วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปอ ทฤษฏี โศกซ้ำ สื่อซัด

           
ว่าบทความนี้จะได้รับการเผยแพร่ ยังไม่รู้ว่าอาการป่วยของคุณปอ ทฤษฏี สหวงษ์ จะดำเนินไปถึงจุดใด  แต่สิ่งที่รู้เห็นในวันนี้ คือการทำหน้าที่ของสื่อที่ละเมิดสิทธิส่วนตัว และซ้ำเติมชะตากรรมผู้เคราะห์ร้าย และญาติพี่น้องของเขาที่กำลังอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัส
           
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์หน้าหนึ่ง ตีพิมพ์ภาพคุณปอ บนเตียงคนไข้หนัก มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด น่าแปลกใจที่ปกติการถ่ายภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องต้องห้ามอยู่แล้ว นี่ในห้องคนไข้หนัก เดลินิวส์ได้ภาพนี้มาอย่างไร ด้วยวิธีใด
           
เป็นการได้มาซึ่งข่าวและภาพ ที่ไม่ได้รับความยินยอมจากญาติพี่น้องของดาราหนุ่มคนนี้แน่นอน และหมอ พยาบาล คงจะไม่ยอมให้ถ่ายภาพนี้ ดังนั้น การได้มาซึ่งข่าวและภาพเช่นนี้ จึงเป็นการละเมิดหลักการทำงานในเบื้องต้นแล้ว อย่างไม่ต้องสงสัย
           
ภาพเช่นนี้ ไม่ต่างไปจากภาพหลวงพ่อคูณยามอาพาธหนัก ที่สื่อติดตามทำข่าว ถ่ายภาพหลวงพ่อคูณบนเตียงคนไข้ ไม่ต่างจากการเผยแพร่ภาพ ของแตงโม ดาราสาวที่กินยาเกินขนาด และการถ่ายภาพเธอในอาการของคนผู้ฟื้นไข้ แม้เจ้าตัวจะยินยอมก็ตาม
           
ในโรงพยาบาลทุกแห่ง มีประกาศสิทธิผู้ป่วยติดไว้ชัดเจน ห้ามบุคลากรทางการแพทย์สนับสนุนให้มีการละเมิดสิทธิผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริงคนในสังคมโดยทั่วไปก็มีการละเมิดสิทธิผู้ป่วยเป็นปกติ เช่นการถ่ายภาพผู้ป่วยภายในห้องคนไข้ ให้ผู้ป่วยแสดงกริยาอาการต่างๆ เช่น ยกมือชูสองนิ้ว ที่แปลว่าใจยังสู้ แต่กายพ่ายแพ้
           
ผู้ป่วยบางราย ชูสองนิ้ววันนี้ วันรุ่งขึ้นตายเลย
           
การละเมิดสิทธิผู้ป่วย และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตอบโจทย์เป้าหมายในการสร้างรายได้ มากกว่าการทำงานตามหลักวิชาชีพ และสะท้อนให้เห็นผู้บริหารข่าวรุ่นใหม่ที่ตกอยู่ภายใต้กฏเหล็กของธุรกิจ และความพยายามที่จะเติมความบันเทิงลงบนพื้นที่ข่าว ทั้งที่ยังไม่เข้าใจความเป็นข่าวบันเทิง
           
ความเป็นข่าวบันเทิง ถูกประกอบสร้างให้ผิดเพี้ยนไปจากข่าวบันเทิง พลันที่ปรากฏ ข่าวชีวิตส่วนตัวของคุณแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ผิดหวัง อกหัก จนพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม ให้พ้นไปจากทุกข์โศกของมนุษย์คนหนึ่ง ข่าวการป่วยของคุณปอ ทฤษฏี สหวงษ์
           
คำประกาศสิทธิผู้ป่วย เป็นคำมั่นสัญญาที่บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ญาติผู้ป่วย และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับรองไว้ว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด
           
สภาพความเจ็บป่วยของคนๆหนึ่งนั้น ย่อมแตกต่างจากสภาพปกติที่เขาเคยเป็น หรือผู้ที่เคยพบเห็น เช่น อาจจะซูบผอม อิดโรย หน้าตาไม่สดใส มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ห้อย แขวน เต็มไปหมด ผู้ป่วยต้องการความเป็นส่วนตัว และอาจรู้สึกมีความทุกข์มากขึ้นจากการเปิดเผยตัวตนต่อสังคม
           
อีกมิติหนึ่ง คือความเป็นบุคคลสาธารณะของคุณปอ ทฤษฏี
           
พวกเขาอาจมีความเชื่อว่า นี่คือเรื่องราวของ บุคคลสาธารณะ” หรือ Public Figure ที่ความเป็นส่วนตัวย่อมได้รับการยกเว้น หรือนัยหนึ่งคุณปออาจได้รับความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในทางกฎหมาย น้อยกว่าบุคคลโดยทั่วไป อีกแง่มุมหนึ่งยังเป็น สิทธิในการรับรู้ หรือ Right to know ของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารด้วย
           
ในมิติของจริยธรรม คงตอบได้ว่า ความเป็นบุคคลสาธารณะ มิได้หมายถึงสื่อมวลชนสามารถรุกล้ำเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของเขาได้ในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะการกระทำอันมีลักษณะซ้ำเติมความทุกข์ของผู้ประสบชะตากรรม
           
นี่คือความผิดอย่างไม่ต้องสงสัย สำคัญก็คือมันอาจเป็นบทเรียนที่ยังไม่เพียงพอ หากวันใดคนทำข่าวจะประสบชะตากรรมเช่นนี้เอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1054 วันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์