ส อบได้เป็นเรื่องตลก สอบตกเป็นเรื่องธรรมดา
อาจด้วยเหตุนี้ ผลการสอบ 0-NET
ถึงรูดมหาราช ตอกย้ำความล้มเหลวของการศึกษาไทย
แม้เข้าสู่ยุคปฏิรูปของ คสช.
มาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่
คสช. ได้ดำเนินการตามโรดแมป แผนปฏิรูปประเทศไทย จากห้วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงน้ำลด
ตอต่างๆที่จมอยู่ใต้น้ำดูจะผุดโผล่มาให้เห็นความเน่าเหม็นที่ซ่อนเร้นไว้ใต้ความชอบธรรม
แทบจะในทุกวงการเลยก็ว่าได้ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการศึกษาที่ตั้งธงไว้ว่าจะทำการปฏิรูป
แต่ดูเหมือนว่าจะคืบคลานอยู่ที่เดิม
จำได้ว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
2557 หัวหน้า คสช. เปิดงาน เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย เป็นการแถลงการณ์ทำงานตามสไตล์บิ๊กตู๋
ฟังดูเบาๆขำๆเรียกเสียงฮาได้ยอดเยี่ยม แต่เป็นความขำที่หลายหน่วยงานคงจะขำไม่ออก
แถมยังจะเหงื่อแตกซิกๆ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่ฟังแล้วมันโดนใจจี๊ดๆทีเดียว
“เด็กสมัยนี้เรียนไม่ต้องเกินเวลามั้ง
มันเรียนอะไรนักหนา กลับบ้านมามันก็หงุดหงิด
ยังต้องมานั่งทำการบ้านถึงสี่ทุ่มเที่ยงคืน ให้มันมีเวลาอยู่กับครอบครัวบ้างสิ
แล้วอย่างนี้มันจะหาความอบอุ่นในครอบครัวจากไหน กลับมาพ่อมันก็ต้องช่วยทำการบ้าน
รุ่งขึ้นมันบอกพ่อเมื่อวานทำผิดหมด เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปเรียนพิเศษ
พ่อแม่ก็ต้องหาเงินให้ เลี้ยงลูกเป็นเทวดาให้เรียนอย่างเดียว วันหยุดเรียนพิเศษ
เด็กเรียนหนังสือมีแต่ชีท ไม่มีตำรา.. แล้วคุรุสภาทำอะไร !? พิมพ์หนังสือมาเยอะแยะ” จบประโยคนี้เรียกเสียงปรบเสียงหัวเราะได้ดังไม่แพ้เดี่ยวไมค์โครโฟนเลยทีเดียว
แต่ก็เป็นกระแสตื่นอยู่อยู่พักเดียว
ปัญหานี้แจ้งเกิดมานานแล้วในสำหรับระบบการศึกษาไทย
แต่ดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาดูจะหลับหูหลับตา คล้ายหลอกตัวเองไม่ยอมรับความจริงที่อยู่ตรงหน้า
การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังจึงเป็นแค่วิมานในอากาศ
เรื่องเดิมๆที่วนมาฟ้องถึงความย่ำแย่
ตอกย้ำระบบการศึกษาไทย เมื่อผลสอบ O-NET ของปีการศึกษา 2556
ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ (ประกาศผลเดือนมีนาคม 57) ผล
สอบบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย อันยอดแย่
เพราะคะแนนเฉลี่ยฟ้องแบบไม่ต้องเอาไปผ่านเครื่องมือวิเคราะห์ทางสถิติใดๆก็
ชัดเจน
เป็นที่ประจักษ์ว่า “สอบตก” เกือบทุกวิชา
โดยเฉพาะวิชาหลัก คณิต วิทย์ และภาษาอังกฤษ
ที่สำคัญนั่นเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยว่าเราไม่สามารถควบคุมคุณภาพการสอนให้สัมฤทธิ์ผลตามหลักสูตรที่ตั้งไว้
ส่วนผลสอบ O-NET ของปีการศึกษา 2557 ที่ประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นตะปูที่มาตอกฝาโลง
ฝังระบบการศึกษาไทย ที่ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่นับวันยิ่งถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ
ที่คะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศ “แย่” กว่าเดิม
สวนกระแสรับ AEC ที่ป่าวประกาศกันโครมๆ
ยัดเยียดให้เด็กเรียนที่ 3 อย่าง ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ในขณะที่ภาษาที่
2 อย่างภาษาอังกฤษยังเอาตัวไม่รอด
สทศ. ได้วิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน
O-NET ม.3 จำแนกตามวิชา ดังนี้
ภาษาไทย คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 35.20 สูงสุด 76.00 ต่ำสุด 0
สังคมศึกษา คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 46.79 สูงสุด 90.00 ต่ำสุด 2.00
ภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 27.46 สูงสุด 98.00 ต่ำสุด 0
คณิตศาสตร์ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 29.65 สูงสุด 100 ต่ำสุด 0
วิทยาศาสตร์ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 38.62 สูงสุด 98.00 ต่ำสุด 0
สุขศึกษา คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 59.32 สูงสุด 97.50 ต่ำสุด 2.50
ศิลปะ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 43.14 สูงสุด 95.00 ต่ำสุด 0
การงานพื้นฐานอาชีพฯ คะแนนเต็ม 100 เฉลี่ย 45.42 สูงสุด 92.00 ต่ำสุด 0
ในขณะที่ข้อสังเกตที่สำคัญ
คือ ทุกระดับชั้น มีคะแนนต่ำสุดเป็นศูนย์ !!!
นั่นหมายความว่า
เด็กนักเรียนในระบบการศึกษาของไทย ไม่สามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้แม้แต่ข้อเดียว!!!
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเด็กไม่อ่านข้อสอบ เข้าไปมั่วคำตอบอย่างเดียว หรือไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผู้บริหารการศึกษา
ครูผู้สอนจะสันนิษฐาน แต่นั่น...เป็นสัญญาณที่ฟ้องว่าระบบการคิด การสร้างทัศนคติ เพื่อให้เยาวชนเติบโตตามลำดับขั้นมันล้มเหลว
ที่ผ่านมาเคยมีการสำรวจระดับการศึกษาของเด็กไทย
โดยนิตยสาร The
Economist ในจำนวน 40 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ที่อันดับ
37 แต่หากครั้งต่อไป ผลการสำรวจประกาศว่าเราไม่ได้เป็นอยู่ในอันดับรั้งท้าย
แต่กลายเป็นที่โหล่ของกลุ่ม การแก้ปัญหาคงจะไม่ง่ายอย่างที่คิด
มีหนทางเดียว
คือจัดการให้กระทรวงศึกษาธิการออกนอกระบบ ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการ เช้าชาม เย็นชาม
นั่นก็อาจพอเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้