กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
ลืมภาพห้องสมุดทึม ๆ ร้อน ๆ กับบรรยากาศที่แสนจะจืดชืดไปได้เลย เพราะหลังจากปิดปรับปรุงไปนานร่วม 3 ปี หอสมุดประชาชนข้างสวนเขลางค์ฯ ก็เปิดให้บริการพร้อมรูปโฉมใหม่ สดใสและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา นั่นเพราะหอสมุดประชาชน ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดเทศบาลนครลำปาง ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับTK Park อุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่กรุงเทพฯ จึงเกิดการทำงานร่วมกัน ผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานการเรียนรู้ของชาวลำปาง โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็นอุทยานการเรียนรู้นครลำปาง Lampang Knowledge หรือเรียกสั้น ๆ เก๋ ๆ ว่า LK Park
LK Park นำระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WALAI Auto Lib) ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์คือ TK Park มาใช้ร่วมกันกับระบบเดิม เพื่อช่วยในการจัดการห้องสมุดและศูนย์บริการสารสนเทศ บรรณารักษ์จะทำงานง่ายขึ้น หนังสือเล่มไหนที่เรามีตรงกับ TK Park หนังสือเล่มนั้นจะใช้เลขหมู่ของหนังสือตรงกัน ซึ่งก็จะตรงกับห้องสมุดในเครือข่ายอีกสิบกว่าแห่งทั่วประเทศด้วย นอกจากนี้ สมมติว่าวันใด เราต้องการยืมหนังสือเล่มหนึ่ง แต่ที่นี่ไม่มี บรรณารักษ์จะเช็คได้ว่า หนังสือเล่มนั้นมีอยู่ ณ ห้องสมุดใด เมื่อพบแล้ว ก็สามารถทำเรื่องยืมข้ามจังหวัดมาให้เราได้ด้วย


“ไม่มีอีกแล้วค่ะ กับการมาเลือกหนังสือแล้วก็กลับไป” สิริรัตนา เสโลห์ คันธรักษา นักวิชาการศึกษา 7 ว. หัวหน้างานการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย สำนักการศึกษา เทศบาลนครลำปาง ในฐานะผู้ดูแล LK Park พูดพลางยิ้ม

“LK Park มีพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัวค่ะ ของเล่นสำหรับเด็กเราเปลี่ยนใหม่เรื่อย ๆ หนังสือใหม่ก็ทยอยขึ้นชั้นตลอด เพราะเดือนสองเดือนเราจะออกไปซื้อหนังสือใหม่กัน รวมกับหนังสือหมุนเวียนที่ทาง TK Park จะส่งมาให้นักอ่านชาวลำปางเป็นระยะ แอร์เราก็เปิดทั้งวัน และขณะนี้ กำลังพยายามจัดสรรกิจกรรมมาสร้างสีสันให้ห้องสมุดเป็นห้องสมุดมีชีวิตมากขึ้น” สิริรัตนากล่าว
นอกจากนี้ เธอยังย้ำว่า LK Park จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ความสมบูรณ์ยังอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางข้อจำกัดด้านบุคลากร ทุกฝ่ายยังต้องฝ่าฟันไปให้ถึงคำว่า “ห้องสมุดในฝัน” วันที่จะสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์
“เราโชคดีที่มีผู้ใหญ่เปิดกว้าง เสนออะไรไปไม่เคยเบรกเลย กลับบอกเราด้วยซ้ำว่า ต้องมีกิจกรรมนะ ไม่อย่างนั้นคนจะเริ่มเบื่อ”ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในวันนี้ LK Park คือของใหม่ หลายอย่างดูแปลกหูแปลกตา ทว่าในวันข้างหน้า หากไม่มีการพัฒนา ก็จะกลายเป็นการย่ำอยู่กับที่ นั่นคือสิ่งที่สิริรัตนากังวล
“เราต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ พวกเขาคือสมาชิกหลักของเราที่มักจะมาใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดทั้งวัน บางกลุ่มนัดมาประชุมงานย่อย ๆ บางกลุ่มนัดกันมาท่องบทละคร มานั่งทำงาน ทำคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะวันเสาร์ คนจะคึกคักมาก”
คำว่า “ห้องสมุดในฝัน” ยุคสมัยนี้จึงต้องเป็นมากกว่าที่เก็บหนังสือจำนวนมาก พื้นที่แห่งนี้ต้องการชีวิตชีวา ต้องการความเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วม ซึ่งสิริรัตนาในฐานะผู้ดูแล LK Park ยืนยันว่าจะต้องพัฒนาไปถึงจุดนั้นให้ได้
...............................................
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1043 วันที่ 28 สิงหาคม -3 กันยายน 2558)