วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สืบสายมังกรคนจีนลำปาง หนีสงครามปักหลักนับแสนคุมการค้าย่านสบตุ๋ย


สืบประวัติชาวจีน พบอาศัยในลำปางกว่า 1 แสนคน  ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจการค้า ตั้งแต่ค้าขายเล็กๆไปถึงธุรกิจใหญ่  คุมการค้าย่านสบตุ๋ย กาดกองต้า ส่งเสริมเศรษฐกิจลำปางคึกคัก

นายนิรันดร์ หาญคีรีรัตน์  เจ้าของธุรกิจอู่หาญนิรันดร์ และมีตำแหน่งประธานคณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม เล่าถึงความเป็นมาของชาวจีนไหหลำใน จ.ลำปางว่า  เมื่อ 100 ปีเศษที่แล้วมา  จากที่รับฟังจากคำบอกเล่า ชาวจีนไหหลำที่เข้ามาใน จ.ลำปางรุ่นแรก ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมมาจากเมืองจีนด้วย เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ  ครั้งแรกศาลเจ้าแม่ทับทิมมาตั้งอยู่ที่บ้านลำปางกลาง ต.ชมพู จากนั้นย้ายมาอยู่แถวสะพานรัษฎา โดยการตั้งศาลจะต้องอยู่ใกล้แม่น้ำเสมอ  ต่อมาย้ายไปอยู่ที่หน้าวัดสิงห์ชัย กระทั่งครั้งที่ 4 ได้มีคหบดีต้นตระกูลชาวไหหลำหารือว่าอยากให้มาตั้งศาลอยู่ในตัวเมือง จึงย้ายมาอยู่ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมในปัจจุบัน  ซึ่งตามประวัติทราบว่ามีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมมา 3 องค์  และนำมาประดิษฐานไว้ที่สามเสน จ.กรุงเทพฯ  จ.ลำปาง และอีกองค์คาดว่าอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา  

นายนิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนใหญ่คนจีนที่อาศัยอยู่ที่ลำปาง ประกอบอาชีพค้าขาย และอาศัยอยู่ย่านตลาดจีนกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นชาวจีนไหหลำเป็นส่วนมาก เนื่องจากตลาดจีนอยู่ติดท่าน้ำที่ชาวจีนจะต้องผ่านมารับสินค้าในจุดนี้ อีกจุดหนึ่งคือ บ้านลำปางกลางในปัจจุบัน สมัยก่อนจะขึ้นชื่อด้านการค้ามาก เพราะอยู่ริมแม่น้ำมีการคมนาคมผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ  ชาวจีนไหหลำจะทำค้าขายเล็กๆ เช่น  เปิดร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า เป็นต้น  ส่วนชาวจีนแต้จิ๋วจะมีกิจการค่อนข้างใหญ่ ซึ่งจะอาศัยอยู่ย่านเศรษฐกิจการค้าแถวสบตุ๋ยเป็นหลัก ต่อมาก็ได้มีการสร้างศาลเจ้าพ่อปุนเถ้ากง ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวจีนแต้จิ๋วไว้ในย่านสบตุ๋ยด้วย หากรวมชาวไทยเชื้อสายจีนในลำปางแล้ว  มีอยู่หมื่นกว่าครอบครัว มีแซ่มากกว่า 10 แซ่  คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน                   
“ตนถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 แล้ว  ส่วนลูกหลาน รุ่น 4  ส่วนใหญ่เรียนจบแล้วก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯบ้าง หรือจังหวัดอื่นๆบ้าง เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการศึกษาที่กว้างขวางขึ้น บางครอบครัวลูกหลานจึงไม่ได้สานต่อกิจการของพ่อแม่ เปลี่ยนไปทำงานรับราชการเพราะสะดวกสบายมากกว่า ต่างจากอดีตที่ลูกหลานไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความรู้จึงต้องทำงานสานต่อกิจการของครอบครัว  แต่ก็โชคดีที่ปัจจุบันพวกเขายังไม่ลืมบ้านเกิด เมื่อมีการจัดงานประเพณีของชาวจีน ลูกหลานก็จะกลับมาร่วมทำบุญบริจาคกันจำนวนมาก”

