แ คมเปญต่อต้าน ไม่ซื้อ ไม่เข้าร้านเซเว่น
อีเลฟเว่น 7 – 11 พฤษภาคม
ถึงแม้จะมีการแชร์กันแบบถล่มทลาย ในสื่อสังคมออนไลน์
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตอบรับการลุกขึ้นมาแสดงพลังต่อต้าน การผูกขาดของร้านสะดวกซื้อ
ภายใต้อาณาจักรซีพี แต่ดูเหมือนโยนก้อนกรวดลงไปในทะเลอันกว้างใหญ่
นี่มิใช่ครั้งแรกที่ซีพีถูกต่อต้าน มีงานวิจัยบางชิ้นที่ศึกษา การผูกขาดของ
เซเว่น ชื่อเรียกขานที่เป็นที่เข้าใจของสังคมไทย
ที่ทำลายร้านโชว์ห่วย ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กของคนไทย แต่เซเว่น
ก็ยังอยู่ยงคงกระพัน ขยายสาขาไปทั่วประเทศคล้ายหนวดปลาหมึก ไม่ว่าจะไปแห่งหนไหน
หนีไม่พ้นเซเว่น
เซเว่น กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย
มีเพลงลูกทุ่งที่ใช้ร้านเซเว่น เป็นจุดบันดาลใจ
มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นหน้าเซเว่น และคนไทยจำนวนมากได้มองผ่านเหตุการณ์เหล่านั้น
ผ่านกล้องวงจรปิด โดยมีร้านเซเว่นเป็นฉากหลัง
ยี่สิบสี่ปีแล้วที่เซเว่นอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าดีหรือเลว ถึงนาทีนี้แล้ว
คนไทยคงปฏิเสธการมีอยู่ของเซเว่นไม่ได้
แน่นอนในวันที่เซเว่น ล้มเหลว แบกรับการขาดทุนมหาศาลเมื่อตอนเริ่มต้น
ไม่ค่อยมีใครคิดถึงเซเว่น
เมื่อกิจการล้มเหลว
และพวกเขาใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ในสังคมของการค้าเสรี
เมื่อแก้ปัญหาถูกทาง กิจการเติบโต แข็งแกร่งมากขึ้น ก็เป็นผลตอบแทนทางธุรกิจที่ซีพี และเซเว่น
ควรจะได้รับ
เซเว่น มีรากงอกมาจาก บริษัทเซาท์แลนด์
ไอซ์ เมื่อปี 2470 เริ่มจากกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำแข็งในดัลลัส
มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อกิจการเริ่มมั่นคง ก็ได้นำสินค้าอุปโภค
บริโภคต่างๆ มาจำหน่ายเพิ่ม และเปลี่ยนชื่อเป็น Tote,m
Store จนกระทั่งปี 2489 จึงได้เป็น Seven
Eleven และเป็นเซเว่น มาจนถึงวันนี้
หนังสือ 7000 สาขา
ส่งความสุขสู่ทุกชุมชน ให้ภาพการเติบโต
ขยายตัวของเซเว่น จากเมืองดัลลัสว่า
เมื่อกิจการดูมีอนาคต บริษัทอิโตโยคะโด กิจการค้าปลีกของญี่ปุ่น ได้ส่งคนไปดูงาน และเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่น เมื่อปี 2517 ด้วยสถานที่คับแคบ
ญี่ปุ่นได้ค้นพบตู้แช่ที่สามารถเปิดเติมสินค้าได้จากด้านหลัง
และระบบขนส่งสินค้าที่ทยอยส่งโดยไม่ต้องทำสต็อคสินค้า เซเว่นญี่ปุ่นใช้เวลา 2
ปี เปิดได้ 100 สาขา
ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีสาขาเซเว่นสูงที่สุดในโลก รองมาคือสหรัฐอมริกา
และประเทศไทยเป็นอันดับสาม
เซเว่นประเทศไทย เปิดสาขาแรกหัวมุมถนนพัฒนพงษ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 บริหารโดย ซีพีออลล์ ในเครือซีพี
วันนี้มีสาขากว่า 6,500 สาขา อีกสามปีข้างหน้า เซเว่นตั้งเป้าไว้
10,000 สาขา
ถึงวันนั้น ซีพี คงตอกย้ำภาพของการผูกขาดกิจการค้าปลีก
ได้ชัดเจนยิ่ง
ความเป็นจริงซีพี ถูกมองว่าเป็นปีศาจในสังคมไทยมาแล้วยาวนาน
เมื่อผมเริ่มเรียน ก.ไก่ ในอาชีพนักข่าวเศรษฐกิจ เมื่อราวสี่สิบปีก่อน
ซีพีก็เป็นผู้ร้ายแล้ว ด้วยข่าวเอาลูกไก่ไปทิ้งทะเล เพื่อพยุงราคาไก่
หลายปีต่อมาจึงได้รู้ว่า เป็นความคิดของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
แต่ภาพนี้ก็เป็นภาพในใจของสังคมไทย ไม่ลบเลือน
ผู้บริหารของซีพี ที่นักข่าวเศรษฐกิจมือใหม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เท่าที่จำได้ในขณะนั้น คือคุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ และคุณธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล ซึ่งเนื้อหาในการสัมภาษณ์ เป็นเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม และเรื่องอาหารล้วนๆ เพราะยุคนั้นซีพีไม่ได้ทำเรื่องอื่น
ผ่านมาถึงวันนี้ ซีพี ได้ขยายฐานธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางมาก ครอบคลุมชีวิตประจำวันของผู้คน จนแทบจะมองไปรอบตัวไม่อาจพ้นแบรนด์ที่มี รากงอกมาจากซีพีได้
ความรวยมิใช่ความเลวร้าย ความจนก็มิใช่ความต่ำต้อย น้อยหน้า ในตลาดการแข่งขันเสรี ความพยายามที่จะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลทางขวาง ก็เป็นเสรีภาพในการค้าขาย เช่นเดียวกับเสรีภาพชนิดอื่นๆ
ถ้าพวกเขาสามารถทำได้ โดยไม่ฝ่าฝืนกฏหมาย และใช้อภิสิทธิ์เหนือกลุ่มธุรกิจอื่น
ซีพีอาจมีภาพของการผูกขาดในเกือบทุกสิ่งของสังคมไทย แต่ไม่ได้แปลว่าถ้าตัดความพึ่งพาซีพีแล้ว ชีวิตจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เราอาจจำเป็นต้องพูดถึงซีพี ในภาพของความเป็นจริง และไม่ปฏิเสธความมีอยู่ของซีพี ที่มีทั้งด้านบวกและลบ
ถึงอย่างไร เกือบทุกลมหายใจของคนเมืองวันนี้ ก็อาจขาดเซเว่นไม่ได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1027
วันที่ 8 -
14 พฤษภาคม 2558)