ชาวเรือแพเขื่อนกิ่วลมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ชูวิหารเก่าโผล่กลางน้ำอายุร่วม 100 ปี และพระพุทธรูปบนหน้าผา ดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วงแล้ง หลังจากน้ำในเขื่อนลดระดับลงในรอบ 20 ปี ประธานชมรมชาวแพเผยแพยังล่องได้ตามปกติ เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างช่วงหนาวนี้ ขณะที่ ผอ.โครงการกิ่วลมฯ ระบุน้ำในเขื่อนเหลือใช้การได้ประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือน เม.ย.ปีหน้า และจะเหลือน้ำก้นอ่างน้อยที่สุดช่วงเดือน มี.ค.59 เพียง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่สามารถนำไปใช้ได้
จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ 2 แห่ง ในพื้นที่ จ.ลำปาง ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายงาน สถานการณ์น้ำวันที่ 4 พ.ย.58 ปริมาณน้ำในเขื่อนกิ่วลมมีอยู่ 18.024 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16.97% เขื่อนกิ่วคอหมา 22.435 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 13.17% ของความจุอ่างปริมาณน้ำไหลลงอ่าง ทั้ง 2 เขื่อนใหญ่รวมกันเหลือน้ำประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำทั้ง 2 เขื่อนรวมกันมีอยู่ประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำใช้การได้อยู่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดการณ์ว่าประมาณ 1 เดือนที่หยุดส่งน้ำในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.58 ก็จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นและใช้การได้ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรที่จะส่งให้การอุปโภคบริโภค ประปา และหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์อื่นๆ ในแม่น้ำวัง ไปจนถึงฤดูแล้งตลอดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.58 -เม.ย. 59 หลังจากสิ้นสุดฤดูแล้งในช่วงต้นนาปี และต้นฝน จะเหลืออยู่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นน้ำก้นอ่างที่ไม่สามารถนำออกไปใช้การได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ได้ประชุมชี้แจงเกษตรกรในพื้นที่แล้วเกี่ยวกับน้ำเพื่อการเกษตร ขอความร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปลัง และพืชต่างๆ สามารถปลูกได้เพียงพืชผักสวนครัวระยะสั้นที่มีแหล่งน้ำบาดาลอยู่ ซึ่งทางเกษตรกรเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ
นายฤทัย กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวล่องเรือแพ ทางโครงการฯได้เชิญสมาชิกชาวแพ และผู้เลี้ยงกระชังปลาเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำของเขื่อนกิ่วลม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบบ้างเรื่องการล่องเรือแพในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.59 ปริมาณน้ำจะลดลงอาจจะไม่สามารถล่องแพได้สุดทาง ทางแพก็จะได้เตรียมพร้อมและปรับเส้นทาง โดยทางโครงการฯจะแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และติดป้ายแจ้งปริมาณน้ำเป็นรายวัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการได้รับทราบสถานการณ์น้ำทุกวัน
ด้านนายสายัณห์ แก้ววรรณรัตน์ ประธานชมรมชาวแพเขื่อนกิ่วลม กล่าวว่า การล่องแพจะมีปัญหาทางฝั่งสำเภาทองมากกว่า เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงจะเห็นเนินดินอย่างชัดเจน ทำให้แพจอดลำบากจึงต้องย้ายมารับนักท่องเที่ยวบริเวณหน้าเขื่อนแทน เพราะขึ้นแพสะดวกกว่า แต่ก็ไม่กระทบต่อแพที่อยู่หน้าเขื่อน เนื่องจากมีการวางระบบไว้แล้ว ส่วนใหญ่แพทางฝั่งสำเภาทองจะเป็นแพจองล่วงหน้า ส่วนทางหน้าเขื่อนจะมีแพสำหรับรับทัวร์ขาจร โดยจัดคิวกันไว้ในแต่ละวัน หากมีทัวร์ขาจรมาก็จะต้องให้แพที่มีคิวในวันนั้นรับลูกค้าจะไม่มีการแย่งลูกค้ากัน ส่วนระยะทางการล่องแพนั้น เมื่อน้ำลดจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องล่องไปตามร่องน้ำและความโค้งของน้ำ จากเมื่อก่อนที่น้ำขึ้นสูงสามารถตัดโค้งได้เลย ทางเจ้าของแพจึงต้องควบคุมเวลาให้มากขึ้น อาจจะล่องแพระยะทางสั้นลง เพราะแพสวนกันไม่ได้ แต่ก็ไม่มีปัญหานักท่องเที่ยวลดลงมากนัก ยังมีเข้ามาใช้บริการเหมือนเดิม คิดว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่การให้บริการมากกว่า หากนักท่องเที่ยวจะไม่มาใช้บริการก็คงเป็นเพราะผู้ประกอบการเองที่ทำให้เขาไม่ประทับใจ
