วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พิสูจน์จำปีหลวงบ้านท่าสี ลือเรื่องลี้ลับไม่มีใครตัดได้


พบจำปีหลวงอีกต้นขนาดใหญ่ไม่แพ้ที่ อ.เถิน  ผู้ใหญ่บ้านท่าสีนำทีมบุกป่าแม่มานพิสูจน์ วัดลำต้นได้ 8.60 เมตร คาดอายุใกล้เคียงกัน ชาวบ้านเล่าลือถึงเรื่องลี้ลับ ไม่มีใครสามารถตัดต้นจำปีได้ ขณะเดียวกันผู้ว่าฯให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) หาทางเพาะเนื้อเยื่อต้นจำปีหลวงที่ อ.เถิน ขยายพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หลังจากที่ จ.ลำปาง ได้ค้นพบต้นจำปีหลวงหรือจำปีรัชนี มีเส้นรอบวง 8.60 เมตร ซึ่งคาดว่าเป็นต้นจำปีหลวงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปราบ บ้านแม่เตี้ย ต.แม่ถอด อ.เถิน
ผู้สื่อข่าวได้รับทราบจากชาวบ้านท่าสี หมู่ 3 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะว่า  ในพื้นที่ป่าแม่มาน หมู่บ้านท่าสี มีต้นจำปีหลวงซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่แพ้กับต้นที่พบที่ อ.เถิน  จึงได้ร่วมเดินทางไปพิสูจน์ต้นจำปีหลวงดังกล่าว ร่วมกับนายชาญ เปียงสืบ ผู้ใหญ่บ้านท่าสี   นายนิพล อัครวีรวัฒนา  สมาชิกสภา อบต.บ้านดง  และนาง ปภาพินท์ ทองพัด เลขานุการสถานีท่องเที่ยวหมู่บ้านท่าสี รวมกับคณะชาวบ้านผู้ชำนาญเส้นทาง                                                                                                                                           ประมาณ 20 คน   โดยการเดินทางต้องใช้รถที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ให้ หรือรถโฟร์วิลท่านั้น เนื่องจากเส้นทางเข้าไปต้องวิ่งไปตามลำห้วย และขึ้นเขาสลับกันไป ซึ่งต้องใช้ความชำนาญอย่างมากในการขับขี่ โดยระยะทางจากสถานีท่องเที่ยวหมู่บ้านท่าสี เข้าไปถึงจุดจอดรถในป่า ประมาณ  ก.ม. และใช้เวลานั่งรถ 1 ชั่วโมง  เมื่อถึงจุดจอดรถแล้วต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามลำห้วย และไล่ระดับขึ้นไปบนดอย ต้องเดินเป็นกลุ่มเพราะอาจพลัดหลงกันได้ เพราะเส้นทางเดินเป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง พบหลุมหมูป่าและรูตุ่น เป็นระยะ   ใช้เวลาเดินประมาณ 40 นาที วัดระยะทางได้ 386 เมตร จึงพบต้นจำปีหลวงดังกล่าว ตามพิกัดจีพีเอส N18.46461 E099.75518   จากการวัดขนาดรอบลำต้น โดยใช้ความสูงจากพื้นขึ้นไป 1.50 เมตร  สามารถวัดได้เส้นรอบวง 8.60 เมตร  เท่ากับต้นจำปีหลวงที่พบที่ อ.เถิน คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกัน

นายชาญ เปียงสืบ ผู้ใหญ่บ้านท่าสี เล่าว่า  ต้นจำปีหลวงต้นนี้อยู่คู่กับหมู่บ้านท่าสีมายาวนานมาก ซึ่งเคยมีวัดแห่งหนึ่งจะมาตัดต้นจำปีไปทำบานประตูวิหาร เพราะเห็นว่าลำต้นมีขนาดใหญ่ตั้งตรงสวยงาม จึงได้พาชาวบ้านนำเลื่อยยนต์เข้ามาตัด แต่เมื่อติดเครื่องยนต์เลื่อยอยู่หลายครั้งก็ไม่สามารถติดได้ ขณะนั้นกิ่งของต้นจำปีที่อยู่ต้นบนได้ตกลงมาเฉียดศีรษะของชาวบ้านที่ถือเลื่อยยนต์อยู่ไปเพียงนิดเดียวเท่านั้น ชาวบ้านจึงกลัวและเชื่อว่าต้นจำปีต้นนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ จึงพากันกลับไป นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านอีกหลายคนที่เข้ามาพยายามตัดต้นจำปีหลวง แต่เมื่อเดินทางมาถึงก็พบว่าอ่อนเพลียและง่วงนอนโดยไม่มีสาเหตุ จึงได้นอนหลับอยู่ข้างๆต้นจำปี  บางคนมาถึงก็พบงูเหลือมขนาดใหญ่นอนขดเฝ้าอยู่ที่ต้นจำปีดังกล่าว ซึ่งพบว่าที่โคนต้นมีรูงูขนาดใหญ่อยู่ เชื่อว่าเป็นงูเจ้าที่ที่คอยรักษาป่าและต้นไม้ต้นนี้อยู่  ทำให้ไม่ใครกล้ามายุ่งกับต้นจำปีอีก ต้นจำปีจึงอยู่รอดปลอดภัยมาถึงตอนนี้ 

นางปภาพินท์ ทองพัด เลขานุการสถานีท่องเที่ยวหมู่บ้านท่าสี กล่าวว่า  บ้านท่าสีมีประวัติความเป็นมามากมาย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่ง ทั้งถ้ำ น้ำตก การขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ฯลฯ ต้นจำปีหลวงก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อยากจะประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในป่าแม่มานยังมีน้ำตกที่สวยงามอยู่ด้วย แต่เนื่องจากเส้นทางเข้าค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ผู้ชำนาญเส้นทางและการนำทางในการเดินป่า จึงยังไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต้องรอการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมก่อน อย่างไรก็ตาม เชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสถานที่อื่นๆที่บ้านท่าสีได้ทุกวัน โดยสามารถสอบถามได้ที่สถานีท่องเที่ยวบ้านท่าสีตั้งอยู่ริมถนนสายลำปาง-งาว บ้านท่าสี ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง หรือเบอร์โทรศัพท์ 081-0288301   

ส่วนต้นจำปีหลวงที่พบต้นแรกที่ อ.เถิน คาดว่าใหญ่ที่สุดในประเทศนั้น นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) กล่าวว่า ได้ขออนุญาตกรมป่าไม้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า ป่าชุมชนแม่เตี๊ยะใน พื้นที่ประมาณ พันไร่ ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาให้ป่าผืนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้คนชุมชน นักเรียน นักศึกษา เข้ามาศึกษาธรรมชาติของป่า ให้เห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ป่า คือลมหายใจที่ดีที่สุดในโลก ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ สร้างชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทดลองทั้งการเพาะเนื้อเยื่อของต้นจำปีรัชนี นำไปปักชำ และต่อกิ่ง ซึ่งเป็นไปได้เกินประมาณ 50% น่าจะได้ผล ประมาณ สัปดาห์จะได้คำตอบ ส่วนการเพาะเนื้อเยื่อใช้เวลาประมาณ เดือน หากได้ผลก็จะได้แจกจ่ายกล้าพันธุ์ให้ชาวบ้านนำไปปลูกและดูแลในป่าชุมชนต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1055 วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์