นอกจากหล่มภูเขียวและสะพานโยงอันโด่งดังแล้ว
อำเภองาวยังมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจไม่น้อย หลายคนยังไม่รู้ว่า
ที่นี่คือแหล่งรวมชาวไทยภูเขาถึง 3 เผ่า คือ เผ่าเมี่ยน (เย้า)
เผ่าอาข่า (อีก้อ) และเผ่ากะเหรี่ยง
เผ่าเมี่ยนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีนแถบแม่น้ำแยงซี
ชาวจีนเรียกชาวเมี่ยนอย่างดูแคลนว่า “เย้า”
ที่แปลว่า “ป่าเถื่อน” แต่พวกเขากลับเรียกตัวเองว่า
“เมี่ยน” ซึ่งแปลว่า “มนุษย์” ครั้นต่อมาชาวเมี่ยนถูกคุกคามจากชาวจีน
จึงอพยพลงใต้มายังเวียดนามเหนือ ตอนเหนือของลาว ทางตะวันออกของพม่าแถวเชียงตุง
และภาคเหนือของไทย ทั้งนี้
ชาวเมี่ยนที่เข้ามาอยู่ในไทยส่วนใหญ่อพยพมาจากลาวและพม่า ทุกวันนี้
ไทยจึงมีชาวเมี่ยนอาศัยอยู่ในเชียงราย พะเยา น่าน กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก
เพชรบูรณ์ สุโขทัย และลำปาง
สำหรับลำปาง
ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยน หรือเย้า อาศัยอยู่ในอำเภองาว ที่บ้านบ่อสี่เหลี่ยม
หมู่บ้านบนดอยสูง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพักค้างคืนได้
แต่การเดินทางต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ เนื่องจากเส้นทางลาดชันมาก
เผ่าอาข่า
เดิมอาศัยอยู่บริเวณต้นแม่น้ำไท้ฮั่วสุย หรือแม่น้ำดอกท้อ ต่อมาถูกรุกรานจนต้องอพยพลงใต้มายังมณฑลยูนนาน
แคว้นสิบสองปันนา และกวางเจา เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีความวุ่นวายทางการเมือง
ก็พากันอพยพลงใต้ต่อมาถึงแคว้นเชียงตุงของพม่า
ไปถึงแคว้นหัวโขงและแคว้นพงสาลีของลาว กระทั่งมาถึงชายแดนไทย-พม่าด้านอำเภอแม่สาย
จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีชาวอาข่าอาศัยอยู่ในภาคเหนือของไทย ได้แก่ เชียงราย
เชียงใหม่ แพร่ ตาก น่าน เพชรบูรณ์ และลำปาง
เดิมคนไทยและพม่ามักเรียกชาวอาข่าว่า
“อีก้อ” ขณะที่พวกเขาจะเรียกตนเองว่า “อาข่า” อันหมายถึง “ผู้ที่อยู่บนภูเขาสูง” และดูเหมือนการถูกเรียกว่าอาข่า
จะเป็นความภูมิใจของพวกเขามากกว่าถูกเรียกว่าอีก้อ
ที่บ้านป่ากล้วยเป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า
ที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล็ก ๆ จำลองสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอาข่า
ไม่ว่าจะเป็นประตูลกข่อ ชิงช้าใหญ่ และศาลผี ไว้ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้ชมวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใครของพวกเขา
สำหรับเผ่ากะเหรี่ยง
พวกเขาเรียกตนเองว่า “ปกาเกอญอ” ซึ่งแปลว่า “คน” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในไทย ชาวกะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกล
เป็นเผ่าแรกที่ตั้งรกรากอยู่ติดกับต้นแม่น้ำแยงซีในเขตทะเลทรายโกบี
ต่อมาอพยพหนีการรุกรานจากชาวจีนมายังทิเบต จากนั้นก็ถอยร่นลงมาทางใต้เรื่อย ๆ จนมาถึงพม่า
แต่ในที่สุดก็ถูกพม่าคุกคามอย่างหนัก
และอพยพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย
ชาวกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์ของชนเผ่าอยู่ที่ความรักสงบ
และมีวิถีชีวิตที่เป็นหนึ่งบเดียวกับธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง
โดยดัดแปลงจากตัวอักษรพม่าผสมอักษรโรมัน
ชาวกะเหรี่ยงในลำปางส่วนหนึ่งอยู่ที่อำเภองาว
ในหมู่บ้านที่ชื่อบ้านแม่ฮ่าง
จุดเด่นของหมู่บ้านอยู่ที่โรงเรียนบ้านแม่ฮ่าง โรงเรียนเดียวในย่านนี้ที่เป็นโรงเรียนกิน-นอน
มีเด็ก ๆ ชาวไทยภูเขาจากหมู่บ้านห่างไกลมาเรียนมากมาย ทั้งเผ่าอาข่า เผ่าเมี่ยน
และเผ่ากะเหรี่ยง บ้านแม่ฮ่างยังมีผลิตภัณฑ์ผ้าทอ
ฝีมือกลุ่มแม่บ้านกะเหรี่ยงบ้านแม่ฮ่าง ซึ่งถือเป็นสินค้าโอท็อปเมืองงาวเลยทีเดียว