วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

ไม่สร้างโรงไฟฟ้า นายกฯบ่อแฮ้วยันทำเอ็มโอยูยกเลิก-ชบ.ขับผู้ใหญ่ป่าเหียง


นายก อบต.บ่อแฮ้ว ทำ MOU ชาวบ้าน ไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ยกเลิกประชามติ 26 เม.ย.58  หลังชาวบ้านกว่า 200 คนรวมตัวกันจี้ขอคำตอบ พร้อมกันนี้ชาวบ้านยังได้ลงชื่อถอดถอนผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง นายอำเภอเร่งตรวจสอบหลักฐาน กำหนดลงมติ 24 พ.ค.58  ขณะที่ผู้ว่าฯ และ ทสจ.ยันมีแผนยุทธศาสตร์เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานทดแทนอยู่ในแผนแม่บท ย้ำสร้างโรงไฟฟ้าได้แต่พื้นที่ใดอยู่ที่การตกลงกัน 
           
-ขอคำตอบ
           
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 เวลา 08.00 น. ชาวบ้านป่าเหียง หมู่ 1 และกลุ่มชาวบ้าน ต.บ่อแฮ้ว กว่า 200 คน ได้เดินทางไปยังสำนักงาน อบต.บ่อแฮ้ว เพื่อพบนายสถาพร วะเท  นายก อบต.บ่อแฮ้ว ขอคำตอบในการเลื่อนการทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 หลังจากได้มีหนังสือจากกรมควบคุมมลพิษ ลงนามโดยนายสุวิทย์ ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้ทบทวนการดำเนินโครงการโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้ หรือโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากไม่มีในแผนแม่บทการจัดการขยะของจังหวัดลำปาง ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ทำหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอเพื่อแจ้งให้ อบต.บ่อแฮ้วทราบ  ชาวบ้านจึงได้ไปติดตามเรื่องจากทาง อบต. โดยในวันที่ 22 เม.ย.58 ได้ไปสอบถามจากนายก อบต.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด เนื่องจากทางนายก อบต.ได้แจ้งว่าจะต้องแจ้งเหตุผลที่จะยกเลิกประชามติให้ทางบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ทราบก่อน และจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบในช่วงเย็นของวันเดียวกัน  แต่ปรากฏว่าทาง อบต.ยังไมได้มีการยกเลิก ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางไปขอคำตอบอีกครั้งดังกล่าว
           
-ยกเลิกประชามติ
           
โดยบรรยากาศที่ด้านหน้า อบต.บ่อแฮ้ว ชาวบ้านต่างใส่เสื้อสีดำซึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ นำป้ายผ้าไปชูหน้า อบต. และประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้นายก อบต.ยกเลิกการทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 โดยไม่ต้องแจ้งให้ทางบริษัทฯทราบแล้ว เนื่องจากนายก อบต.เป็นเจ้าของพื้นที่มีอำนาจในการยกเลิก ไม่จำเป็นต้องถามทางบริษัท ชาวบ้านเป็นคนลงคะแนนเสียงเลือกนายกมาไม่ใช่นายทุนเป็นคนเลือก หากนายกช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวบ้านก็จะช่วยเหลือนายกตอบแทน ซึ่งต่อมาทาง นายก อบต.ก็ได้ทำหนังสือยกเลิกการทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 ดังกล่าว  แต่ชาวบ้านก็ได้เรียกร้องต่อให้นายก อบต. ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ด้วย
           
-ยุติโครงการฯ
           
จากนั้นจึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงขึ้นมา 1ฉบับ เป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วย ให้ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้(ขยะ) ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ ของบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ระหว่างนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแฮ้วกับตัวแทนชาวบ้านป่าเหียง และเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่รอบป่าเหียง โดยในเนื้อหาบันทึกข้อตกลงระบุว่า
           
-นายก อบต.ลงนาม

นายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมว่าด้วยให้ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้(ขยะ) ขนาด 6.5 เมกะวัตต์ ของ บริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด บริเวณเขตหมู่บ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่ให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ของบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ดังกล่าวโดยเด็ดขาด และมีการลงชื่อนายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว  นายทรงพล ศรีคำสุข  นายอุทัย เปี้ยปลูก ตัวแทนชาวบ้านป่าเหียงฯ  โดยมี จ.ส.ต.ชัยพร บุญเกียรติสกุล ปลัด อบต.บ่อแฮ้ว นายรังสรรค์ ฤกษ์สุภา และนายประพัต มณียศ ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฯ ลงชื่อเป็นพยาน      หลังจากนั้นชาวบ้านได้พอใจในการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่บ้านป่าเหียงอีก จึงพากันไชโยโห่ร้อง ก่อนจะเดินทางกลับกันอย่างสงบ

