ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน ดันโครงการ แบมบูซิตี้ จัดสัมมนา “นวัตกรรมไผ่แห่งชาติ” ให้ความรู้ ปลูกไผ่ เพิ่มมูลค่าสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน ด้าน ธกส.เตรียมแผนรับขึ้นทะเบียนไผ่เป็นธนาคารต้นไม้ จ่ายต้นละ 3 บาท/ปี
นายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ตามนโยบายและตั้งใจที่จะช่วยแก้ไขเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การจัดการป่าชุมชน ปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด แก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนลำปาง ซึ่งหากส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไผ่ เปรียบเทียบกับการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และยูคาลิฟตัส ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจยอดฮิต ก็จะพบว่า “ไผ่”เป็นไม้เศรษฐกิจ เป็นไม้ใช้สอย และเป็นไม้กินได้ และ ไผ่ไม่เพียงเป็นพืชอาหาร และพืชที่นำมาใช้สอย และอื่นๆมากมาย และอีกประเด็นสำคัญที่ประเทศทั่วโลก มีความพยายามค้นคว้าวิจัยโดยการนำไผ่ มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมพลังงาน ผลิตเป็นเอทานอล แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 ผลิตเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และวันนี้ลำปางเรามีงานวิจัยดีๆ ที่นับว่าประสบผลสำเร็จจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง อำเภอแม่พริก โดยนำถ่านไผ่ มาผลิตเป็นก๊าชสะอาด แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานแทนน้ำมัน ในรถมอเตอร์ไซด์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ รถปิ๊กอัพซึ่งระบบการเผาไหม้เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีขี้เถ้า ด้วยความร้อนสูง จึงเปลี่ยนสภาพจากขี้เถ้ากลายเป็นก้อนแร่ซิลิกา สามารถนำไปผลิตปูนซีเมนต์ ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตเซรามิค แก้ว และสาร ซิลิคอนต่างๆ เช่น ซิลิโคน ซิเลน และโลหะซิลิคอนในอุปกรณ์กึ่งตัวนำไฟฟ้า
แต่ปัญหาคือ เกษตรกรไทยขาดองค์ความรู้เรื่องไผ่ ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้จึงนับว่าเป็นวาระสำคัญของจังหวัดลำปาง ให้ประชาชนปลูกไผ่ นำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ช่วยลดโลกร้อน ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังนั้นจังหวัดลำปาง จึงได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จัดงาน”นวัตกรรมไผ่แห่งชาติ” ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2558 เพื่อต้องการให้ประชาชนในจังหวัดลำปาง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติทั่วประเทศ ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประโยชน์ของไผ่ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นโอกาสดีๆ ของพี่น้องประชาชนชาวลำปาง ถ้าทุกครัวเรือนปลูกไผ่ ลำปางก็จะกลายเป็นมหานครไผ่ Bamboo City เหมือนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ที่เขาพัฒนาและรู้มูลค่าของไผ่ ไปก่อนเรา และนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทย พม่า เขมร ลาว ที่ยังไม่เข้าใจมูลค่าของไผ่นั่นเอง
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเองได้ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจการเกษตรอุตสาหกรรมไผ่มาพอสมควรต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไผ่ในประเทศไทย ไม่ได้รับการพัฒนาขยายผลการจัดการความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยที่ต่อเนื่อง ไม่มีแผนการส่งเสริม หรือพัฒนาไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ดูแลสังคม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการสุขภาพที่สอดคล้องกับวงจรชีวิตของมนุษย์ และความสัมพันธ์ในความสมดุลทางธรรมชาติ
นายเกรียงเดช สุทธภักติ รองนายก อบจ. ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จากความร่วมมือเพื่อการมีส่วนร่วมของจังหวัดลำปาง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางครั้งนี้ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาท้องถิ่น ในรูปแบบผสมผสานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดลำปางให้เกิดการบูรณาการพัฒนาชุมชนทั้งระบบ ตั้งแต่การส่งเสริมสร้างความรู้ การผลิต การนำมาใช้ประโยชน์ และการประเมินรายละเอียดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การตลาด การค้าขาย ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตและความสมดุลของธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดลำปางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางจึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดลำปาง (ธ.ก.ส.) และมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปังจัดประชุมอบรมสัมมนาทางวิชาการ การส่งเสริมนวัตกรรมไผ่แห่งชาติ จะจัดขึ้นในวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์ประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
นางจุราพร จันทร์ขาว ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดลำปางกล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร หนี้สินนอกระบบ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่ได้ตั้งไว้
สำหรับโครงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่ ครั้งนี้ ธ.ก.ส.มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการจัดการเชิงสถาบันการเงินในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจัดระบบให้เกษตรกรที่ปลูกไผ่ สามารถนำไผ่มาขึ้นทะเบียนธนาคารต้นไม้ โดย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้จ่ายให้ 3 บาท/ต้น/ปี และยังช่วยเหลือคุ้มครอง 7 ภัยพิบัติ คือ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว อัคคีภัย ไร่ละ 1,111 บาท และศัตรูพืชและโรคระบาด 555 บาท/ไร่สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจทำเป็นธุรกิจการลงทุนการเกษตร หรือเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการลงทุนหรือดำเนินกิจการเพื่อสังคม Social Enterprise ก็สามารถขอรายละเอียดการสนับสนุนหรือกู้ยืมเงินจากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยพิเศษได้ที่ธนาคาร ธ.ก.ส. ทั้ง 14 สาขาในจังหวัดลำปาง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1054 วันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2558)