กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
ตามประสาคนรุ่นใหม่มักไม่รู้จัก “เมี่ยง” ใครชอบเมี่ยง อมเมี่ยง อาจถูกมองว่าเป็นคนโบราณ พลอยทำให้การทำเมี่ยงอมขายเริ่มหดหายลงไปแล้วทุกวันนี้ ในอนาคตหากหมดรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ เมี่ยงอมก็อาจไม่มีให้เห็นอีก
ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน ขับรถผ่านความคดเคี้ยวสูงชันขึ้นไป ช่วงฤดูหนาวที่นั่นคือแหล่งชมดอกเสี้ยวบานตระการตา ส่วนช่วงวันธรรมดา บนนั้นคือที่ตั้งของบ้านป่าเหมี้ยง หมู่บ้านเก่าแก่ที่ยึดโยงชีวิตอยู่กับการปลูกเมี่ยง อาหารพื้นถิ่นที่ทำจากใบเมี่ยง อย่างยำใบเมี่ยง เป็นเมนูเด็ดแสนอร่อยที่คนเคยไปบ้านป่าเหมี้ยงโฮมสเตย์ยังจดจำ
เมี่ยง คือ ชาพันธุ์อัสสัม มีคนเรียกชาพันธุ์นี้ว่า ชาป่า เพราะพุ่มไม้สีเขียวเข้มมักขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขา ใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องดูแลประคบประหงมเท่าชาพันธุ์อูหลง เมื่อลิ้มรสครั้งแรก ชาอัสสัมสีเหลืองเข้มดูจะให้รสขมฝาด แต่เพียงไม่นานจะรู้สึกชุ่มคอ รสหวานจะค่อย ๆ แสดงตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่วนพวกชาอูหลง คนในเมืองบอกว่ามันช่างนุ่มละมุน แต่ชาวบ้านเห็นว่า พวกนั้นรสมันไม่เข้ม กินแล้วเวียนหัว ไม่สบายท้อง
ชาอูหลงก้านอ่อนแห่งดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีชื่อมากที่สุด ชาพวกนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางขั้นตอนอันเคร่งครัด เราคงเคยเห็นภาพต้นชาเรียงเป็นแถวเป็นแนวสวยงามกันมาบ้าง เช่นเดียวกับวิธีการดื่มชาอูหลง ซึ่งดูเป็นพิธีรีตอง ชุดชงชาเต็มรูปแบบขายกันหลายพันบาท ประกอบด้วยถ้วยดมกลิ่นกับถ้วยดื่มชาเข้าชุดกัน ป้านชา และอุปกรณ์ตักชา เหล่านี้คือสินค้าสวยงามและเป็นของสะสม
ส่วนการดื่มชาอัสสัมนั้นเป็นเรื่องไม่อ้อมค้อม ชาอัสสัมที่ขึ้นชื่อแหล่งหนึ่งอยู่ที่บ้านพญาไพรเล่าจอ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่บ้านพญาไพรมีการผลิตชาในรูปแบบสหกรณ์ของหมู่บ้าน มีรายได้ร่วมสิบล้านบาท ต่อปี จากการขายใบชา ซึ่งกวาดรางวัลมาแล้วทุกประเภทในการประกวดคุณภาพใบชาพันธุ์อัสสัมจากงานเทศกาลชาโลก
ใกล้ลำปางมาอีกหน่อย ที่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตำบลเรือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากสิบสองปันนา โดยนำเอาต้นเมี่ยงมาปลูกบนความสูง 300-1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
ในปี พ.ศ. 2546 ราคาเมี่ยงตกต่ำ คนรุ่นใหม่ ๆ ระดมความคิดกันว่า ลำพังการทำเมี่ยงอมขายคงไปไม่รอดแน่ เรามาร่วมกันแปรรูปใบเมี่ยงให้เป็นชาชงพร้อมดื่มกันเถิด
ว่าแล้ววิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศรีนาป่าน-ตาแวน ก็เกิดขึ้น ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย พากันตระเวนไปศึกษาดูงานตามพื้นที่ปลูกชาหลายแห่งทั่วประเทศ กระทั่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย เดินทางมาให้คำแนะนำ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชาทีพนา (TEAPhanaa) ให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนเมืองน่านและนักท่องเที่ยว เพราะเปิดซุ้มขายเครื่องดื่มชาอยู่ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน ใจกลางเมืองกันเลยทีเดียว
จุดเด่นของชาทีพนา คือ ความเป็นชาออร์แกนิก ไร้สารพิษ ปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา เป็นยอดชาพันธุ์อัสสัมที่ว่ากันว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาทั่วไป ชาเขียวทำจากยอดชาสด นุ่มนวล หอมละมุน ส่วนชาดำผ่านการหมักบ่ม ให้กลิ่นและรสเข้มข้น สามารถเก็บไว้ได้นาน
การตกผลึกในความคิดที่ว่า “ใบเมี่ยงคือวิถีชีวิต แต่ชาคือเศรษฐกิจ และป่าคือตัวเชื่อมให้ทั้งสองอยู่ร่วมกัน” ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศรีนาป่าน-ตาแวน เติบโต ใครอยากเสพสุนทรีย์จากชาก็นั่งดื่มชากลางเมืองกันไป ใครอยากไปดูต้นทางของชาเหล่านี้ ซึ่งก็คือชาพันธุ์อัสสัม ก็ขึ้นเที่ยวในหมู่บ้าน ไปเรียนรู้ไปดูชาวบ้านปลูกต้นเมี่ยง แถมยังได้ชิมเมนูจากใบเมี่ยงด้วย
ว่าแต่ตอนนี้ จะรับ Coffe Tea or Miang ? ดีคะ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1041 วันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2558)