วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จากท้องถิ่นถึงเมืองใหญ่ คอรัปชั่นไร้ขีดจำกัด


รั้งหนึ่งรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เคยถูกยึดอำนาจ เพราะภาพของ “บุปเฟต์คาบิเนต” คือรัฐบาล ที่เต็มไปด้วยการทุจริต คอรัปชั่น รัฐบาลนี้ก็เข้ามาด้วยการยึดอำนาจ เพราะข้อกล่าวหาการทุจริตในโครงการจำนำข้าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเอาจริงเอาจังมากกับการทุจริต คอรัปชั่น ตั้งแต่แรกเข้าสู่อำนาจ

แต่จนถึงวันนี้ ผู้มีอำนาจนั่นเอง ที่ต้องตอบคำถามเรื่องคอรัปชั่น ตั้งแต่ที่นายทหาร นายตำรวจบางคนไปพัวพันกับคดีหมิ่นสถาบัน ที่มีการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการไบค์ ฟอร์ มัม จนถึงไบค์ ฟอร์ แด๊ด และล่าสุดคือโครงการอุทยานราชภักดิ์

เป็นเรื่องราวของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น

ฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจอปท. หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานย่อย ภายใต้โครงสร้างใหญ่ จะมีการทุจริตกันขนานใหญ่

ทั้งประเทศ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาลนคร 27 แห่ง  เทศบาลเมือง 162 แห่ง  เทศบาลตำบล 1,918  แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,667 แห่ง องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น  7,853 แห่งทั่วประเทศ

ปัญหาใหญ่ในการบริหารงานของ อปท. คือปัญหาการทุจริตภายในที่กำลังแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางจนถึงขั้นที่เรียกว่าการทุจริตกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาภายใน อปท.ทั่วประเทศ

มีการวิเคราะห์กันว่า อปท.เป็นส่วนราชการที่มีการทุจริตมากที่สุดในประเทศ โดยนักการเมืองท้องถิ่นร่วมมือกับข้าราชการในขณะที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น มีอยู่หลายหน่วยงานด้วยกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช)  สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท)

ถึงแม้ภาครัฐจะออกกฎเกณฑ์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในองค์กรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไว้อย่างรัดกุมและละเอียดรอบคอบ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการคีย์ข้อมูลสร้างระบบจัดซื้อจัดจ้าง มีการทำอีอ๊อคชั่น แต่จนแล้วจนรอดการทุจริตก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีผู้ใดเกรงกลัว การฮั้วประมูลยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำทั้งแถมยังแนบเนียนกว่าที่เคยอีกด้วย 

มิหนำซ้ำทัศนคติของประชาชนส่วนใหญ่กลับมองเห็นว่าการทุจริตนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาภายในสังคม

ปัญหาการทุจริตภายในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลุกลามเกิดมากขึ้นในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการหยั่งรากฝังลึกของขบวนการทุจริตในสังคมทั้งในเมืองและชนบท โดยมีรายงานของ ป.ป.ช.และ สตง.ระบุว่ามี อปท.นั้นมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตถึงปีละเป็นหมื่นคดี

อปท.ที่มีรายงานข่าวเรื่องการทุจริตมากที่สุดคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รองลงไปได้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาลซึ่งมียอดรวมของหน่วยงาน อปท.ทั่วประเทศมากกว่า 8,000 หน่วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานทางราชการจะดูแล อปท. เหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง

แล้วการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เป็นรากหยั่งลึกในระบบการทำงานจะทำได้มีเพียงหนทางเดียวนั่นคือต้องใช้เวลา ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความซื่อสัตย์พร้อมทั้งดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องมีการสอดส่องดูแลการ และลงโทษจริงเมื่อมีการทุจริต เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่หากไม่เริ่มทำวันนี้ก็คงไม่มีวันที่จะขุดถอนรากระบบทุจริตได้

ปัญหาใหญ่ที่ อปท.กำลังเผชิญอยู่ก็คือปัญหาการทุจริตที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันจากการร่วมมือกันของข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ  ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มักจะเลี่ยงบาลีไปใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ การก่อสร้าง การจัดหาพัสดุ การซอยแยกย่อยงบประมาณให้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจแต่เพียงผู้บริหารคนเดียวรวมถึงการรวมหัวและสมยอมกันในเรื่องของราคา

ผลประโยชน์ภายใน อปท.นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกหากผลประโยชน์มหาศาลนั้นจะเป็นแรง จูงใจที่สำคัญที่ทำให้มีการแย่งชิงตำแหน่ง  มีการทุจริตการเลือกตั้ง การจ้างมือสังหารมาทำร้ายและสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อที่ฝ่ายตนจะได้มีอำนาจในการบริหาร อปท. จนถือเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดาแล้วโดยที่ไม่ค่อยมีผู้ให้ความสนใจในแก้ไขปัญหาทุจริตที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

เราได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งเมืองไทยจะมีการปฏิรูประบบการทำงาน ปฏิวัติข้าราชการท้องถิ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน ให้ทำตามหน้าที่ที่พึงทำ ไม่ได้หวังเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จะได้เป็นการสกัดการทุจริตคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่น เพราะหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนทำงานระดับท้องถิ่นได้ การจะเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศคงทำได้ยาก

นี่ก็เป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข ก่อนที่ชาวบ้านจะเอือมระอาและเสื่อมศรัทธากับระบบสีกากีที่มองเห็นงบประมาณเป็นลาภแม้จะเป็นลาภที่มิควรได้

 แต่จะแก้ไขอย่างไรยังมองไม่เห็น เพราะถ้าหัวยังส่าย หางก็ยังคงต้องกระดิกต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1054 วันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์