-ชาวบ้านประกาศชัยชนะ
           
นายไตรภพ ชมพูชัย ตัวแทนชาวบ้าน  เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า ถือว่าเป็นชัยชนะของชาวบ้าน ซึ่งต่างพอใจกับผลที่ออกมา หลังจากต่อสู้กันมานาน ต่อจากนี้คงจะไม่ไปซ้ำเติมอะไรกับฝ่ายตรงข้ามแล้ว ส่วนเรื่องต่างๆที่ยื่นร้องเรียนไปก่อนหน้าที่ก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายในการตรวจสอบความถูกต้อง
           
-นายก อบต.ยันไม่สร้าง
           
ด้านนายสถาพร วะเท นายก อบต.บ่อแฮ้ว กล่าวว่า  หลังจากที่ในพื้นที่ได้มีการประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านได้รวมตัวกันมาเรียกร้องที่ อบต. จึงให้เลื่อนมีการทำประชามติออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งทาง อบต.ได้แจ้งให้ทางบริษัททราบแล้ว เพราะไม่อยากเห็นครอบครัวทะเลาะกัน แต่ก็ต้องแจ้งเหตุผลการเลื่อนให้ทางบริษัททราบด้วย แต่เนื่องจากชาวบ้านต้องการคำตอบชัดเจนจึงได้มีการออกหนังสือยกเลิกการทำประชามติในวันที่ 26 เม.ย.58 พร้อมกับ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับชาวบ้าน ให้มีการยุติการดำเนินโครงการโรงงานไฟฟ้าขยะ ของบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด ในบริเวณเขตหมู่บ้านป่าเหียง หมู่ 1 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง แล้ว ซึ่งเบื้องต้นได้แจ้งให้ทางบริษัททราบทางโทรศัพท์ ทางบริษัทฯก็เข้าใจและเห็นใจเรา  ส่วนจะมีการย้ายไปก่อสร้างพื้นที่ไหนนั้นก็ไม่ทราบเช่นกัน
           
-ยังไม่ถอดใจ
           
ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยังบริษัท วีพีเอ็น แอนด์ ไซมิสทริค จำกัด  โดยนายรณรงค์ ลีไพบูลย์  วิศวกร กล่าวว่า  ยังไม่ทราบเรื่องการทำบันทึกข้อตกลงยุติโครงการในพื้นที่บ้านป่าเหียงแต่อย่างใด ทราบเพียงว่าจะมีการเลื่อนการประชามติออกไปก่อน ซึ่งทางนายก อบต.บ่อแฮ้วอาจจะโทรศัพท์แจ้งไปยังผู้บริหารบริษัทฯโดยตรงแล้ว ส่วนจะมองหาสถานที่แห่งไหนสำรองไว้หรือไม่ คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เชื่อว่าทางผู้บริหารยังไม่ถอดใจกับโครงการดังกล่าว
           
-ผู้ว่าฯยันสร้างโรงไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ ลานนาโพสต์ยังได้สอบถามไปยัง นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เกี่ยวกับแผนแม่บทการกำจัดของ จ.ลำปางด้วย นายธานินทร์ กล่าวว่า  จากนโยบายรัฐบาลและ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทุกจังหวัดมีแผนแม่บทเรื่องการกำจัดขยะ ซึ่งจังหวดลำปางได้ดำเนินการไปแล้ว โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์อยู่ในแผนแม่ทบดังกล่าว หนึ่งในนั้นมีเรื่องการนำขยะมาใช้เป็นพลังงานทดแทนอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของพลังงานไฟฟ้าก็ได้ โดยแผนดังกล่าวได้ส่งไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา   ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามารถสร้างได้ มีนโยบายทั่วประเทศ ส่วนจะสร้างในพื้นที่ใดนั้น เป็นการตกลงกันระหว่างเอกชนกับชาวบ้าน ซึ่งมีระเบียบกฎหมายรองรับอยู่

