วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

บางระจัน แห่งป่าเหียง


           
นนามของการพัฒนา แม่เมาะ ได้สร้างประวัติศาสตร์บาดแผลให้ชาวบ้าน ป่วยไข้ ล้มตายมานับหลายร้อยคน ทั้งที่พิสูจน์ไม่ได้ และพิสูจน์ได้ด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองไม่นานมานี้
           
โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ่ายไฟฟ้าสำหรับภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20% ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้านตัน ชาวบ้านแม่เมาะในยุคที่สังคมยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก กลายเป็นผู้เสียสละโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
           
คนทั้งประเทศรู้จักแม่เมาะมากกว่าลำปาง แม่เมาะคือความภาคภูมิใจของคนลำปาง ในฐานะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้คนครึ่งหนึ่งของภาคเหนือใช้ อีกครึ่งหนึ่งส่งให้ภาคกลางและอีสาน แต่ชาวบ้านแม่เมาะสั่งสมไว้ด้วยสารพิษ
           
ความคิดในการสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ก็เพราะต้องการลดการพึ่งพาพลังงานจากป่าไม้  การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าจึงมิใช่ความเลวร้าย แต่ความเลวร้ายคือการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น การรุกรานพื้นที่ชุมชน โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และการวางตั้งไว้ซึ่งโรงงานผลิตสารพิษ ที่จะส่งผลต่อชุมชนและชาวบ้านไปชั่วลูกชั่วหลาน
           
ป่าเหียงก็ไม่แตกต่างกัน
           
ความพยายามที่จะเข้ามาสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานไอน้ำจากของเหลือใช้ หรือโรงไฟฟ้าขยะ ที่บริเวณบ้านป่าเหียง ของคนต่างถิ่น โดยมีมายาคติคล้ายเป็นเรื่องความมั่นคง ที่ทหารต้องเสนอบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง คือการเปิดแนวรบครั้งใหม่ของชาวบ้านบางระจัน แห่งป่าเหียง ที่จะต้องปกปักรักษาแผ่นดินเกิดของพวกเขาอย่างสุดกำลัง
           
แน่นอนว่าชาวบ้านอาจจะยังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน หรือบางทีเขาอาจไม่ได้คิดว่า ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปนานหลายสิบปี วิทยาการสมัยใหม่อาจมีวิธีการจัดการมลพิษทางอากาศ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็ได้
           
แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่จะปกป้องชุมชน และเช่นเดียวกับบทเรียนจากแม่เมาะ  การยอมให้มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในบ้านของเขา ไม่ว่ามันจะอยู่ในระยะปลอดภัยในทางวิชาการหรือไม่ก็ตาม แต่จะส่งผลไปยังลูกหลานของเขาในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน
           
ในด้านผู้ลงทุน ก็ต้องมีแผนธุรกิจ และแผนประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไป เพราะธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของชาวบ้าน ความเข้าใจแบบชาวบ้านคือขยะ ย่อมต้องมีสารพิษปะปนอยู่ และเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยเอกชน  ก็ย่อมนำขยะจากแหล่งอื่นมาใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้าได้
           
นายสุวิทย์  ขัตติยวงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ซึ่งยืนยันว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ไม่มีในแผนแม่บทการจัดการขยะของจังหวัดลำปาง ยืนยันว่าการป้อนขยะให้โรงไฟฟ้าจะต้องใช้ขยะไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ตันขึ้นไป ซึ่งการผลิตนั้น ขยะสด 300 ตัน จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ หากโรงไฟฟ้ามีขนาด 6.5 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ขยะปริมาณ 1,800 กว่าตันต่อวัน ลำปางทั้งจังหวัดมีปริมาณขยะมากสุดประมาณ 800 ตันต่อวันเท่านั้น !!
           
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ทางข่าวสาร ข้อมูล ที่บริษัทผู้ลงทุนก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หรือผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับทหารในพื้นที่  ฝ่ายปกครองไล่ลงมาจากผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงผู้บริหารท้องถิ่น  ซึ่งต้องไม่ใช่การใช้ทุน อามิสสินจ้าง เงินหรือผลประโยชน์อันใดเพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นอันขาด  เพราะนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า คอรัปชั่น หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน  อันเป็นความเลวร้ายชนิดหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเป็นนโยบายสำคัญ
           
สุดท้ายแล้ว นี่ไม่อาจเรียกว่าการต่อสู้เพียงเพื่อเอาชนะคะคานกัน ผู้ลงทุน นายทหารในพื้นที่ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงในการลงทุนภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับที่เกี่ยวข้อง จะต้องไม่มองชาวบ้านด้วยความเคลือบแคลงใจ จะต้องเชื่อว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ใจ เพื่อสิทธิชุมชน
           
ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ต้องเปิดใจกว้างยอมรับคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล และเชื่อในการพัฒนาท้องถิ่น เชื่อในการสร้างงานให้พื้นที่ สร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้กับการข่มขู่ คุกคามทุกชนิด หรือแม้กระทั่งการใช้ทุนมาเป็นเงื่อนไขให้ต้องยอมตาม
           
กรณีพิพาทป่าเหียง อาจไม่จบในเร็ววัน แต่คนบางคนที่ไม่สุจริตอาจจบก่อน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1022
 ประจำวันที่ 27   มีนาคม – 2 เมษายน  2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์