วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ยี่เป็ง มหัศจรรย์แห่งเรื่องโครม ๆ


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ผ่านพ้นเทศกาลยี่เป็งไปแล้ว ไม่รู้ว่า กระทง ซึ่งบัดนี้กลายเป็นขยะ จะสร้างมลภาวะให้แม่น้ำวังของเราขนาดไหน บ้านใครมีโคมลอยตกใส่บ้าง หมาแมวที่กระเจิดกระเจิงเสียงประทัดกลับมาหรือยัง
           
ก่อนหน้านี้ ผศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการคนดัง ได้ชี้แจงข้อมูลที่น่าสนใจว่า กระทงขนมปังนั้น ทำน้ำเน่าเสียมากกว่ากระทงชนิดอื่น เพราะมันเป็นสารอินทรีย์ ลงน้ำก็ยุ่ยและเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตอง หรือกระทงโฟมก็ไม่ได้ เพราะพวกนี้จะจมลงใต้น้ำไปเลย ปลาก็ไม่ค่อยกิน กระทงขนมปังจึงกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นไปอีก ส่วนกระทงใบตองก็ยังมีภาระหนักอึ้ง คือ ธูป เทียน กับตะปู เข็มหมุด แล้วจะทำอย่างไรกันดีเล่า มีคนเสนอว่า ให้เอาดอกไม้ใส่ชามใหญ่ ๆ เติมน้ำ แล้วฟรีซ ก็จะได้กระทงน้ำแข็งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์เข้มข้นต่างพากันหันหลังให้การลอยกระทงนานแล้ว พวกที่รอมชอมยืดหยุ่นหน่อยก็ลอยครอบครัวละ กระทง เพื่อช่วยลดขยะในแม่น้ำ ไม่ก็ลอยในกะละมัง บ่อปลา เช้าขึ้นมาจะได้เก็บไปทิ้ง
           
ไม่เพียงแค่กระทงเท่านั้นที่กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ เราต่างรู้กันอยู่ว่า โคมลอยก็สร้างปัญหาใช่ย่อย หนักหน่วงกว่ากระทงเสียอีก เพราะส่งผลถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งเครื่องบินและบ้านเรือนเลยทีเดียว ก็เราเล่นกระหน่ำลอยกันโครม ๆ ไม่เฉพาะเทศกาลยี่เป็ง แต่รวมถึงงานแต่ง งานบุญ สารพัดงานที่ต้องการเพียงแค่ความเก๋ แถมพ่วงไปด้วยความเชื่อผิด ๆ ว่าเป็นการลอยเคราะห์ (แบบเดียวกับกระทง อะไรที่ลอยได้ เรามักจะหยิบฉวยเอาเคราะห์ไปลอยทิ้งเสียหมด)
           
ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ นักคิด นักเขียน และนักวิชาการอิสระ ให้ความรู้ไว้ว่า ที่มาของการจุดโคมลอยนั้น แท้จริงแล้วหาใช่เพื่อความรื่นเริงบันเทิงไม่ หากแต่จุดเพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ภายหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงพระเกศาด้วยพระขรรค์เพื่อดำรงสมณะเพศ ณ ริมฝั่งอโนมานทีนั้น พระอินทร์ได้นำมวยผมของพระองค์ท่านก่อนจะบรรลุธรรมมาเก็บรักษาไว้ให้ห่างไกลจากมนุษย์โลก เนื่องจากเป็นของสูง โดยบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อว่า จุฬามณี หรือ จุฑาศรี และเชื่อว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจะมารวมตัวกันอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณี
           
ชาวล้านนาจึงมีประเพณีปล่อยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อให้ลอยไปใกล้สรวงสวรรค์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้บูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีนั่นเอง โดยประเพณีที่จุดโคมลอยนี้ กระทำกันในเดือนยี่เหนือ หรือเดือนสิบสองภาคกลาง
           
อันที่จริง ในอดีตชาวล้านนาไม่ได้เรียกสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ลอยขึ้นไปเพื่อบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีว่า โคมลอย ด้วยซ้ำ แต่เรียกว่า ว่าวไฟ ว่าวควัน ว่าวลม ซึ่งทำจากกระดาษสาแผ่นใหญ่ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้กระดาษว่าว เดิมนั้นขนาดสีสันและรูปทรงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่หามาได้ในแต่ละท้องถิ่น และเพื่อให้ว่าวลอยได้โดยมีแสงไฟด้วย คนสมัยก่อนจึงใช้ควันที่เกิดจากการเผาไส้ผ้าชุบน้ำมันที่แขวนไว้ตรงปากโครงไม้ของว่าวเป็นเชื้อเพลิงพยุงว่าวให้ลอยสูงขึ้น พลางอธิษฐานขอให้ตนได้รับแสงสว่างแห่งปัญญาในทุกภพชาติ
           
