วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปลัดพณ.ตรวจข้าวเตือนไรซ์เบอรี่ปลอม


ปลัด พณ. ลงพื้นที่เยี่ยมวิสาหกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์ข้าวไรซ์เบอรี่ ใน จ.ลำปาง และทางภาคเหนือ เพื่อหามาตรการรองรับผลิตภัณฑ์ ข้าวไรซ์เบอรรี่ ให้ได้มาตรฐาน หลังตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง แต่ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีการลักลอบปลอมบนเอาข้าวอย่างอื่นเข้ามาทดแทนทำให้ต้องมีการคุมเข้มในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ในไทย

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ เดินทางติดตามงานโครงการการส่งเสริมปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ในชุมชนบ้านวอแก้ว ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางพร้อมร่วมประชุมพบปะกับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนผู้ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานของกลุ่ม และปัญหาอุปสรรคในการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร โดยมีนายอินจันทร์ ทันวิสัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว และกลุ่มเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวอแก้ว รวมกว่า 50 คน ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น

นายอินจันทร์  ทันวิสัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว  กล่าวว่า  จากการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.วอแก้ว ขึ้น โดยแรกเริ่มมีสมาชิกกลุ่ม 45 ราย และได้ร่วมกันปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ในพื้นที่แปลงปลูกผืนใหญ่รวมกว่า 260 ไร่ แต่ด้วยปัญหาสภาพพื้นที่ที่ไม่อำนวยเกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับการปลูกข้าวอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ทำได้ยาก ทำให้กลุ่มสมาชิกมีจำนวนลดลงเหลือเพียง 14 ราย แต่ยังคงปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่อยมา โดยมีพื้นที่แปลงปลูกรวมประมาณ 70 ไร่ สามารถผลิตข้าวอินทรีย์ได้ราว 30 ตันข้าวเปลือก/ปี และได้พัฒนาต่อยอดทำข้าวเกษตรอินทรีย์ให้ได้ตามมาตรฐาน IFOAM และทำแบบครบวงจร สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มสมาชิก จนมีผลิตภัณฑ์เป็นแบรนด์ของกลุ่ม คือ ข้าวอินทรีย์วอแก้ว ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์พอสมควร มีรายได้เพิ่ม รายจ่ายลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มยังประสบปัญหาในเรื่อง การจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพ การหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และปัญหาหนี้สินเดิมที่ผูกพันมาจากการทำเกษตรแบบพึ่งสารเคมี

ด้านนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันข้าวไรซ์เบอรรี่ เป็นที่นิยมในตลอดต่างประเทศ และยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก ทำให้พ่อค้าบางกลุ่มบางคนนำข้าวสารชนิดอื่นมาปลอมปน  เพราะข้าวไรซ์เบอรี่มีราคาสูงกว่า ดังนั้น จึงต้องเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่าให้รักษามาตรการไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจจะมีการออกตราสัญลักษณ์ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ตลาดได้เห็นว่าถ้ามีตราลักษณะนี้รับรองได้ว่าเป็นของแท้ โดยทางกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกันดำเนินการ อีกเรื่องคือ เชิญหน่วยงานที่มีมาตรฐานระดับสากลเข้ามารับรองแบรนด์การปลูกของผู้ที่อยู่ในโครงการ หากได้รับการรับรองแล้วผลผลิตจะมีราคาสูงขึ้นกว่าผลผลิตทั่วไปที่ไม่มีตรารับรอง และมีตลาดรองรับที่แน่นอน

ส่วนแนวทางช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านอื่นๆ ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่จะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยมีแนวทางที่จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองผลผลิต จัดหาเมล็ดพันธุ์ และส่งเสริมตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวชนิดดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้เปิดรับข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ฯ จากทุกพื้นที่นำส่งออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ  พร้อมระบุว่าความต้องการในตลาดยังคงมีสูง โดยเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ มีความต้องการที่จะส่งเสริมให้มีพื้นที่แปลงปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ฯ รวมไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ เพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนออกสู่ตลาด ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1056 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์