เกิดอะไรขึ้นในแวดวงการศึกษา
เมื่อทั้งระดับนักเรียน จนกระทั่งนักศึกษา
ท้าทายอำนาจผู้บริหารด้วยการชุมนุมประท้วง ขับไล่ ด้วยเหตุผลต่างๆ
โดยเฉพาะการเป็นเผด็จการ ไม่ฟังเสียงใคร หรือการบริหารแบบข้ามาคนเดียว
จึงได้การตอบรับแบบขับไล่ไปคนเดียวเช่นเดียวกัน
ร้อยวันพันปี
ไม่เคยเกิดขึ้น นี่ย่อมสะท้อนความล้มเหลวในการเลือกคนมาบริหาร
หรือความเสื่อมสุดขีดตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีที่มาจากทหาร
ปลัดกระทรวงที่มีความสามารถเพียงรับคำสั่ง จนกระทั่งผู้บริหารระดับล่าง
การชุมนุมประท้วงที่ระบาดไปทั่ว
คือคำตอบ
เมื่อมีการชุมนุมประท้วงผู้นำ
นำไปสู่การโค่นล้มผู้นำได้เป็นลูกระนาดในหลายประเทศ
นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาในหลายโรงเรียนของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์ที่นักเรียนลุกขึ้นมาประท้วงผู้นำที่มีคำถามเรื่องการบริหาร ไม่โปร่งใส
ไร้ความสามารถ ได้กลายเป็นปรากฎการณ์ร่วมที่สั่นสะเทือนวงการศึกษาไม่น้อย
แม้ว่าในเวทีการเมือง การชุมนุมจะถูกแช่แข็งด้วยกฎเหล็กของกองทัพไปแล้วก็ตาม
จากติดตามข่าวสารไม่ว่าจะทางหน้าจอทีวี
จอมือถือผ่านโซเชียลมีเดีย หรือหน้าหนังสือพิมพ์ จะเห็นข่าว “เด็กนักเรียนประท้วง” แม้กระทั่งจังหวัดลำปาง ที่ปิดท้ายปี
2557 ด้วยข่าวเด็ก ประท้วง 2 แห่งในเดือนเดียว
วันที่
16 ธันวาคม 2557 นักเรียน และครู ร.ร.ผดุงวิทย์
(วัดศรีบุญเรือง) จ.ลำปาง รวมตัวกันกว่า 1,700 คน
ประท้วงเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง ผู้รับใบอนุญาต บริหารงานไม่โปร่งใส
และให้สีกาภายนอกเข้ามาบริหารงานในโรงเรียน
วันที่
26 ธันวาคม 2557 นักเรียน
ร.ร.ศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีลำปาง กว่า 300 คน
ประท้วงขับไล่ผอ.หลังไม่พอใจ การบริหารงาน และมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายเรื่อง
และเรียกร้องให้ ผอ.ชี้แจงรายรับจากเงินบริจาคจากหน่วยงานราชการและเอกชน
และวันถัดมานักเรียนกลุ่มเดิมประท้วงรอบสอง จนในที่สุดมีคำสั่งย้าย
ผอ.คนดังกล่าวในวันเดียวกัน
พอมาปี
2558 ก็ไม่น้อย หน้า เพราะในอาทิตย์เดียวกัน ก็มีการประท้วง ไล่ผู้บริหาร ถึง 2
แห่ง เช่นกัน
วันที่
23 มีนาคม 2558 นักศึกษา คณะครู เจ้าหน้าที่ นักการภารโรง วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง
รวมตัวกันประท้วง เรียกร้องให้ไล่ ผอ.ด่วน ซึ่ง
ผอ.คนปัจจุบันที่ถูกประท้วงนี้มาบริหารงานได้เพียง 6 เดือน เท่านั้น
วันที่
25 มีนาคม 2558 นักเรียน และครู วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ. แม่เมาะ
ประท้วง ไล่ ผอ. ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารตั้งแต่ พฤศจิกายน
2557
อะไรเป็นต้นกระแสแห่งความไม่พอใจ
จนถึงกับต้องมาประท้วง
ท้าทายกฎอัยการศึกที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการประท้วงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม
แต่ทหารคงไม่อาจอยู่นิ่งเฉยกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ในจากมุมของเหล่า
นักเรียน นักศึกษา เขารู้สึกว่าได้รับผลกระทบ
เพราะการมาโรงเรียนนั้นเพื่อศึกษาเล่าเรียน
แต่ไม่ใช่เพียงเนื้อหาวิชาการความรู้ผ่านตำราเท่านั้น
หากแต่ยังต้องการให้เยาวชนเติบโต พัฒนาทั้งสมองและอารมณ์ การเข้าสังคม ทำกิจกรรมต่างๆอย่างเหมาะสม แต่หากผู้บริหาร
ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจ้องมองแต่ผลประโยชน์จาก “ธุรกิจการศึกษา” บริหารสถาบันด้วยการเก็บสารพัดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เลี่ยงบาลีจากการเรียนฟรี
ในขณะที่ครูผู้สอนบางคนไม่ทำการสอน เพียงให้เด็กเรียนในตำราเรียนกันเอง จะมีการเปิดสอนพิเศษ
หากเด็กคนใดไม่เรียนพิเศษด้วยจะถูกกดคะแนน
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหมือนชนักติดหลังที่รอการระเบิด
เป็นชนวนให้เด็กออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้อง “สิทธิทางการศึกษา”
ที่เป็นการ ประจานระบบการศึกษา
ลองย้อนหลับไปมองที่จุดเดิม
หากเราทุกคนทำตามหน้าที่ นักเรียนตั้งใจเรียน ครูตั้งใจสอน
ผู้บริหารตั้งใจพัฒนาโรงเรียน เพื่อสร้าง คนคุณภาพ ระบบการตรวจสอบการทำหน้าที่ต้องมีประสิทธิภาพ
และหากตรวจสอบแล้ว มีความผิดจริง ต้นสังกัดควรต้องลงดาบ ลงโทษอย่างจริงจัง
ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการ “ย้าย”จากที่หนึ่ง
แล้วไป “สร้างปัญหา” ในที่ใหม่ !!!
จะต้องให้มีการประท้วงอีกสักกี่ครั้ง
เราจะยอมรับเสียที ว่าระบบการศึกษาภายใต้กระทรวงที่ทหารคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จนั้น
ตกต่ำ เสื่อมถอยเพียงใด