-ทสจ.ย้ำ มีแผนยุทธศาสตร์

เช่นเดียวกับนายฉลอง ของเดิม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง (ทสจ.ลำปาง) เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า แผนบริหารจัดการขยะ มียุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการในเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงหรือกระแสไฟฟ้าก็มีอยู่  ซึ่งกรณีที่กรมควบคุมมลพิษมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ลงนามโดยรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ส่งสำเนาหนังสือร้องคัดค้านของราษฎรบ้านป่าเหียง ขอให้ทบทวนโครงการฯ ให้พิจารณาในเรื่องความพร้อม ความเหมาะสมของพื้นที่ ปริมาณขยะ ความคุ้มค่าของการลงทุน และโครงการอื่นๆที่อยู่ในจังหวัดที่รองรับการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ได้ แต่ชาวบ้านก็เกรงว่าจะมีการนำขยะจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทิ้งด้วย  จังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งนายอำเภอให้แจ้ง อบต.บ่อแฮ้ว ว่าให้ปฏิบัติตามแผนการกำจัดขยะมูลฝอยของ จ.ลำปาง  
           
ในตอนเสนอแผนครั้งแรกยังไม่มีเอกชนที่สนใจเสนอโครงการ แต่มาเสนอโครงการในภายหลัง ซึ่งไปเริ่มต้นที่ท้องถิ่น คือ อบต.บ่อแฮ้ว ก่อน ไม่ได้มาเริ่มที่จังหวัด  กระบวนการนี้จะต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในส่วนนั้น ซึ่งยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลยเป็นเพียงแค่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น
           
ผอ.ทสจ.ลำปาง กล่าวต่อไปว่า สำหรับ จ.ลำปางแบ่งเป็น 6 คลาสเตอร์  ในส่วนของการจัดการขยะจะมีในพื้นที่ ต.ต้นธงชัย คือศูนย์กำจัดขยะของ อบจ.ลำปาง และของเทศบาลนครลำปางตั้งอยู่ในที่ ต.กล้วยแพะ  เคยสอบถามทางบริษัทฯว่าทำไมไม่สร้างในคลาสเตอร์ที่กำหนด ซึ่งทราบว่ามีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้า  ขณะเดียวกันในแผนแม่บทกำจัดขยะก็มีประเด็นยุทธศาสตร์ด้านส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการกำจัดขยะให้เป็นพลังงานทดแทนอยู่ แต่การจะก่อสร้างได้หรือไม่ได้อย่างไร ต้องอยู่ในดุลยพินิจของหน่วยงานต่างๆซึ่งเกี่ยวพันกันหลายหน่วย  กรณีที่กรมควบคุมมลพิษมีหนังสือทักท้วงมาก็จะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ในการประกอบการพิจารณาหากมีการขออนุญาตเข้ามา ซึ่งเป็นการให้ความเห็นให้จังหวัดนำไปประกอบการพิจารณา เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะอนุญาตได้ เพราะอยู่ในอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย
        
-ป่าเหียงยื่นถอด ผญบ.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 58  ชาวบ้านกลุ่มรักษ์ป่าเหียง ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุวิทย์ เล็กกำแหง นายอำเภอเมืองลำปาง ร่วมลงนามถอดถอนนายวาด เรือนจำปา ผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง หมู่ 1  โดยนำเอกสารพร้อมกับรายชื่อชาวบ้านเกินกึ่งหนึ่งมาเป็นหลักฐานให้ถอดผู้ใหญ่บ้านป่าเหียงออกจากตำแหน่ง
           
นายพยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ะตามกฎหมายปกครอง ถ้าชาวบ้านสองในสามยื่นถอดถอน นายอำเภอต้องมีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านหยุดปฏิบัติราชการและให้ออกจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องสอบสวน
           
-นายอำเภอเร่งตรวจสอบรายชื่อ

ด้านนายสุวิทย์ เล็กกำแหง นายอำเภอเมือง กล่าวว่า  จะต้องดำเนินการตามระเบียบ โดยชาวบ้านที่ยื่นจะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด  ดังนั้น จะทำการตรวจสอบรายชื่อก่อน ว่าชาวบ้านที่มีรายชื่อเป็นชาวบ้านในพื้นที่จริงหรือไม่ รายมือชื่อถูกต้อง มีตัวตนหรือไม่  จากนั้นจึงจะมีการประชุมลงประชามติถอดถอน  ต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการ ถึงแม้จะเป็นสิทธิของชาวบ้านแต่ก็ต้องตรวจสอบ  โดยจะมีการลงประชามติวันที่  24 พ.ค.58   ชาวบ้านที่มีรายชื่อต้องมาแสดงตนในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 กลุ่มชาวบ้านรักษ์ป่าเหียง ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊กด้วยว่า องค์คณะฎีกา ได้รับพิจารณาเรื่องที่ชาวบ้านได้ยื่นเข้าไปแล้ว และได้แต่งตั้ง ฯพณฯ กำธน สินธุวานนท์ องคมนตรีเป็นองค์ประธานพิจารณาฎีกาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1025 วันที่ 24 – 30  เมษายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์