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้อธิบายว่า ว่าวลม ในล้านนา คือว่าวที่เล่นกันหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงที่ลมหนาวพัดมาและผู้คนก็ว่างเว้นจากการงานแล้ว ส่วน ว่าวควัน คือโคมลอยตอนกลางวัน ว่าวไฟ คือโคมลอยที่จุดกันในตอนกลางคืน
           
ในอดีตช่วงยี่เป็งชาวบ้านจะหากระดาษบาง ๆ มารวมกันที่วัด แล้วช่วยกันทำว่าวควันกับว่าวไฟ ว่าวควันมักจุด วัน คือ วันขึ้น 14 ค่ำและวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ โดยชาวบ้านจะช่วยกันรมควันเข้าว่าว พอว่าวตึงก็ปล่อยขึ้นฟ้าในช่วงสาย ๆ ก่อนพระฉันเพล ส่วนว่าวไฟจะใส่ไต้เข้าไปให้ว่าวสว่าง แล้วปล่อยขึ้นฟ้าตอนหัวค่ำ ก่อนจะมีการฟังเทศน์มหาชาติในคืนยี่เป็ง
           
ส่วนคำว่า โคมลอย นั้น ดร. เพ็ญสุภากล่าวว่า มาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ เมื่อทหารไทยถูกส่งมาประจำการในดินแดนล้านนา แล้วได้เห็นการจุดว่าวไฟ ว่าวควัน ในเทศกาลยี่เป็ง จึงพากันเรียกว่า โคมลอย กลายเป็นที่นิยมเรียกในหมู่ชาวบ้านแทนคำเรียกเดิม
           
จะเรียกอะไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่า ทุกวันนี้โคมลอยมันได้ถูกปล่อยขึ้นฟ้าพร้อมความเชื่อที่ผิดเพี้ยนจากเดิมมาก เรียกได้ว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เอะอะก็ปล่อยโคมลอยขึ้นฟ้า ปล่อยกันทุกภาคของประเทศไทย ลองคิดเล่น ๆ สมมตินะสมมติ พอถึงเทศกาลยี่เป็ง ทุกคนไปรวมกันที่วัด ช่วยกันทำโคมลอยคนละไม้คนละมือแบบชาวล้านนาสมัยก่อน โคม ต่อ วัด เป็นการรื้อฟื้นวัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ต้องการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี หาใช่ลอยเคราะห์ หรือเพื่อความเก๋ไม่
           
ประทัดก็เช่นกัน ในโลกออนไลน์ถึงกับต้องฝากเตือนกันเลยทีเดียว สำหรับคนรักหมาแมวว่าให้กักหมาแมวไว้ในบ้านในช่วงลอยกระทง เพราะมันจะเตลิดหายไปเมื่อได้ยินเสียงประทัด เสียงพลุที่จุดกันโครม ๆ สัตวแพทย์ในเมืองลำปางเราก็เคยบอกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหายนะของหมาแมวขวัญอ่อนเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กเล็ก หรือแม้แต่คน (ส่วนน้อย) บางกลุ่ม ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า วัฒนธรรมการใช้เสียงของเรานั้น มันเริ่มบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ตอนไหน ข่าวคนนิ้วขาดมือขาดจากการเล่นประทัดก็มีอยู่ นี่ยังไม่รวมการเปิดเพลงดังสนั่นของบรรดาเพื่อนบ้านรอบทิศอีก มันควรจะเป็นค่ำคืนแห่งความรื่นรมย์ แหงนมองดวงจันทร์ทอแสงนวลกระจ่างฟ้า ไม่ใช่มานั่งหงุดหงิดเพราะมลพิษทางเสียง
           
ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บริบทของสังคมย่อมเปลี่ยนตาม ถึงเวลาที่เราควรช่วยกันแชร์ว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษายี่เป็งที่ดีงามเอาไว้ โดยไม่ทำลายความคิดความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำความเดือดร้อนรำคาญให้คนอื่น เมื่อนั้นเราคงมีเทศกาลงานประเพณีสุดเจ๋ง ไม่ใช่แค่ทำเก๋ออกสื่อ แต่คือดี๊ดีที่แก่นแท้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1056 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์