นานวันแล้ว ที่ปอ ทฤษฏี สหวงษ์ นอนป่วยด้วยไข้เลือดออกขั้นรุนแรง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี อาการข้างเคียงลุกลามจนต้องตัดเท้าข้างซ้ายทิ้งป้องกันการติดเชื้อ ความเป็น Public Figure หรือบุคคลสาธารณะของเขา ถูกยกเว้นด้วยกองทัพนักข่าวราวครึ่งร้อย ที่มาเฝ้าติดตาม รายงานข่าวชนิดนาทีต่อนาที
แน่นอนว่า ความเป็นดารา ที่ใช้พื้นที่สาธารณะสื่อสารไปถึงผู้คนจำนวนมาก ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมยกย่อง ไม่ว่าปอจะเต็มใจหรือไม่ แต่เขาอาจได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมายในความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบุคคลทั่วไป และนั่นเองเป็นเหตุผลที่นักข่าว อ้างว่าเมื่อปอเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นคนที่ประชาชนให้ความสนใจ จึงเป็นหน้าที่โดยปกติของสื่อมวลชนที่จะต้องรายงานข่าวนั้น
ความเป็นจริง เรื่องความเป็นบุคคลสาธารณะ อันเป็นเหตุให้ต้องยกเว้นพื้นที่ส่วนตัวนั้น น่าจะมีขอบเขตอยู่ในระดับหนึ่ง ความเป็นบุคคลสาธารณะไม่ได้แปลว่า สื่อมวลชนมีสิทธิที่จะรุกล้ำชีวิตของเขาในทุกกรณี ในกรณีนี้ ปอมีทั้งสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิผู้ป่วย ทั้งสิทธิส่วนตัวและสิทธิผู้ป่วย เขากำลังถูกรุกรานอย่างหนัก โดยที่ไม่อาจทำอะไรได้
การรุกรานสิทธิทั้งสองนี้ ไม่เพียงตัวผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่ครอบครัวของปอ พ่อของเขา แม่ น้องชาย รวมทั้งเด็กหญิงมะลิอายุ 2 ขวบ เด็กน้อยไร้เดียงสา ที่แม่พามาเฝ้าไข้พ่อ และวิ่งเล่นซุกชนตามประสา ก็ยังถูกรุกรานจากสื่อมวลชน คล้ายฝูงหมาป่าขย้ำลูกแกะด้วย
ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะ ยามที่พ่อของปอ ต้องคอยตอบคำถามถึงอาการของลูกชาย แสดงถึงความกระอัก กระอ่วนใจ อย่างยิ่ง ในขณะที่คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ออกแถลงข่าวอาการของปอ เป็นระยะ ช่องทางในการเข้าถึงข่าวสารของปอ จึงไม่จำเป็นต้องไปรบกวนคนป่วย หรือญาติคนป่วย
ในสถานที่ที่ต้องการความสงบ เช่น โรงพยาบาล ความโกลาหลวุ่นวาย เสียงอึกทึกครึกโครม เป็นกฎสากลที่ทุกคนเข้าใจและยอมรับ คำอธิบายของกลุ่มนักข่าวซึ่งเป็นสายบันเทิงส่วนใหญ่ ว่าไม่ได้ไปสร้างความวุ่นวาย หรือทำให้ผู้ป่วยคนอื่นเดือดร้อน ขัดแย้งต่อความจริงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเห็นภาพในจอ เมื่อฟังคำของคนที่ไปใช้บริการของโรงพยาบาล
ที่สำคัญ เมื่ออาการป่วยของปอยังทรงๆอยู่ หรือไม่มีแถลงการณ์ฉบับใหม่ ชะตากรรมก็ตกมาอยู่ที่มะลิ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1056 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2558)