นายสายัณห์ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าการท่องเที่ยวที่เขื่อนกิ่วลมอ่อนการประชาสัมพันธ์ ไม่ดังเหมือนที่ จ.ตาก หรือ จ.กาญจนบุรี แต่สภาพแวดล้อม ทิวทัศน์ ที่กิ่วลมสวยงามกว่าหลายๆแห่ง ระยะการเดินทางไม่ไกลมาก สะดวกสบาย และในช่วงนี้เป็นช่วงเข้าฤดูหนาวอยากเชิญชวนมาสัมผัสบรรยากาศเย็นสดชื่น ช่วงเช้าจะมองเห็นหมอกสวยงาม อยากให้ทุกท่านลองมาสัมผัสดูที่เขื่อนกิ่วลม ซึ่งชาวแพยังรอต้อนรับทุกท่านอยู่ และยังเปิดให้บริการล่องแพตามปกติทุกวัน
ทั้งนี้ จากปัญหาน้ำลดปริมาณลง ก็ทำให้เกิดสถานที่น่าสนใจสามารถนำเสนอนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากที่บริเวณกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม อ.เมือง จ.ลำปาง พบวิหารวัดเก่าแก่โผล่ขึ้นเหนือน้ำให้เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิหารวัดดังกล่าวที่โผล่จากน้ำชื่อวัดวังขวาง โดยเหลือให้เห็นเป็นก้อนอิฐที่ใช้ก่อสร้างวิหาร และยังมีรูปทรงฐานวิหารอยู่
นายปองพล ไชยยะ เจ้าของแพไชยนาวาทัวร์ ได้นำลานนาโพสต์เข้าชมจุดที่เคยเป็นวิหารเก่า และเล่าว่า จุดที่ตั้งวัดแห่งนี้เป็นเขตที่แม่น้ำสองสายไหลมารวมกัน คือแม่น้ำวัง และน้ำแม่ต๋า จุดดังกล่าวเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านชุมชนขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างหลายอย่างรวมทั้งวัดแห่งนี้ แต่หลังจากที่ได้มีการสร้างเขื่อนกิ่วลมขึ้นเมื่อปี 2507 ก็ได้มีการอพยพชาวบ้านในชุมชนนี้ออกไปยังพื้นที่ที่จัดสรรไว้ ทำให้วัดวังขวางและพระพุทธรูปดินที่อยู่ในวิหารไม่สามารถย้ายออกไปได้ ต้องจมน้ำลงไปตั้งปี 2512 หลังจากก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ จากนั้นมาวิหารดังกล่าวก็จมอยู่ในน้ำมาตลอดจนกระทั่งปี 2535 ที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำในเขื่อนกิ่วลมแห้งอย่างหนัก ทำให้วิหารวัดวังขวางโผล่เหนือขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นก็จมหายไปกับน้ำผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว กระทั่งปัจจุบันน้ำในเขื่อนประสบปัญหาลดระดับลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฐานวิหารโผล่มาให้เห็นอีกครั้งในรอบ 20 กว่าปี ทางนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจต่างเดินทางมาเที่ยวชมสถานที่โบราญแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
นายปองพล เล่าอีกว่า ยังมีเรื่องมหัศจรรย์ ตามความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่และผู้ที่พบเห็น ซึ่งพบเจอโดยบังเอิญ คือที่หน้าผาสูงจะเห็นสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างคือหากมองบนหน้าผาจะเห็นรูปคล้ายองค์พระพุทธรูป ประดิษฐานอยู่บนหน้าผา โดยเชื่อว่าองค์พระพุทธรูป ที่เคยประดิษฐานในพระวิหารวัดวังขวาง ที่ถูกน้ำกัดเซาะจนพังหายไป ได้ย้ายองค์พระไปประดิษฐานตรงหน้าผาสูงที่อยู่ใกล้ๆกับพระวิหารที่จมน้ำนั่นเอง ทั้งนี้ เราจึงได้นำเสนอเรื่องนี้ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชม เพื่อเป็นการดึงดูดให้เข้ามาเที่ยวเขื่อนกิ่วลมกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้ จะมีความสวยงามเป็นธรรมชาติแท้จริง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1053 วันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2558)