ในวันที่กรุงเทพฯ ผุดโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะมีการสร้างแท่นคอนกรีตยื่นออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจากริมฝั่งอีก 19.5 เมตร เพื่อทำเป็นทางเดินและทางจักรยาน ความยาวรวม 14 กิโลเมตร
มองในแง่บวกก็คงเป็นการดี เพราะอย่างที่เรารับรู้กันว่า ตอนนี้สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมืองบางกอกนั้น กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างไปหมดแล้ว คนกรุงเทพฯ โดยทั่วไปแทบไม่ได้มีส่วนร่วมอันใดจากพื้นที่ริมแม่น้ำ หากจะมีพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นเหมือนเมืองใหญ่่ในต่างประเทศ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าคิด จะตะขิดตะขวงใจอยู่หน่อยก็ตรงที่โครงการนี้ถือเป็นโครงการเร่งด่วน คือจะสร้างทันทีโดยไม่ต้องศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นึกถึงถนนเลียบแม่น้ำวังในช่วงตัวเมืองลำปางตั้งแต่สะพานพิชัยพัฒนาไปจนถึงเขื่อนยาง ถนนเส้นนี้ ใคร ๆ ก็ชอบ เพราะได้เลียบชิดติดแม่น้ำ เช้า-เย็นมีผู้คนออกมาเดินเล่น หรือไม่ก็ขี่จักรยาน แล้วยังเรียงรายไปด้วยต้นไม้อย่างต้นคูน ต้นเหลืองอินเดีย ออกดอกสีเหลืองสดใส ไม่นับต้นพาสัตบรรณในบางช่วง ที่จะต้องโดนตัดกิ่งอยู่เป็นระยะ เนื่องจากยามออกดอกนั้น ส่งกลิ่นกำจายชวนให้ชาวบ้านเวียนหัวยิ่งนัก
ขณะเดียวกันก็แว่ว ๆ มาเป็นระยะว่า จะมีการขุดลอกแม่น้ำวัง ตลอดจนเทคอนกรีตริมฝั่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง
ตัดสลับกลับไปที่กรุงเทพฯ สภาพพื้นที่ของเมืองหลวงเราเป็นที่ราบลุ่มใกล้ปากแม่น้ำขนาดใหญ่ พื้นที่สองฝั่งเคยเป็นป่าริมน้ำสลับกับทุ่งกว้าง ถึงตอนนี้เป็นอย่างไร ก็คงเห็นกันอยู่แล้วว่าไม่เหลือเค้าเดิมสักนิด แม้แต่ต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู กรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้
กลับมาที่ลำปางบ้านเรา ยังดีอยู่บ้างก็ตรงที่สองฝั่งแม่น้ำวังยังพอหลงเหลือสภาพตามธรรมชาติดั้งเดิมให้เห็น แม้ในสายตาของใครบางคนอาจมองว่ามันดูรก ๆ แต่นี่คือระบบนิเวศริมน้ำ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำวัง
รากไม้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำยามใบและผลร่วงหล่นลงไปในแม่น้ำก็เป็นอาหารของปลา หรือแม้แต่ตอนที่มันหมดอายุขัยโค่นล้มลงไป ก็ยังกลายเป็นที่อยู่ของปลาได้อีก แมลงที่บินวนเวียนอยู่ตามริมน้ำ เผลอ ๆ ยังถูกนกโฉบจับ หรือไม่ก็พลาดหล่นน้ำกลายเป็นอาหารให้สัตว์น้ำ พงหญ้้าที่เรามองว่ารก ๆ แท้จริงมันมีประโยชน์เหลือแสนต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพราะมันคือที่ทำรังวางไข่และที่หลบภัยของนกกวัก เป็นที่พักนอนของเป็ดแดง หาดทรายริมแม่น้ำวังยังเป็นที่พักผ่อนเล่นน้ำของฝูงนกอุ้มบาตร นกอพยพที่เราเห็นบ่อย ๆ ยามฤดูหนาว รวมไปถึงเหล่านกเอี้ยงและนกอีกนานาชนิด นกกระเต็นและนกจาบคาต่างเฝ้ารอเหยื่ออยู่ตามต้นไม้ริมแม่น้ำด้วยใจจดจ่อ ตัวหนึ่งรอปลาเล็ก ๆ อีกตัวหนึ่งรอแมลง ยามหัวค่ำช่วงฤดูฝน ริมแม่น้ำวังบางช่วงยังมีหิ่งห้อยวิบวับให้เห็น
เราไม่อาจคาดเดาได้ว่า ในอนาคตชะตากรรมของระบบนิเวศริมแม่น้ำวังจะเป็นอย่างไร เหมือนกับที่คนกรุงเทพฯ หลายคนไม่รู้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาของพวกเขา “เคย” มีปลาเทพา ปลานักล่าขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ เช่นเดียวกับคนลำปางบางคนเท่านั้นที่รู้ว่า ตามหาดทรายริมแม่น้ำ “เคย” มีเต่าขึ้นมาวางไข่
เพราะสิ่งที่เรียกว่า ความเจริ ทำให้คนสมัยนี้ไม่รู้แล้วว่า สิ่งดี ๆ ที่ “เคย” มีอยู่นั้น มันเป็นอย่างไร
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1029 วันที่ 22 - 28 พฤษภาคม 2558)