ทั้งที่ไม่มีใครนั่งอยู่ในที่ประชุมเลย เหลือเพียงหัวหน้าส่วนราชการ และบริษัทที่มาชี้แจงให้ข้อมูลนั่งฟังอยู่เท่านั้น  โดยทางตัวแทนบริษัทได้นั่งนิ่ง ไม่มีการตอบโต้ใดๆทั้งสิ้น

ทั้งนี้  ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลุ่มชาวบ้านที่ไม่ได้ใส่เสื้อสีดำมาร่วมประชุม เป็นชาวบ้านที่มาจากพื้นที่อื่น ไม่ใช่เป็นชาวบ้านป่าเหียง ซึ่งได้รับค่าจ้างคนละ 300 บาท และได้ทยอยเดินทางกลับระหว่างที่ประชุมได้มาครึ่งทางเท่านั้น
 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1022  ประจำวันที่ 27   มีนาคม – 2 เมษายน  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์