ความเชื่อที่ว่า องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ล้วนเป็นพวกกันเอง ทำนองแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน ไม่น่าจะเป็นความจริง หากพูดอย่างคนที่มีประสบการณ์ตรงในองค์กรวิชาชีพเหล่านี้มาก่อน
ในฐานะที่เคยเป็นผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ และสังกัดเครือเนชั่น หลายครั้งที่สื่อในเครือ เช่น คม ชัด ลึก ละเมิดจริยธรรม ก็ผมนั่นเองที่เป็นคนเสนอให้ สภา นสพ.ตรวจสอบความผิด ครั้งนี้ก็เช่นกันเมื่อตัวแทนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ และยักษ์รอง 2 ฉบับ คือไทยรัฐและเดลินิวส์ ซึ่งมักจะล้ำเส้นเสมอ กลายเป็นหมายเลข 1 และ 2 ในสภา นสพ.พวกเขาก็ไม่ได้รีรอ ที่จะกล่าวโทษและส่งคำเตือนถึงหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ
ตอนที่เดลินิวส์ ลงภาพคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ บนเตียงคนไข้ ก็เป็นคุณชาย ปถะคามินทร์ แห่งเดลินิวส์ ในฐานะเลขาธิการสภา นสพ.ส่งคำเตือนถึงเดลินิวส์
และเมื่อคุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี แห่งไทยรัฐ ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะกรรมการสภา นสพ.ก็มีมติให้ส่งคำเตือนถึงไทยรัฐ และเดลินิวส์ จากกรณีข่าววิกฤติก่อการร้ายที่ฝรั่งเศส และการป่วยของคุณปอ
ในการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ครั้งล่าสุด ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือเตือนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เรื่องการเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดที่ประเทศฝรั่งเศส และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เรื่องการเผยแพร่ภาพ ผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องจากการกระทำทั้งสองกรณีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านคุณค่าความเป็นมนุษย์ และเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย
ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิตจากกรณีระเบิดที่ประเทศฝรั่งเศสโดยไม่เซ็นเซอร์ ในฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งการเผยแพร่ภาพดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านคุณค่าความเป็นมนุษย์ และสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้เคยมีจดหมายขอความร่วมมืองดเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิตแล้ว ดังนั้นสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงได้ส่งจดหมายเตือนไปยังหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้เผยแพร่ภาพ นายทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดง ซึ่งป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและมีอาการเข้าขั้นวิกฤติ นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในฉบับวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ส่งจดหมายขอความร่วมมือไปยังองค์กรสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ให้งดเผยแพร่ภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาล ดังนั้นสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงได้ส่งจดหมายเตือนไปยังหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่า คำเตือนเหล่านี้ ในความเป็นจริง อาจไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะการทำงานวันต่อวันนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ เช่น วิธีคิดของบรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าว ที่ต้องการเพียงขายข่าว แต่ไม่รู้หรือไม่ใส่ใจการทำงานที่ต้องระมัดระวังมิให้ไปละเมิดบุคคลอื่น
แต่การเตือนกัน ก็ยังดีกว่าการเพิกเฉย และในหลายครั้ง ผู้บริหารสูงสุดในกองบรรณาธิการ เช่น กรณีไทยรัฐ ก็ให้ความสำคัญกับคำเตือนจากสภา นสพ.มีความพยายามที่จะลดระดับการเสนอข่าว และภาพที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรม
ถึงแม้หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อ แต่ผมยืนยันได้ว่า ทั้งไทยรัฐและเดลินิวส์ ยอมเจ็บ และมีความตั้งใจที่จะทำหนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบ เพียงแต่ต้องอดทนรอคอยกันบ้างเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)