วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

รัฐธรรมนูญฉบับขายฝัน



           
พื่อแสดงเหตุผล หักล้างการมีขึ้นอีกครั้งของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจมิได้โต้แย้งในเชิงเนื้อหา หากแต่มุ่งอธิบายกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ในวงจรอุบาทว์ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจโดยกองทัพ การอภิปรายในห้วงเวลาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงวิธีการตามแบบประเพณี ซึ่งไม่อาจมีหลักประกันว่าการเมืองจากนี้จะแข็งแรงและยั่งยืน โดยเฉพาะในวาระใกล้ครบรอบปีของ คสช.ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ และเป็นข้อยืนยันว่า คสช.ยังไม่สามารถกุมสภาพได้อย่างเบ็ดเสร็จ
           
แม้ถึงจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่สามารถใช้โดยไม่จำกัด และไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายก็ตาม
           
การอภิปรายเพื่อลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา  เป็นอีกบทบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ยืนยันหลักคิดรัฐธรรมนูญนิยม คือหลักในการวางกติกาให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมิได้
           
ดังนั้น  ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เพื่อให้หัวหน้าคณะปฏิวัติออกประกาศใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ นัยหนึ่งคือการใช้อำนาจเผด็จการ ซึ่งย่อมขัดแย้งรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นช่องทางในการประกาศนิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายอาญา
           
เฉพาะเรื่องการปฏิรูปการสื่อสารมวลชน มีความเป็นไปได้ที่รัฐธรรมนูญใหม่ จะตราบทบัญญัติที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลทหารที่ต้องการคลื่นความถี่กลับไปครอบครองเช่นเดิม ในนามของความมั่นคง
           
โดยก่อนหน้านี้ ภายใต้ข้ออ้างการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  พวกเขาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ กสทช.ไปอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง
           
ดังนั้น อาจจะต้องปรากฏถ้อยคำที่ชัดเจนว่า จากนี้ไป กสทช.จะเป็นองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ได้เป็นองค์กรอิสระอีกต่อไป
           
ร่างกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายชั้นรอง และได้ร่างเสร็จก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในคราวหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดรับฟังความเห็น เกี่ยวกับร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง 10 ฉบับ  ผมได้ถามย้ำถึงความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. คำตอบคือ ต้องรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าจะให้สถานะของ กสทช.ยังคงเป็นองค์กรอิสระอีกต่อไปหรือไม่  ประเด็นนี้จึงเป็นสำคัญที่ สปช.จะต้องถี่ถ้วนในการอภิปราย
           
นอกจากเรื่องสื่อสารมวลชน อีก 10 ด้าน การเมืองซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากมาย  การศึกษา เศรษฐกิจ  ที่ดูแผ่วเบาไป และนอกจากการอภิปรายในแบบพิธี ตามขั้นตอนปกติ ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ในแง่เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องที่คาดการณ์อนาคต หรือสรุปบทเรียนในอดีต ด้วยความคิด ด้วยประสบการณ์ ด้วยความเป็นอิสระ หรือเพียงทำหน้าที่สนองรับความต้องการของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ละคน
           
แน่นอนว่า ย่อมไม่มีชุดความคิดหรือข้อถกเถียงใด จะเป็นชุดความคิด หรือข้อถกเถียงปรุงสำเร็จโดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย เนื่องเพราะบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปแต่ละยุคสมัย จะเป็นตัวกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ โดยใช้บทสรุปหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา
           
ถึงแม้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจมองไปในอนาคตและตั้งหลักกันว่า จะร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเหตุการณ์ที่วูบวาบไปตามยุคสมัยก็ตาม  แต่โปรแกรมความคิดที่ยึดโยงอยู่กับตัวบุคคล ก็ยังไม่อาจล้างออกจากสมองของคนบางคนได้
           
เช่น ยุคหนึ่งสังคมต้องการสร้างกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุล อำนาจนักการเมือง จึงเกิดองค์กรอิสระมากมาย ในขณะเดียวกันแนวคิดในการลดทอนอำนาจนักการเมือง จากเดิมที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ระบบพรรคการเมือง ก็ทำให้เกิดช่องทางที่นักการเมืองด้อยคุณภาพ จำนวนหนึ่งเข้ามาในสภา ซึ่งมีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2511 ย้อนหลังขึ้นไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงออกแบบให้การเมืองภาคพลเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นพลังนอกสภา ที่จะคัดง้างกับความคิดที่ว่า นักการเมืองในสภา คือตัวแทนของประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ
           
ความเป็นจริง กระบวนการอภิปรายรัฐธรรมนูญ เพื่อทำซ้ำรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ แล้วเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในบรรยากาศเสมือนแม่น้ำ 5 สาย คือสายเดียวนั้น  ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเลย หากการต่อสู้ทางการเมืองในระบบไม่เลยเถิดไปเป็นความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นต้องตัดสินกันด้วยระเบิดและความตาย และกลายเป็นเงื่อนไขในการยึดอำนาจ แล้วก็ต้องร่างกติกากันใหม่ตามธรรมเนียมการยึดอำนาจ ซึ่งว่าโดเนื้อหาแล้ว รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างมีข้อดี ข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น
           
รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของอังกฤษ ต้นแบบการเมืองระบบรัฐสภาใช้มาหลายร้อยปีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของสหรัฐ มี  7 มาตรา 55 อนุมาตรา ใช้มาแล้ว 200 ปี ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว 80 ปี ใช้รัฐธรรมนูญมา 19 ฉบับ  เพราะทหารไทยยังไม่โตพอที่จะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ดังนั้นเราคงมีรัฐธรรมนูญที่ฝันๆ ไปเช่นนี้อีกนาน
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1025 วันที่ 24 – 30  เมษายน 2558)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์