ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่แปรรูปสื่อมวลชนให้กลายเป็นสื่อสารมวลชน
ที่ทุกคนสามารถมีบทบาททั้งผู้รับและผู้ส่งนั้น ได้ทำให้เกิดหลุมดำขนาดใหญ่
ที่ทำให้ดึงดูดทุกสิ่งลงไปหากไม่มีความระมัดระวังอย่างเพียงพอ
วันอินเทอร์เนต็ตนานาชาติ (International
Internet day) ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2005
(ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา)
ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการโทรคมนาคมและเทคโนโลยี
อันเนื่องจากความสำเร็จของการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งเมื่อวันที่
29 ตุลาคม 1969
และพัฒนาการของโลกอินเทอร์เน็ตนับจากวันนั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของประชากรนับร้อยล้านพันล้านคนทั่วโลกแบบที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน
จำได้ว่า
ราวปี 2540
สมัยนั้นอินเทอร์เนตยังไม่มีมาใช้ในเมืองไทยอย่างแพร่หลายเหมือนกันปัจจุบัน
นี้
ตอนนั้น แร็ค ลานนา ได้มีโอกาสใช้ก็ที่ห้องสมุด
หรือสำนักคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย
ซึ่งเว็บเบราว์เซอร์ที่ฮิตๆในสมัยนั้นก็เป็น
Netscape Navigator โปรแกรมแชทที่ใช้ในสมัยนั้นยังเป็นระบบ Unix
ที่จะแชทได้กับคนที่อยู่ในวงแลนเดียวกัน จากนั้นก็พัฒนาเป็น ICQ Pirch98
ตามวิวัฒนาการของอินเทอร์เนตที่เริ่มมีผู้ให้บริการมากขึ้นในประเทศไทย
หลังจากนั้นไม่มีอะไรจะฉุดรั้งความก้าวหน้าของเครือข่ายออนไลน์
เมื่อความปรารถนาที่จะสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วผลักดันให้มนุษย์คิดค้นเครื่องมือในรูปของโซเชียลเน็ตเวิร์ก
(Social Network) หรือเครือข่ายสังคม (ชุมชนออนไลน์)
ไปพร้อมๆกับวิทยาการที่ก้าวหน้าในอุปกรณ์สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นพวกคอมพิวเตอร์พกพา
(Tablet) คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค (Laptop) และโทรศัพท์มือถือ (Mobile phone) เป็นต้น
เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคคีย์บอร์ดและปลายนิ้วควบคุมโลกทั้งใบของเราเอง
อินเทอร์เน็ตขยายตัวเป็นโลกใบใหญ่ที่ซ้อนทับสังคมในชีวิตประจำวันจนแยกกันไม่ออก
เราใช้ชีวิตในสังคมจริง และเราก็มีตัวตนในสังคมออนไลน์
และทุกวันนี้โลกทางออนไลน์มีความสมจริง
จนพฤติกรรมที่เราแสดงออกทางอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ทั้งคุณและโทษ ไม่ต่างจากสิ่งที่เราทำนอกโลกออนไลน์
ในยุคที่นักเลงคีย์บอร์ดครองเมือง
พฤติกรรมเหยียดหยามข่มขู่ต่อคนอื่นผ่านสื่อออนไลน์เห็นได้บ่อยๆ
โดยเฉพาะการพูดถึงบุคคลสาธารณะอย่างนักการเมือง ดารานักแสดง และนักร้อง
แต่ความเป็นบุคคลสาธารณะก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ มีสติในการโพสต์ข้อความที่อาจจะกระทบกระทั้งผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องได้
คิดจะ “เกรียน” เป็น “นักเลงคีย์บอร์ด” ต้องหัดเรียนรู้กฎหมายใช้ช่ำชอง อย่า
“มโนโซเชียล” เป็นคำเตือนจากผู้เชียวชาญด้านกฎหมายหลายต่อหลายคนที่ออกมาเตือนกัน
เพราะเมื่อเป็นคดีความ
การจะมาอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็คงไม่ทันการณ์ เพราะความผิดได้สำเร็จแล้ว
เราได้เห็นข่าวจากสื่อกระแสหลักที่ทุกวันนี้นักข่าวหาข่าวกันจากหน้าคอมพิวเตอร์
ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่งข่าว โดยที่หลายครั้งไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ
ข้อเท็จจริง แต่นำเสนอข่าวเพียงเพราะ “ชาวเน็ตแห่แชร์” ไม่ว่าจะเป็น ข่าวดราม่า
พนักงานรถเมล์สาย203 ผลักเด็ก(อายุ19ปี)ตกรถได้รับบาดเจ็บ ก็มีมนุษย์กล้องที่ขับรถตามมาอัดคลิปถามเด็กได้ความว่าถูกผลักจากรถเมล์
และนำไปเผยแพร่ทางเฟสบุ๊คจนเกิดกระแสแชร์สนั่นเมือง แต่เมื่อผู้เกี่ยวข้องนั่นคือ
ขสมก.
ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานที่เห็นเหตุการณ์ปรากฎว่าตัวเด็กได้ลงมาที่ถนนแล้วเสียหลักหกล้มเอง
พนักงานรถเมล์ไม่ได้ทำร้ายแต่อย่างใด
อีกทั้งแม่ของเด็กคนนี้ก็บอกว่าตัวลูกเองก็ได้รับการผ่าตัดสมองมาทำให้มีอาการอารมณ์ขึ้นๆลงๆได้
โอ้ละพ่อกันละงานนี้ แต่ที่แน่ๆกว่าความจริงจะเปิดเผย
เราจะเห็นได้ว่าจากการแชร์ข้อมูลด้านเดียวที่ยังไม่มีการสืบหาความจริงทำให้พนักงานคนนี้ต้องมีประวัติด่างพร้อยและถูกพักงาน
7 วัน อีกทั้งยังโดนคนในโลกสมมติอทางสื่อสังคมออนไลน์ “เชื่อว่าผิด” ด่าว่าสารพัด
แม้ว่าจะมีคนส่วนหนึ่งบอกให้รอความจริงก่อนที่จะตำหนิ
ลำปางเองก็ไม่น้อยหน้าในกลุ่ม Lampang
city กลุ่มเฟสบุ๊คที่มีสมาชิกมากกว่า 5 หมื่นคน
มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านค้า ของอร่อย สถานที่ท่องเที่ยว
แต่หลายครั้งที่มีการดราม่าเกิดขึ้น
และมีการฟ้องร้องกันเนื่องจากข้อความที่โพสต์ไปทำให้ธุรกิจร้านค้าได้รับความเสียหาย
หรือแม้แต่ล่าสุดเรื่องชายคนหนึ่งในจังหวัดลำปางได้ลงรูปเจ้าหน้าหลายรูปที่กำลังเขียนใบเสร็จค่าปรับด้วยถ้อยคำที่ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ในสื่อสังคมออนไลน์และได้มีการแชร์ภาพเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็ต้องมากราบขมาลาโทษ
แต่ในส่วนของคดีความก็ยังต้องว่ากันไปตามกฎหมาย
เพราะเป็นความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและมีความผิดทาง
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
แล้วเท่าไหร่
แค่ไหนเป็นการหมิ่นประมาท: การเขียนข้อความทางอินเทอร์เน็ตที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท
คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่จะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง
ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
บทลงโทษการหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต
การเขียนหรือโพสต์ข้อความการหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ตมีโทษแรง
เพราะเป็นการหมิ่นประมาททางสาธารณะตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานข้อความเผยแพร่ทางเว็บไซต์ตาม
พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน
600,000 บาท
โพสต์
เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นผิดเต็มๆ
ผู้ที่ถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท (ผู้ปล่อยข่าว)
ตามกฎหมายไทยไม่ต้องรับโทษหากสิ่งที่พูดหรือเผยแพร่ได้รับการพิสูจน์ความ
จริงนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ดังนั้นการเขียนข้อความว่า ใครรีดลูก ใครเป็นชู้กับใคร
ถึงแม้จะเป็นความจริง
ผู้เขียนจะต้องรับโทษตามคดีหมิ่นประมาท
เพราะศาลไม่ให้สิทธิ์ในการพิสูจน์ความจริงในเรื่องส่วนตัว
แต่ถ้าเป็นการหยักยอกเงินบริษัท การโกงกินเงินแผ่นดิน
หรือการทำตัวเป็นเฒ่าหัวงูลามกกับสาวไปทั่ว
แบบนี้ศาลให้พิสูจน์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ประโยชน์ต่อสาธารณะ
ซึ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง
ผู้เขียนหรือผู้โพสต์ข้อความไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะถือ
ว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้สังคมได้ตรวจสอบผู้คนที่เป็นพิษภัยต่อสังคม
เมื่อสังคมอุดมดราม่ากลายเป็นเรื่องธรรมดา
มนุษย์กล้องโหยหาพื้นที่ทางสังคม เสพติดยอดกดไลค์ กดแชร์ เมื่อถึงคราวเจอคนจริง
เอาเรื่องจริง ขึ้นศาลจริง ระวังจะติดคุกจริง จะหาว่าแร็ค ลานนา ไม่เตือนไม่ได้นะ