วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

รอบรั้วพินิจวิทยา

  
ในวัย 81 ปี เจนจิรา ฮั่นเกียรติพงษ์ หรือที่ทุกคนในโรงเรียนพินิจวิทยา เรียกว่า คุณย่า ยังคงเค้าของความเป็นครูอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แม้ว่าจะวางมือจากการสอนเด็กนักเรียนไปนานแล้วก็ตาม
           
ปัจจุบัน คุณย่าเจนจิราเป็นเจ้าของและผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนพินิจวิทยา โรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 โดยหญิงสาว 2 คนที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ คือ ปราณี ฮั่นเกียรติพงษ์ และสะท้าน พินิจสะวะ ซึ่งตัดสินใจลาออกจากชีวิตความเป็นครูที่โรงเรียนราษฎร์มณี มาร่วมกันสานฝันด้วยการก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆของตนเอง
           
จากจำนวนเด็กนักเรียน 40-50 คนเมื่อเริ่มเปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทุกวันนี้ พินิจวิทยาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โรงเรียนอนุบาลพินิจวิทยา ถนนรอบเวียง ที่เปิดสอนเฉพาะเด็กเล็ก และโรงเรียนพินิจวิทยา ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยจำนวนนักเรียนกว่า 1,500 คน
           
โรงเรียนเราเน้นสอนให้เด็กๆอ่านออกเขียนได้ค่ะ คุณย่าเจนจิรา ซึ่งสืบทอดอุดมการณ์จาก คุณย่าใหญ่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 กล่าวถึงสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า นี่คือจุดแข็งของโรงเรียนแห่งนี้
           
ไม่เพียงแค่สอนให้อ่านหนังสือออก ด้วยแบบเรียนภาษาไทยที่ยึดถือเป็นต้นแบบมาตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้ง แต่ยังเน้นคุณธรรมและจริยธรรมของเด็กนักเรียน ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับความผูกพันระหว่างครูและนักเรียนด้วย
           
ที่นี่อยู่กันแบบครอบครัว คุณครูอายุ 60 กว่าก็ยังอยู่กับเรา แต่ก็ใช่ว่าจะตามเด็กๆไม่ทันนะคะ คุณย่าเจนจิราพูดพลางยิ้ม เพราะเราส่งครูไปอบรมเพิ่มเติมความรู้ใหม่อยู่เรื่อยๆเรื่องเทคโนโลยีเด็กสมัยนี้อาจรู้มากกว่าเรา แต่เรื่องอื่นๆเราจะระวังไม่ให้เขาล้ำหน้าเกินไป ระเบียบวินัยและกิริยามารยาทนี่สำคัญ
           
ส่วนเรื่องการเรียนการสอนที่เข้มข้น คุณย่าเจนจิรามอบหน้าที่ให้ว่าที่ ร.ต.ชีพสิทธิ์ ฮั่นเกียรติพงษ์ ผู้เป็นหลานชาย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ-ผู้จัดการโรงเรียนพินิจวิทยา แก้โจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับการเรียนการสอนให้เด็กๆเก่งขึ้นได้ และไม่ใช่เก่งเฉพาะในโรงเรียน แต่หมายรวมถึงการใช้ชีวิตข้างนอกด้วย
           
ผมคิดว่า ครูจะใช้ความจำมาสอนไม่ได้นะครับ เพราะจะทำให้เกิดการท่องจำ ซึ่งเป็นปัญหากับเด็กไทยทุกวันนี้ ครูต้องใช้หลักการสอน ผู้อำนวยการ-ผู้จัดการกล่าวต่อไปว่า การดูแลเด็กๆที่บ้านก็สำคัญ พวกเขาควรจะห่างจากโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และเกมคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการเรียนพิเศษที่หนักจนเกินไป
           
ทั้งนี้ ล่าสุดเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 คนของโรงเรียนพินิจวิทยา สามารถทำคะแนนได้ถึง 100 คะแนนเต็มจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษ

ด.ญ.พิมพ์พิชญ์ชา  คณิตปัญญาเจริญ สาวน้อยที่คว้า 100 คะแนนเต็มจากวิชาคณิตศาสตร์ มองว่า ความท้าทายของคณิตศาสตร์อยู่ที่การแก้โจทย์ ซึ่งทำให้เธอสนุกไปกับการเรียนทุกครั้ง นอกจากนี้ พิมพ์พิชญ์ชายังสามารถสอบได้อันดับที่ 3 ของห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ (Smart Science) ระดับชั้น ม.1 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยด้วย

ด้าน ด.ช.สิรภพ วงค์กุนะ ผู้ทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็มจากวิชาภาษาอังกฤษ บอกว่า เคล็ดลับของเขาอยู่ที่การท่องศัพท์ ขณะเดียวกันก็หาบทเรียนจากข้างนอกมาเสริม อย่างเช่น สื่อภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆถึงแม้จะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่เป็นไร ทั้งนี้ สิรภพสามารถสอบได้อันดับที่ 20 ของห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ (Smart Science) ระดับชั้น ม.1 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เช่นเดียวกับพิมพ์พิชญ์ชา

สำหรับ ด.ช. ธนัตถ์ ดอยลอม ซึ่งทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็มจากวิชาภาษาอังกฤษ และยังสอบได้อันดับที่ 1 ของห้องเรียนพิเศษทางคณิตศาสตร์ (Gifted Math) ระดับชั้น ม.1 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย บอกว่า การตั้งใจเรียนในเวลาเรียนเป็นสิ่งสำคัญ กลับบ้านก็ไม่ควรลืมที่จะทบทวนบทเรียนด้วย นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเพลงฝรั่งที่เขาชอบฟัง เมื่อชอบก็อยากรู้ความหมาย จึงพยายามค้นคว้าหาคำแปล เกิดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในอีกรูปแบบหนึ่ง

อย่าง ไรก็ตาม วัยเยาว์ของเด็กทั้งสามก็ไม่ได้ถูกทับถมจนหมดสิ้นไปกับการเรียนพิเศษมากมาย พวกเขายังมีวีรกรรมความซุกซนแบบเด็กๆที่คุณครูนำมาล้ออย่างรักใคร่เอ็นดู

คงดีไม่น้อย หากภายในอาณาบริเวณ 14 ไร่ กับเงินพัฒนาโรงเรียนที่ทุ่มเทไปกว่า 100 ล้าน และจำนวนครู 80 คน จะสามารถบ่มเพาะเด็กๆให้เติบโตขึ้นมาอย่างสมวัย ไม่หยาบกระด้าง จริงอยู่ที่สังคมไม่อาจปฏิเสธความเป็นเลิศทางความรู้ แต่ใช่หรือไม่ว่า เรายังต้องการมากกว่านั้น

                                                                                                กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1024 วันที่ 10 – 23 เมษายน 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์