กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
เห็นป้ายบอกทางสำหรับจักรยานตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ๆ ในตัวเมืองลำปางอย่างวัดปงสนุกแล้ว
แอบดีใจที่บ้านเราเริ่มให้ความสำคัญกับจักรยานมากขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวน่าเศร้าของชาวสองล้อ
ที่เขย่าจิตสำนึกในการขับรถของคนไทยให้สะเทือนเลื่อนลั่น
กล่าวกันว่า เนิ่นนานมาแล้ว
ชาวจีนได้คิดค้นยานพาหนะทางบกที่มีลักษณะคล้ายจักรยานขึ้น
และต่อมาชาวอียิปต์และอินเดียก็ประดิษฐ์พาหนะคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะรูปร่าง
ปี ค.ศ. 1790 ชาวฝรั่งเศสประดิษฐ์ยานพาหนะคล้ายจักรยาน
ประกอบด้วยล้อสองล้อ เชื่อมกันด้วยไม้ ทำเป็นรูปคล้ายหลังม้า หรือหลังสัตว์ต่าง ๆ
และเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยการไสด้วยเท้า เขาใช้ชื่อพาหนะชนิดนี้ว่า Celerifere
แปลคร่าว ๆ ได้ว่า บรรทุกความเร็ว
ต่อมาในปี ค.ศ. 1816-1818 Baron Karl
Friedrich von Drais de Sauerbrun ชาวเยอรมัน
ได้ปรับปรุง Celerifere ด้วยการเพิ่มอุปกรณ์สำหรับบังคับทิศทางและมีที่นั่งที่มีสปริง
รับรู้กันโดยทั่วไปว่า นี่คือจักรยานคันแรกของโลก
เราต่างรู้จักจักรยานกันตั้งแต่เล็ก ๆ
พาหนะที่สร้างความสนุก ตื่นเต้น และเพลิดเพลินให้ชีวิตวัยเด็ก ความรู้สึกตอนได้เป็นเจ้าของจักรยานคันแรก
สายลมที่ไล้ผ่านเนื้อตัวของเรา เส้นผมเราพลิ้วสยาย เสียงหัวเราะแช่มชื่น กลับมลายหายไปในวันที่อยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์
สำหรับรถจักรยาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับจักรยานมีอยู่ว่า
ม. 79 ทางใดที่ได้จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน
ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับในทางนั้น
ม. 82 ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับให้ชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ
ไหล่ทาง หรือทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ม. 80 ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องมีกระดิ่งที่ให้สัญญาณได้ยินในระยะทางไม่น้อยกว่า
30 เมตร เครื่องห้ามล้อที่ใช้การได้ดี
ทำให้รถจักรยานหยุดได้ทันที โคมไฟติดหน้ารถจักรยานแสงขาวไม่น้อยกว่า 1 ดวง ที่ให้แสงไฟส่องตรงไปข้างหน้า เห็นพื้นทางได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15
เมตร โดยอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาของผู้ขับขี่ที่ขับรถสวนมาก
และโคมไฟติดท้ายรถจักรยานแสงแดงไม่น้อยกว่า 1 ดวง
ที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน
ม. 37 การใช้สัญญาณด้วยมือและแขนอย่างถูกต้อง
ม. 83 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยาน
1. ขับโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียว 2. ขับโดยไม่จับคันบังคับรถ
3. ขับขนานกันเกิน 2 คัน เว้นแต่ขับในทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยาน
4. ขับโดยนั่งบนที่อื่น มิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ
5. ขับโดยบรรทุกบุคคลอื่น
เว้นแต่รถจักรยานสามล้อสำหรับบรรทุกคน 6. บรรทุก
หรือถือสิ่งของหีบห่อ หรือของใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจับคันบังคับรถ 7.
เกาะ หรือพ่วงรถคันอื่นที่กำลังแล่นอยู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า
คนใช้ถนนส่วนใหญ่ในบ้านเรายังไร้ระเบียบและไม่เข้าใจเรื่องสิทธิบนท้องถนน ซึ่งทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน
ทำให้หลาย ๆ ครั้งจักรยานต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม
แม้ว่าจะพยายามดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว เคารพกฎจราจรมาตลอดชีวิต
แต่ก็ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับความห่วยของระบบจราจรและความไร้ระเบียบวินัยของคนขับรถยนต์
นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับทัศนคติที่มีปัญหา เช่น ดูถูกจักรยานว่าเป็นเรื่องของชนชั้นล่าง
ขณะเดียวกันก็หมั่นไส้จักรยานแพง ๆ ด้วย
การจะส่งเสริมให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในประเทศนี้
กลายเป็นเมืองจักรยาน คงไม่ได้หมายความแค่มี Bike Lane เท่านั้น
แต่ต้องปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนให้ผู้คนพลเมืองกันตั้งแต่เด็ก ๆ
แค่จังหวัดลำปางเล็ก ๆ ของเรา เอาง่าย
ๆ ลองไปเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายดูสิว่า มีรถหยุดให้เราข้ามหรือเปล่า
ก่อนที่จักรยานจะเปลี่ยนโลกให้สดใสไร้มลพิษ
จักรยานคงต้องฝ่าด่านสำคัญไปให้ได้ก่อน นั่นคือ ใจคน หัวใจที่เบ่งบานไปด้วยจิตสำนึกอย่างถ่องแท้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างรถยนต์
จักรยาน หรือแม้แต่คนเดินถนน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1027
วันที่ 8 -
14 พฤษภาคม 2558)