วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เปิดอกคนเหมืองแม่เมาะปลอดพิษ ‘มะลิวรรณ’เห็นแย้ง อพยพมีเงื่อนไข

                                                  
 ทีมผู้บริหารเหมืองแม่เมาะ เปิดใจ “ลานนาโพสต์” เคลียร์ทุกประเด็น  หลังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ย้ำองค์กรโปร่งใส หน่วยงานรัฐกำกับเข้มข้น สวนพฤกษชาติ-สนามกอล์ฟ ไม่อยู่ในเขตประทานบัตร ขณะที่คำสั่งอพยพ มีเงื่อนไข

ทีมผู้บริหาร กฟผ.-เหมืองแม่เมาะ ประกอบด้วย  นายบรรพต ธีระวาส  ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ นายสุทธิชัย จูประเสริฐพร ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  นายอำพล กิตติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ-ปฏิบัติการ  นายจักรพงษ์ กลิ่นวงศ์ วิศวกรระดับ 11 นายถาวร เรืองพยัคฆ์ นิติกรระดับ 10  นายเฉลิมพล บุญศิริ นิติกรระดับ 9  นายมาโนช  ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ –วิชาการ และนางนันทกานต์ วาเล็กบุตร หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ทั้งนี้ ผู้บริหาร กฟผ.-เหมืองแม่เมาะ เปิดใจให้สัมภาษณ์ “ลานนาโพสต์” หลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวก ผู้ฟ้องคดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดี รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2557 กำหนดให้ จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฏรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 ก.ม.

นอกจากนั้นให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงาน

ในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ลานนาโพสต์” ครั้งนี้ นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ยืนยันว่ากิจการ กฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ของหน่วยงานราชการหลายหน่วยอยู่แล้ว ซึ่งมีการกำกับทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ หากทำสิ่งใดไม่ถูกต้อง หน่วยงานต่างๆ คงไม่ปล่อยให้มีการดำเนินการที่ผิดพลาดมาจนถึงวันนี้ แม้กระทั่งนโยบายของผู้ว่าฯกฟผ.ก็ชัดเจนว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย ถ้าสิ่งใดไม่ใช่ความสุขของคนไทยเราคงไม่ได้ทำ

“ถ้าพูดอย่าง worst case (กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้) ถ้ามีอะไรผิดปกติ หรือมีอะไรทางด้านสิ่งแวดล้อม พวกเราคงตายไปหมดแล้ว” นายบรรพต กล่าว

ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ กล่าวว่า ในบางครั้งเหมืองแม่เมาะเคยไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการบางเรื่อง แต่ก็เป็นความล่าช้าในการเซ็นอนุมัติตามระบบราชการ ไม่ใช่ความผิดของกฟผ.ตามกฏหมาย สำหรับคำตัดสินของศาล เมื่อตัดสินแล้วก็ควรจบ และควรเดินหน้าร่วมกันพัฒนาต่อไป

นายบรรพต ย้ำว่า เรื่องคุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบเหมืองเป็นเรื่องสำคัญ แคดดี้จำนวน 200-300 คนมีทุนการศึกษาให้ นอกจากนั้นในใบอนุญาตมี 3 สิ่งที่ต้องทำ คือการทำเหมือง และการฟื้นฟูเมื่อดำเนินการเสร็จ การทำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 3 ในพื้นที่ทั้งหมด 1,700 ไร่ ซึ่งต่อไปต้องทำเป็นอุทยาน เราไม่ต้องรอให้ปิดเหมืองเสียก่อน แต่ทำควบคู่กันไป

ทางด้าน นายถาวร เรืองพยัคฆ์ นิติกรระดับ 10 อธิบายการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในสองประเด็นสำคัญ คือเรื่องการฟื้นฟูขุมเหมืองโดยการถมดินกลับลงไปในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ รวมทั้งการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 ก.ม.ว่า ทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับตามคำพิพากษา โดยประเด็นฟื้นฟูขุมเหมือง เนื่องจากพื้นที่สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟไม่ได้ทับซ้อนและแปลงประทานบัตรที่เป็นข้อพิพาทตามคำพิพากษานี้

ส่วนเรื่องการอพยพชาวบ้านในพื้นที่นั้น ตามที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)จะต้องมีการขุดดินปริมาณ 148 ล้านลูกบาศ์กเมตร และไม่มีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อปรากฏว่า ไม่มีการขุดดินในปริมาณดังกล่าว อีกทั้งมีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีความจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกนอกพื้นที่
...........................................

ประธานเครือข่ายผู้ป่วยฯห่วงเรื่องอพยพ หลัง กฟผ.ตั้งเงื่อนไขทิ้งดิน 148 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่อยากให้ชีวิตชาวบ้านอยู่ด้วยเงื่อนไข เผยทนายความยื่นความเห็นแย้ง กฟผ.แล้ว รอศาลชี้ขาด

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า กรณีที่ศาลพิพากษาให้ กฟผ.ฟื้นฟูขุมเหมือง ซึ่งทาง กฟผ.ได้รายงานไปยังศาลขอแก้ไขมาตรการใน 5 ประเด็นนั้น ทางผู้ฟ้องมีความเห็นต่างโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการอพยพ ที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องขุดดิน 148 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นทางทีมทนายความจึงได้มีการยื่นความเห็นไปแล้วว่า มีความเห็นต่างอย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอว่าทางศาลจะชี้ชัดอย่างไร

ในส่วนของการอพยพและค่าชดเชยนั้น ถึงแม้ว่าตนเองจะได้อพยพมาอยู่ที่แห่งใหม่และได้รับค่าชดเชย ถือว่าสิ้นสุดคดีไปแล้วนั้น แต่เห็นว่าเรื่องการอพยพของชาวบ้านยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากตนเองก็มีประสบการณ์มาก่อน ตอนนี้ยังมีราษฎรอีก 4 หมู่บ้านที่รอการอพยพกันอยู่ ซึ่งการอพยพนั้นควรดูตามข้อเท็จจริงว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างไร เดือดร้อนอะไรบ้าง ไม่อยากให้มีการตั้งเงื่อนไขเรื่องการทิ้งดินต่างๆเข้ามา แล้วรอให้ความเดือดร้อนเกิดก่อนถึงจะมีการอพยพ แต่ควรที่จะแก้ปัญหาก่อนที่เรื่องจะเกิด อย่าเอาชีวิตผู้อื่นไม่เสี่ยงกับค่ามาตรฐานที่ตั้งขึ้นมาจะดีกว่า เพราะตัวอย่างก็เคยมีให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก

นางมะลิวรรณ กล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยที่ชาวบ้าน 131 รายได้รับนั้น เป็นค่าเยียวยาด้านสุขภาพเนื่องจาก กฟผ.ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐานตั้งแต่ปี2541 ไม่ใช่ค่าปรับที่ กฟผ.ต้องจ่ายให้ศาลแต่อย่างใด  ในส่วนของผู้ฟ้อง จำนวน 318 ราย ได้ฟ้องเรียกค่าชดเชยด้วย แต่ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชย เนื่องจากยื่นฟ้องในภายหลัง และไม่มีใบรับรองแพทย์ยืนยันชัดเจน  ดังนั้นจึงต้องแยกให้ชัดเจนว่ากรณีที่อ้างว่าชาวบ้านไม่ได้ป่วยจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้นเป็นกรณีใด เมื่อพูดแบบคลุมเครือแล้วชาวบ้านก็เสียเปรียบอยู่วันยังค่ำ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1054 วันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2558)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์