วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

กพร.ย้ำคำสั่งศาล ไฟฟ้าฟื้นขุมเหมือง



กพร.ย้ำชัดให้ กฟผ.ทำตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการนำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมือง ไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

หลังจากที่ นายถาวร งามกนกวรรณ  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จ.ลำปาง ถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่หรือ กพร.ก็ได้นัดประชุมแล้ว 2 ครั้ง กับหน่วยราชการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้  สผ.  อุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับยืนยันว่าศาลไม่ได้สั่งให้รื้อหรือปิดสนามกอล์ฟแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.58 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองเเร่ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อก 0508/1177  ส่งถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  อ้างถึง หนังสือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองเเร่ ด่วนที่สุด ที่ อก 0508/694 ลงวันที่ 12 ก.พ.58 และ หนังสือด่วนที่สุด ที่ อก 0508/745 ลงวันที่ 13 ก.พ.58  มีใจความสำคัญว่า

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองเเร่พิจารณาแล้ว เห็นควรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการ ดังนี้

1. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแต่งตั้งคณะทำงาน ระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎร ที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีในผลกระทบ 5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยให้มีตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะทำงานฯด้วย

2. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฟื้นฟูพื้นที่ขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โกยการถมดินกลับไปในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมือง ไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างเข้มงวด หากต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่ขุมเหมืองดังกล่าว ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเสนอเเผนการฟื้นฟูที่ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองเเร่ทราบ ภายใน 7 วัน

3. การติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินทางทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทิศใต้ (ข้อ19ของมาตรการฯ)การนำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัดให้ปลูกเสริมทุกๆ18เดือน เเละทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางไหลของน้ำใน wetland (ข้อ 2.6ของมาตรการฯ) และทำการขนเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน ฯลฯ (ข้อ2.7ของมาตรการฯ) ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งการดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 57 แห่ง พ... แร่ พ..2510ให้เเล้วเสร็จภายใน 35 วัน

ทั้งนี้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อ 1-3 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ทราบทุก 7 วัน หากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น มีปัญหาและอุปสรรคให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเร่งประสานกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติต่อไป

ขณะที่แหล่งข่าวภายใน กฟผ. อ้างว่า ผลที่ออกมาเช่นนี้ทางผู้บริหารระดับสูงค่อนข้างผิดหวังมาก เพราะบางเรื่องไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติกันอยู่เหมือนไปเริ่มต้นกันใหม่

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า  ยังไม่ทราบว่าการตั้งคณะทำงานตามข้อ 1 ที่ กพร.ระบุว่าให้มีตัวแทนราษฎรที่ได้รับผลกระทบร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะทำงานฯด้วย ตนเองจะมีโอกาสเข้าไปร่วมหรือไม่ ซึ่งตนเองต้องการที่จะเข้าร่วมในส่วนนี้ด้วย เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวและตรวจสอบได้ว่าการทำงานของ กฟผ.จะไม่มีการหมกเม็ดชาวบ้านเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ก็รออยู่ว่าทาง กฟผ.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1022  ประจำวันที่ 27   มีนาคม – 2 เมษายน  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์