การเรียนแบบโรงเรียนทหาร และมหาวิทยาลัย แม้จะมีฐานะเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาด้วยกัน แต่ปรัชญา แนวคิด และการออกแบบคนมาสู่สังคมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โรงเรียนทหารสอนให้มีวินัย เชี่ยวชาญในการ “สั่ง” และ “ฟัง” ห้ามโต้เถียง ห้ามโต้แย้ง เพราะถืออาวุโสเป็นใหญ่
แต่มหาวิทยาลัยสอนให้คิด สร้างบรรยากาศแห่งการถกเถียง เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ดังนั้นเมื่อต้องมาเกี่ยวข้องในฐานะผู้นำประเทศ ที่จำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงวิพากษ์กลุ่มอาจารย์ที่ออกมาต่อต้านเขาอย่างรุนแรง
เพราะเขาเชื่อว่า บ้านเมืองสงบดีแล้ว ไม่ควรกวนน้ำให้ขุ่นอีก
แม้ว่าหลายฝ่ายจะยืนยันนั่งยันนอนยันว่าบ้านเมืองสงบดี ไม่มีการปิดถนนประท้วงอย่างที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงมันอาจเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะหลายฝ่ายยังบอกว่ามีคลื่นใต้น้ำอยู่ เพียงแต่ตอนนี้ถูกเหยียบไว้ใต้รองเท้าบู๊ท อีกทั้งสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์หลายๆอย่างยังคงถูกขึงพืดด้วยม.44 รวมถึงการเสวนาในวงวิชาการที่สร้างความอ่อนไหวให้แก่ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มนักวิชาการร่วมกันแถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา
วันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการ อันได้แก่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นักวิชาการทั้ง 5 คน ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้า คสช. โดย พ.ต.อ.มณฑป แสงจำนง รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ได้ชี้แจงว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีเนื้อหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย
จากความเคลื่อนไหวนี้ทำให้มีการรวมตัวของคณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 11 คน ออกแถลงการณ์ในนาม “เครือข่ายคณาจารย์วลัยลักษณ์เสรี” เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” และคัดค้านการดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย โดยให้ความเห็นว่าการตั้งข้อหาจำคุกต่อคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิด และความรู้แก่สังคม
และ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” แต่เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ไขปัญหาของประเทศ นักวิชาการและนักศึกษาจึงควรมีเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัย และสังคม
อาจจะเป็นข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งที่ถูกกลบด้วยกระแสข่าวรายวัน อีกทั้งข่าวนี้ดูจะเป็นข่าวหนัก ข่าวการเมืองที่คนไทยในโลกเสมือนไม่ค่อยให้ความสนใจกันมากนัก ต่างจากข่าวมโนสาเร่ ข่าวเร้าอารมณ์ กระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นเรื่องหายนะของคนอื่นมากกว่าเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความคิดเห็นที่ดูจะถูกลิดรอนแม้กระทั้งในชั้นเรียน
คนไทยกว่า 70 ล้านคน แตกต่างกันทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ความคิดทางการเมือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะถอยหลังลงคลองเมื่อเรามีความคิดที่แตกต่าง แต่ถ้าหากเราปิดกั้นแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็นแม้ในห้องเรียนหรือในวงเสวนาที่แสดงความคิดเห็นในกรอบและขอบเขตที่พึงกระทำได้ยังต้องถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญานั้น นี่แหละอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากำลังจะถอยหลังลงคลองได้ ในขณะที่หลายประเทศพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด
การปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ อาจจะได้ผลเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่เมื่อมือที่มองไม่เห็นหมดอำนาจเมื่อนั้นการจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงอาจจะไกลเกินความที่คิดไว้
และอำนาจที่เคยใช้อย่างสิ้นเปลือง ก็จะหวลกลับมาทำลายตัวเอง