นายนิรันดร์ กล่าวอีกว่า เหตุที่คนจีนมีฐานะ อาจเนื่องมาจากคนจีนมีความอดทน เก็บหอมรอมริบ เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายได้จากการค้าขาย ไม่เหมือนกับข้าราชการไทยที่มีเงินเดือน และใช้จ่ายแบบไม่ระมัดระวัง  แต่เมื่อคนจีนสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างฐานะได้ ก็จะบริจาคงานการกุศลให้จำนวนมาก

ด้านนายธีรเดช ไกวัลอาภรณ์  ชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว สมาชิกของชมรมเตี้ยอัน จ.ลำปาง ได้เล่าว่า บิดาของตนเองคือนายเคอกิมเสง ได้เดินทางจากอำเภอเตี้ยอัน ประเทศจีนเข้ามาอยู่ประเทศไทย ตั้งแต่อายุ 19 ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่  เนื่องจากขณะนั้นประเทศจีนแร้นแค้นมาก ชาวบ้านมีความยากจนและลำบาก ข้าว 1 ลิตรต้องอยู่ให้ได้ 1 เดือน จึงได้เดินทางมาหางานทำในประเทศไทย เนื่องจากมีญาติมาอยู่ก่อนแล้ว ในตอนแรกได้ไปอยู่ที่ อ.สะพานหิน จ.พิจิตร ก่อนจะย้ายมาที่ จ.ลำปาง และมาทำงานรับจ้างทั่วไป  เมื่อตั้งตัวได้ก็หันเหมาเปิดร้านขนมขาย ประเภทขนมจันอับ ขนมโก๋ ขนมถั่วตัด  และได้แต่งงานกับมารดาของตนเป็นคนบ้านฟ่อน ตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ที่ จ.ลำปางตั้งแต่นั้นมา  กระทั่งเมื่อปี 2547   บิดาได้เสียชีวิตลง ขณะที่มีอายุประมาณ 80 ปี  แต่ไม่ได้มีการสืบทอดกิจการทำขนมต่อ เนื่องจากลูกๆได้ทำงานรับราชการกันเกือบทั้งหมด  แต่ก็ยังมีในหลายครอบครัวที่ลูกหลานสืบทอดกิจการของทางบ้านอยู่ เช่น กิจการร้านทองย่านสบตุ๋ย  ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น  และก็มีบางส่วนที่กิจการต้องหยุดไปเพราะลูกหลานรุ่น 3 รุ่น 4 ไม่มีใครสืบทอดต่อ เช่นร้านขนมของบิดาตน

นอกจากนั้นยังมีประวัติความเป็นมาของชาวจีนที่นายเล่งเกียอัง  หรือ นายสุรชัย มังกรกนกพงศ์  ได้เขียนเล่าเรื่องราวไว้ก่อนจะเสียชีวิตว่า ชาวจีนแต้จิ๋ว หรือชาวจีนเตี้ยอัน จ.ลำปาง เริ่มมาจากนายเที้ยจี้ชอ  ได้อพยพจากเมืองจีนมาอยู่ที่ จ.ลำปาง เมื่อ พ.ศ.2466  และได้เป็นผู้ริเริ่มชมรมเตี้ยอันที่ จ.ลำปาง เมื่อปี พ.ศ.2509  โดยรวบรวมสมาชิกได้ 30 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย กำลังก่อร่างสร้างตัว ต่อมาปี 2533 ได้มีการตั้งชมรมขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีนาย ลี หั่ง เกี๊ยก เป็นประธานคนแรก จนเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน

สำหรับชาวจีนแต้จิ๋วที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย คาดว่ามีอยู่ประมาณ ล้านคน  เริ่มแรกได้หลบหนีสงครามมาอยู่ที่ประเทศเวียดนาม แต่ทหารมงโกลได้บุกเวียดนาม คนแต้จิ๋วจึงอพยพหนีมาเมืองไทย เป็นช่วงที่ไทยรบกับพม่า ทำให้ประชากรไทยเบาบางลง จึงมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ คนจีนเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินได้สะดวกสบาย  นอกจากนั้นชาวจีนยังได้ร่วมกับทหารไทย ขับไล่ทหารพม่าและกู้กรุงได้สำเร็จ จึงทำให้ฐานะคนจีนแต้จิ๋วเป็นที่ยอมรับ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีคนแต้จิ๋วเข้าไปรับใช้ราชสำนักไทย ภาษาแต้จิ๋วจีงกลายเป็นภาษาสำคัญอีกภาษาหนึ่งในสมัยนั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1056 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์