พ ระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
คือการยกเลิกอำนาจอย่างครอบจักรวาลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ดูเหมือนกลับยิ่งหนักกว่าเก่า
เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ซึ่งแปลงร่างเป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”
รวมทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ ๓/๒๕๕๘ เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ คือการประกาศที่เป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการเต็มรูปแบบ
และทำให้การยกเลิกกฏอัยการศึกไม่มีความหมายระหว่างการมีอยู่หรือสิ้นไป
ประกาศ ฉบับนี้อธิบายว่าเมื่อมีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว
สมควรมีมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบ เรียบร้อย
ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการกระทําความผิดตาม
กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน
ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อป้องกันและปราบ
ปรามการกระทําดังกล่าวให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 บัญญัติไว้ว่า
ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์
ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ
หรือเพื่อป้องกัน ระงับ
หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของ ชาติ
ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร
ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง
หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร
หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ
รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ
หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้
เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
ความหมายคือการถ่ายโอนอำนาจมายังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยความเห็นชอบของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้
ออกประกาศสั่งการเพื่อความสงบเรียบร้อยได้อย่างฉับพลันจากนั้นจึงรายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และรายงานตัวเองในฐานะนายกรัฐมนตรี
มาตรา 44 คือ มาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ
ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย
มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะออกประกาศในฐานะตัวแทนอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ
และนิติบัญญัติ สั่งการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะปฏิวัติ
แล้วให้รายงานสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
หัวหน้าคณะปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ในขณะนั้น
สั่งให้มีการเผาฝิ่นที่ท้องสนามหลวง สั่งประหารมือเพลิง 3 ศพ
ณ ที่วางเพลิง สั่งประหารนายครอง จินดาวงศ์ ในคดีกบฏผีบุญ
ที่สนามบินอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
และมีคำสั่งอีกจำนวนมากสั่งประหารชีวิตจำเลยคดีอุกฉกรรจ์หลายคน
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตามมาตรา 17 หรือ
44 ล้วนเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างฉับพลัน
การใช้อย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นความคิดแบบจินตนาการ
การใช้อำนาจจัดการผู้มีความเห็นต่างและแม้กระทั่งสั่งปิดปากสื่อตามประกาศข้อ 5
ของหัวหน้า คสช.ย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นการใช้อย่างสร้างสรรค์เด็ดขาด
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
ฉบับที่ 1023 ประจำวันที่ 3 - 9 เมษายน 2558)