วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

ร่วมด้วยช่วยกันรักทะเล


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง     
      
แม้เราชาวลำปางจะอยู่ห่างไกลจากท้องทะเลนับ 1,000 กิโลเมตร และอาจมองว่าวิกฤตอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่กำลังกระหึ่มอยู่ในขณะนี้นั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรา แต่หากเรารู้ซึ้งถึงความหมายของวลี เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เราคงไม่อาจปล่อยวางวิกฤตที่ท้องทะเลไทยกำลังเผชิญอย่างหนักหน่วงอยู่นี้ได้

ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเลชื่อดัง และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงข้อเสนอของ สปช. ต่อกรณีนี้ว่า ต้องมีการเพิ่มความเข้มแข็งของภาครัฐ ด้วยการจัดตั้งสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์อุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินความสำเร็จในการอนุรักษ์ทะเลไทย ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะเรียกประชุมอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหมด รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง มาหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
           
ระหว่างรอการปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเลจากภาครัฐ ดร. ธรณ์ได้โพสต์ ข้อปฏิบัติรักทะเลไทย เพื่อการท่องเที่ยวแบบไม่ทำร้ายธรรมชาติ

1. ให้อาหารสัตว์ในแนวปะการัง คือการฆ่าสัตว์

ปลาที่กินอาหารจากเรามีไม่ถึงร้อยละ 10 ของปลาทั้งหมดในแนวปะการัง และเป็นกลุ่มปลาก้าวร้าว ซึ่งจะยึดพื้นที่โดยไล่ปลาอื่นออกไป ปลาที่เคยช่วยควบคุมสมดุลระบบนิเวศจะลดลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวปะการัง อาหารที่มนุษย์ให้ ไม่ใช่อาหารธรรมชาติ สัตว์ไม่ตายเพราะอดอาหาร แต่สัตว์อาจตายเพราะเราให้อาหาร นั่นคือข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้ว และเป็นกฎระเบียบของทะเลในเขตอนุรักษ์ทั่วโลก

สิ่งที่ควรทำ คือ ไม่สนับสนุนทัวร์ที่ให้อาหารสัตว์น้ำเด็ดขาด และช่วยกันเป็นหูเป็นตาในเรื่องนี้

2. จับสัตว์เท่ากับทำร้ายสัตว์

สัตว์ทะเลทุกชนิดบอบบาง ไม่ได้วิวัฒนาการมาให้มนุษย์จับเล่น สิ่งที่เราคิดว่าไม่เห็นมีอะไร อาจหมายถึงเราทำร้ายสัตว์ให้บาดเจ็บ และตามวิถีธรรมชาติ สัตว์ที่บาดเจ็บจะรอดยาก

สิ่งที่ควรทำ คือ ตระหนักว่าทะเลคือบ้านของสรรพสัตว์ ยินดีเห็นสัตว์ที่มีความสุขแบบไกล ๆ มากกว่าเห็นสัตว์ที่มีความทุกข์แบบใกล้ ๆ เรามาเที่ยว ไม่ได้มารังแกสัตว์

3. ทิ้งสมอ คือวิบัติ ปะการังพินาศสิ้น

เมื่อทุ่นไม่พอ หรือทุ่นอยู่นอกแนวปะการัง เรือบางลำจะทิ้งสมอแบบเอาง่ายเข้าว่า สมอที่ตกลงไปไม่ทำลายเพียงจุดเดียว แต่เรือโดนคลื่น โดนกระแสน้ำ จะลากสมอทำลายแนวปะการังพังเป็นแถบ

สิ่งที่ควรทำ คือ ยอมรับว่า บางทีเราอาจต้องว่ายน้ำไกลนิด เพื่อไม่ให้เรือทิ้งสมอในแนวปะการัง บางทีอาจต้องรอหน่อย เพื่อเข้าฝั่งให้ถูกช่องทาง มิใช่ดาหน้าพุ่งผ่านแนวปะการัง ทำทรายฟุ้งจนตายหมดทั้งแถบ ห้ามไกด์ทันทีที่จะทิ้งสมอลงปะการัง ไม่มีข้ออ้างว่า ปะการังตรงนี้ตายหมดแล้ว เพราะนั่นเป็นเพียงคำแก้ตัว

