วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สวมกันน็อค100% 38ราชภัฎร่วมMOU


ราชภัฎลำปางต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ดึง 38 ราชภัฎทั่วประเทศร่วมทำข้อตกลงรณรงค์สวมหมวก  สร้างวินัยจราจรให้นักศึกษา ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย   ให้เป็นวัฒนธรรมของ ม.ราชภัฎทั่วประเทศ

ผศ.ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  เปิดเผยว่า  จากที่ได้เล็งเห็นว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหลัก  จึงได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2553 เป็นการอบรมอาสาสมัครจราจร ใช้นักศึกษาวิชาทหาร  จากนั้นปี 2554 ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.54  เป็นข้อบังคับชัดเจนว่า หากนักศึกษา รวมทั้งบุคลากร และผู้มาติดต่องาน ไม่สวมหมวกกันน็อค จะไม่ให้เข้ามาภายในมหาวิทยาลัย จะให้นำรถจอดไว้ด้านนอกและเดินเข้ามาแทน  ในตอนแรกประสบปัญหาเช่นกัน แต่ก็ต้องมีการพูดคุยทำให้เข้าใจกัน และยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวให้กับนักศึกษาได้รับทราบ เช่น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากเพื่อนตัวเอง เนื่องจากเมื่อก่อนมีการเกิดอุบัติเหตุภายในมหาวิทยาลัยเยอะมาก ทำให้นักศึกษาได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการใส่หมวก และยินยอมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ

จากนั้นทาง ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เห็นว่า ม.ราชภัฎลำปาง ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง จึงได้ให้ ม.ราชภัฎลำปางเป็นต้นแบบในการสวมหมวกนิรภัย  เมื่อได้รับเป็นองค์กรต้นแบบแล้ว ทำให้มีการขยายผลและสร้างเครือข่ายต่างๆ โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม โดยเฉพาะบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สาขาลำปาง  ได้ร่วมมือกันมาเรื่อยๆจนถึงปี 2557  ทำให้ลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียที่รุนแรง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตรวจสอบจากตัวเลขที่นักศึกษาเข้ามาขอเคลมประกันกับมหาวิทยาลัย ส่วนการใช้ชีวิตข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัย คิดว่ายังมีนักศึกษาสวมหมวกกันน็อคอยู่ 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความเคยชิน และเชื่อว่าได้รับความปลอดภัยในการสวมหมวก

ผศ.ดร.ปริเยศ   กล่าวว่า  ตนเป็นเลขาที่ประชุมผู้บริหารระดับรองอธิการฝ่ายนักศึกษา จึงคิดไอเดียให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุในกลุ่มนักศึกษาให้เบาบางลง จึงเกิดโครงการร่วมกัน คือ ราชภัฎภาคเหนือร่วมใจ ขับขี่ปลอดภัยสร้างวินัยจราจร ในกลุ่มของราชภัฎภาคเหนือ 8 มหาวิทยาลัย โดยลำปางเป็นเจ้าภาพ และได้ทำบันทึกข้อตกลงไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 58 ที่ผ่านมา แต่ละแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการช่วงเปิดภาคเรียนในเดือน ส.ค.58  โดยการสร้างภาคีเครือข่าย และร่วมมือกับหน่วยงานในจังหวัด ซึ่งราชภัฎลำปางจะช่วยเป็นพี่เลี้ยง  ซึ่งแต่ละแห่งก็มีปัญหาอุปสรรคแตกต่างกันไป  มีบางแห่งที่พบเห็นแล้วตักเตือนให้สวมหมวกนิรภัย หรือบางแห่งก็มีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยภายในมหาวิทยาลัยก็มี  ในส่วนของราชภัฎลำปางก็ยังมีนักศึกษาที่หลงลืมไปบ้าง หากพบเห็นก็จะมีใบเตือนให้   เมื่อทำในส่วนของภาคเหนือแล้ว จึงมีแนวคิดว่าน่าจะทำให้ได้ทั้งหมด 38 ราชภัฎทั่วประเทศ ได้มีการนำเสนอในที่ประชุมอธิการบดีราชภัฎทั่วประเทศ ในปีนี้ ม.ราชภัฎลำปางเป็นเจ้าภาพในการประชุม วันที่ 27 พ.ย.58  โดยจะมีการทำบันทึกข้อตกลง(MOU) ร่วมกันทั้งหมด 38 แห่ง        ตามที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน  และได้มีมติ ครม.เห็นชอบกำหนดให้ดังกล่าวเป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตจากอุบัตเหตุทางถนนไม่เกิน 10 คนต่อประชากรแสนคน รัฐบาลจึงได้มีนโยบายความมั่นคง ลดอุบัติภัยและความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรให้เหลือน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว  เพื่อเป็นการสร้างองค์การต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ นำไปสู่การดำเนินงานในเชิงนโยบายของแต่ละองค์กร เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ของนักศึกษาและบุคลากร ได้มีแนวคิดร่วมกันว่า ม.ราชภัฎทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามนโยบายองค์กรต้นแบบสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์  ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยให้นักศึกษาและบุคลากร ทุกระดับได้มีส่วนในการร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนภายใน ม.ราชภัฎทั่วประเทศ

นายเอกพงศ์ ปิติจะ ผู้จัดการสาขาลำปาง บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ  กล่าวว่า  หลังจากทางราชภัฎได้ขับเคลื่อนในเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาอย่างจริงจัง จึงได้ประสานงานเข้ามา เนื่องจากทางบริษัทกลางฯ ได้มีการรณรงค์ถนนปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่แล้ว  ทุกปีจะสนับสนุนงบประมาณที่ได้มีการเขียนโครงการขอเข้ามา  เริ่มโครงการในปี 2557  ทางราชภัฎลำปางนำเด็กของมหาวิทยาลัยราชภัฎ 8 แห่ง ไปประชุมทางวิชาการร่วมกันที่ จ.พิษณุโลก  เพื่อที่จะขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกัน 

บริษัทกลางฯ สนับสนุนงบประมาณบางส่วน และสนับสนุนหมวกนิรภัย โดยทางบริษัทจะออกเงินในราคาส่วนต่างให้  เช่น หมวกนิรภัยราคาเต็ม 169 บาท นำมาขายให้ประชาชนราคา 99 บาท ส่วนต่างที่เหลือ 70 บาท ทางบริษัทกลางฯจะออกเงินให้ เป็นต้น  บทบาทของบริษัทกลางฯ พยายามจะสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ใน จ.ลำปาง ที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของความปลอดภัยทางถนน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1053 วันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์