กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
หากเอ่ยถึงกวีเอกแห่งประวัติศาสตร์
เราคงนึกถึงศรีปราชญ์ กวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา หรือไม่ก็สุนทรภู่
กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเราอาจตกหล่นกวีเอกแห่งล้านนาไปคนหนึ่ง
พญาพรหมโวหารมีนามเดิมว่า
พรมมินทร์ มีเชื้อสายของตระกูลเจ้าเจ็ดตน สืบสายมาจากหนานทิพย์ช้าง
หรือพระยาสุลวฤาไชยสงคราม บิดาของพญาพรหมโวหาร คือ แสนเมืองมา ทำหน้าที่ผู้ถือกุญแจคลังหลวงของเจ้าผู้ครองนครลำปาง
ส่วนมารดาชื่อเป็ง
มีบันทึกไว้ว่า
พญาพรหมโวหารเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2345 บ้านของท่านอยู่ในตรอกทางด้านใต้ของวัดดำรงธรรม
ใกล้ ๆ กับโรงแรมทิพย์ช้าง เมื่อเติบโตพอจะร่ำเรียนได้ ก็ไปเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ที่วัดสิงห์ชัย
กระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
โดยมีพระอุปนันโทเถระคอยสั่งสอนทั้งศาสตร์และศิลป์จนเชี่ยวชาญการกวีเป็นพิเศษ
เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระอาจารย์ยิ่งนัก หลังจากนั้นพระอาจารย์ก็ได้พาศิษย์เอกคนนี้
ไปเรียนต่อกับพระอาจารย์ปินตา ณ วัดสุขขมิ้นที่เชียงใหม่ ผ่านไป 3 ปี ก็ขอลาพระอาจารย์ปินตากลับมาเมืองลำปาง
และตัดสินใจลาสิกขาออกมาเป็นหนานในเวลาต่อมา โดยก่อนหน้านั้น ท่านได้แต่งค่าว “ใคร่สิก” ไว้ด้วย
ภายหลังเมื่อลาสิกขาแล้ว
หนานพรมมินทร์ก็รับจ้างแต่งค่าว ลักษณะเหมือนการแต่งเพลงยาว หรือจดหมายรักที่หนุ่มสาวสมัยโบราณของล้านนาส่งถึงกัน
และยังรับจ้างเขียนคำร้องที่ศาลาลูกขุนด้วย จากความสนใจในการแต่งค่าว-บทกวีที่ไพเราะของชาวล้านนานี้เอง
บิดาจึงพาไปฝากตัวกับเพื่อนในคุ้มเจ้าหลวง ซึ่งก็คือพญาโลมาวิสัย-กวีเอกในแผนกอาลักษณ์สมัยนั้น
พญาโลมาวิสัยได้แต่งค่าวหงส์หินถวายเจ้าหลวงวรญาณรังสี-เจ้าผู้ครองนครลำปาง
ครั้งนั้นหนานพรมมินทร์ได้มีโอกาสอยู่ถวายงานแก้ไขชำระค่าวหงส์หินของพญาโลมาวิสัยให้ไพเราะมากขึ้นจนเจ้าหลวงทรงพอใจมาก
ถึงกับแต่งตั้งให้เป็น “พญาพรหมโวหาร” เป็นที่โปรดปรานในราชสำนัก
บางประวัติเล่าว่า
การชำระค่าวหงส์หินของพญาโลมาวิสัยในครั้งนั้น
หนานพรมมินทร์ได้กระทำต่อหน้าเจ้าหลวง เหมือนเป็นการหักหน้าพญาโลมาวิสัย
ซึ่งก่อนหน้านั้น พญาโลมาวิสัยได้ให้หนานพรมมินทร์ช่วยดูค่าวดังกล่าวแล้ว
แต่หนานพรมมินทร์ก็ไม่ได้ปรับแก้อะไร
ชีวิตของพญาพรหมโวหารมาถึงคราวต้องผกผัน
เมื่อเจ้าหลวงได้ข่าวว่าที่เมืองแพร่มีช้างมงคล จึงพระราชทานเงินแก่พญาพรหมฯ ผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องคชศาสตร์
โดยแต่งค่าวเกี่ยวกับช้างไว้หลายชิ้น ให้เดินทางไปซื้อช้าง แต่พญาพรหมฯ
กลับนำเงินไปเล่นการพนันจนหมดตัว จึงคิดแต่งค่าวช้างขึด
(ปัจจุบันยังหาต้นฉบับไม่พบ) ฝากไปยังเจ้าหลวงว่าช้างที่ไปเห็นนั้น ไม่เป็นมงคล
ไม่สมควรซื้อกลับไป ทำให้เจ้าหลวงทรงโกรธมาก ถึงกับคาดโทษประหารพญาพรหมฯ ไว้ พญาพรหมฯ
ต้องระหกระเหินไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่ กระทั่งได้เป็นกวีในราชสำนัก
ตาม
ประวัติกล่าวว่า
พญาพรหมโวหารถูกใส่ความเรื่องคบชู้กันนางสนมของเจ้าเมืองแพร่
จนต้องถูกคุมขัง
ระหว่างนั้นท่านแต่งคำจ่ม พรรณนาถึงความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ
และสุดท้ายได้รับการช่วยเหลือให้พ้นโทษ
แต่ก็ต้องหนีไปยังเมืองลับแล (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) ทั้งนี้
ท่านได้พาภรรยาที่รักมาก คือ นางบัวจม บ้างก็ว่าชื่อศรีชม
(ก่อนหน้านั้นพญาพรหมโวหารสมรสแล้วกับเจ้าสกุณา
ณ ลำปาง) ไปด้วย ทำมาค้าขายอยู่ที่นั่น หวังเริ่มต้นชีวิตใหม่
แต่เพียงไม่นาน
นางบัวจมก็หนีกลับไปอยู่เมืองแพร่ ทำให้พญาพรหมโวหารเสียใจมาก
และได้แต่งค่าวสี่บท
หรือค่าวฮ่ำนางจม วรรณกรรมชิ้นเอกของล้านนาชิ้นหนึ่ง
ซึ่งมีความไพเราะแพรวพราว
จึงแพร่หลายมากและถูกใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาการแต่งค่าวในเวลาต่อมา
พญาพรหมโวหารมีโอกาสกลับไปเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในปี
พ.ศ. 2404
โดยเป็นกวีในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ สมัยเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์
ท่านแปลงความเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่จากภาษาไทยกลางมาเป็นคำค่าวภาษา
ล้านนาถวายแด่เจ้าแม่ทิพเกสร
ซึ่งโปรดปรานละครแบบสยาม
ช่วงบั้นปลายในวัย
60 ปี ท่านได้สมรสอีกครั้งกับเจ้าบัวจันทร์ (เรื่องภรรยาของพญาพรหมโวหารนั้น เล่ากันว่ามีถึง
42 คน) และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2430 เมื่ออายุได้
85 ปี อนุสาวรีย์ของท่านอยู่บริเวณหน้าวัดสวนดอก
จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 12 เมษายนของทุกปี
ชมรมกวีพื้นบ้านล้านนาที่เชียงใหม่จะทำพิธีไหว้ครูค่าว โดยถือพญาพรหมโวหารเป็นบรมครู
ส่วนที่จังหวัดลำปาง อนุสาวรีย์ของท่านอยู่บริเวณสวนสาธารณะเขื่อนยาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1025 วันที่ 24 – 30 เมษายน 2558)