4. ทิ้งขยะ คือ ฆ่าสัตว์

สัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่า โลมา ในประเทศไทย บาดเจ็บล้มตายปีละหลายร้อยตัว เมื่อผ่าชันสูตรพบว่า ขยะทะเลเป็นปัญหาแทบทั้งนั้น การทิ้งขยะ หรือถุงพลาสติกลงบนชายฝั่ง หรือในทะเล คือการฆ่าสัตว์โดยตรง

สิ่งที่ควรทำ คือ นำอะไรไป นำสิ่งนั้นกลับมา ไม่ทิ้งอะไรไว้ในธรรมชาติ

5. คนอื่นทำได้ เราไม่ต้องทำตาม

ตกปลาในเขตอนุรักษ์ ทิ้งขยะลงทะเล และการทำร้ายธรรมชาติแบบต่าง ๆ มักมีให้เห็นเป็นประจำ หลายคนทำตาม เพราะคิดว่าคนอื่นทำได้ แล้วทำไมฉันทำไม่ได้ล่ะ คนเรามีการสั่งสอนแตกต่างกัน มีสำนึกต่างกัน เราเป็นคนดีและมีสำนึกพอที่จะไม่ต้องทำตามคนไร้สำนึก เพราะปราศจากการอบรมดูแลที่ถูกต้อง

สิ่งที่ควรทำ คือ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อุทยานฯ อย่างเคร่งครัด แจ้งเตือนทุกอย่างที่ดูไม่ดี ให้รู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้ ยังมีคนรักทะเลอยู่โว้ย !!!

6. เลือกทัวร์ให้ถูกต้อง ป้องกันปัญหาล่วงหน้า ไม่สนับสนุนคนทำผิด

ช่วงหยุดยาวเดือนเมษายน มีบางทัวร์จัดแบบไม่จองที่พัก หรืออาหารล่วงหน้า แต่มั่วเอาว่าจองไว้แล้ว พอไปถึงเกาะก็มีปัญหา จากนั้นจะโทษเจ้าหน้าที่ เราไม่รู้ก็พลอยด่าไปด้วย

สิ่งที่ควรทำ คือ หากไปกับทัวร์ ตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ทัวร์ของเราได้รับใบอนุญาตในการท่องเที่ยวอุทยานฯ ได้จองห้องพักจากอุทยานฯ ในช่วงที่เราไป หรือทัวร์นี้เคยมีปัญหาเกี่ยวกับทะเลบ้างไหม หากมีก็ง่าย ๆ อย่าสนับสนุน

7. เลือกกิน เลือกซื้อ

สัตว์ทะเลบางชนิดไม่ควรกิน เพราะเขาใกล้สูญพันธุ์แล้ว เช่น หูฉลาม (ครีบฉลาม) ปลานกแก้ว (ช่วยควบคุมสาหร่ายในแนวปะการัง) การซื้อปะการัง เปลือกหอยมือเสือ กัลปังหา มาตกแต่งบ้าน หรือเป็นเครื่องประดับ คือการทำร้ายทะเลอย่างแท้จริง อีกทั้งยังผิดกฎหมายประมง ห้ามจำหน่าย ห้ามครอบครองซากสัตว์เหล่านี้

สิ่งที่ควรทำ คือ สงสารสัตว์บ้างเถิด หูฉลามจะอร่อย จะดูเริ่ดแค่ไหน หากมีที่มาจากความทรมานจนตายของฉลาม มันย่อมไม่คุ้มกัน ซากปะการังไม่ได้ทำให้บ้านดูดีเป็นบ้านอิงธรรมชาติ เพราะการทำลายบ้านปลามาเป็นบ้านเรา มันคงไม่อิงธรรมชาติใช่ไหม
8. อย่าหมดหวัง

ไม่มีครั้งใดที่ทะเลไทยถูกทำร้ายมากมายถึงเพียงนี้ แต่เช่นเดียวกัน ไม่มีครั้งใดที่คนรักทะเลไทยออกมาต่อสู้เยี่ยงนี้ สำหรับการต่อสู้เพื่อท้องทะเล ไม่มีสามคำ สายเกินไป แต่มีสามคำ สู้ยิบตา


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1022  ประจำวันที่ 27   มีนาคม – 2 เมษายน  2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์